เชียงราย - วัฒนธรรมจังหวัดฯ พร้อมเครือข่าย “จุมนุมเก๊าผญาฯ-สภาวัฒนธรรมเชียงราย” เปิดเวทีเสวนา “777 ปี ชาตกาลพญามังรายมหาราช” ก่อนจัดฉลองใหญ่ตุลาฯ 58 นี้ ชูพระปรีชาสามารถ “พญามังรายฯ” ปฐมกษัตริย์ผู้สร้างอาณาจักรล้านนา ปราชญ์เชิงยุทธศาสตร์ การปกครอง กฎหมาย
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ร่วมกับสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย จุมนุมเก๊าผญาเจียงฮาย ได้จัดการเสวนาเรื่องการจัดงาน “777 ปี ชาตกาลพญามังรายมหาราช” ขึ้นที่โรงแรมโพธิ์วดล อ.เมืองเชียงราย โดยมีนายรัชกฤช สถิรานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิด และนายมงคล สิทธิหล่อ, นายวิรุณ คำภิโล ประธานจุมนุมเก๊าผญาเจียงฮาย นำนักวิชาการอาวุโส ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งศึกษาค้นคว้าเรื่องตำนานและประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพญามังรายมหาราชมาอย่างต่อเนื่องเข้าร่วมเสวนา
โดยบรรยากาศการเสวนาเป็นไปด้วยความคึกคัก มีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับวันเดือนปีที่เกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมาจากหลายแห่ง ทำให้การกำหนดปีเกี่ยวกับพญามังรายแตกต่างกันไป แต่ท้ายที่สุดก็ยกเอาปี 2558 เป็นปีครบ 777 ปี ขณะเดียวกัน บรรดานักวิชาการต่างเล่าถึงตำนานและประวัติที่น่าสนใจอย่างมากมาย
นายมงคลกล่าวว่า พญามังรายมหาราชเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรล้านนาในอดีต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้กำหนดจัดงาน777 ปี ชาตกาลพญามังรายมหาราชขึ้นระหว่างวันที่ 23-24 ต.ค. 58 นี้ ณ ข่วงหลวงพญามังรายมหาราช ติดแม่น้ำกก วัดฝั่งหมิ่น ต.ริมกก อ.เมืองเชียงราย เพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงได้เลือกเอาวันที่ 23 ต.ค. ซึ่งเป็นวันประสูติของพญามังรายมหาราชในการจัดงาน
สำหรับกิจกรรมในงานจะมีทั้งการจัดนิทรรศการประวัติพญามังรายมหาราช การแสดงศิลปวัฒนธรรมบนเวที การเสวนา 777 ปี การสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น การทอดผ้าป่าสามัคคี การเช่าบูชาเหรียญวัตถุมงคลเพื่อสมทบทุนการก่อสร้างพระวิหาร อาคารเฮือนศิลป์ถิ่นล้านนาภายในข่วงหลวงพญามังรายมหาราช ฯลฯ
ด้านอาจารย์บดินทร์ กินาวงศ์ นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิด้านประวัติศาสตร์ล้านนา กล่าวว่า ตามหลักฐานเอกสารโบราณต่างๆ ระบุตรงกันว่า ชื่อของปฐมกษัตริย์พระองค์นี้คือ “พญามังราย” ไม่ใช่พ่อขุนเม็งราย และเมื่อมองในแง่ของภูมิประเทศ และยุทธศาสตร์แล้วถือว่าพญามังรายมหาราชมีพระปรีชาสามารถอย่างมาก
โดยชาวจีนหรือฮั่นสมัยอาณาจักรน่านเจ้าทางตอนใต้ของประเทศจีนกล่าวขานถึงอาณาจักรนี้อย่างต่อเนื่องในปี พ.ศ. 600 ต่อมาช่วงที่พระองค์ยังเป็นอุปราชอาณาจักรหิรัญนครเงินยาง หรือแถบริมแม่น้ำโขง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ในปัจจุบัน ทางอาณาจักรมองโกลได้รุกรานอาณาจักรจีนและลงมาถึงอาณาจักรน่านเจ้า จนถึงตาลีฟู คุนหมิง มณฑลยูนนานของจีนในปี 1801 จนประชิดเมืองเชียงรุ้ง หรือจิ่งหง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับอาณาจักรหิรัญนครเงินยาง ในฐานะที่ดินแดนแถบนี้อยู่กันแบบสหพันธรัฐ
อาจารย์บดินทร์กล่าวว่า จากเหตุการณ์นี้ทำให้พญามังรายมหาราช ซึ่งได้ครองราชอาณาจักรหิรัญนครเงินยางในอีก 1 ปีต่อมา เล็งเห็นถึงอันตรายจากการรุกรานของพวกมองโกล จึงยกทัพไปยังเมืองเชียงตุง ซึ่งอยู่ในพม่า หรือเมียนมาร์ในปัจจุบันในปี 1804 แต่ปรากฏว่าเมืองเชียงรุ้งก็ถูกกองทัพมองโกลเอาชนะได้ในที่สุด ทำให้พญามังรายเดินทางกลับอาณาจักรหิรัญนครเงินยาง และหันมาสร้างเมืองเชียงราย ซึ่งขณะนั้นถือว่าเป็นแคว้นทางตอนใต้ของอาณาจักร เพราะเห็นว่ามีความเหมาะสมในการป้องกันจากการรุกรานจากพวกมองโกล เนื่องจากมีแม่น้ำกก และบึงหนองอยู่มาก รวมทั้งขยายความยิ่งใหญ่จนสามารถตั้งอาณาจักรล้านนา โดยมี จ.เชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางได้ในที่สุด
อาจารย์บดินทร์กล่าวอีกว่า พญามังรายมหาราชยังทรงพระปรีชาสามารถเรื่องการปกครอง โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายมังรายศาสตร์ที่ทันสมัย มีเพียงประมาณ 70 กว่ามาตรา เช่น เจ้าขุนคนใดข่มเหงไพร่ให้ปรับไหม 4 เท่า ซึ่งทำให้อาณาจักรสงบเรียบร้อย มีการรับรองสิทธิสตรี โดยระบุว่า หากผู้หญิงไม่ประสงค์จะแต่งงานกับชายใด สามารถคืนสินสอดและไปอยู่กินกับชายที่ตนต้องการได้ เป็นต้น
ด้านอาจารย์อุดม นันทะไชย นักวิชาการศิลปวัฒนธรรม อ.แม่สาย กล่าวว่า พญามังรายขึ้นครองราชที่อาณาจักรหิรัญนครเงินยางเมื่ออายุได้เพียง 21 ปี แต่มีวิกฤตที่ท้าทาย 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ การรุกรานของอาณาจักรมองโกลทางตอนเหนือ และการเสื่อมอำนาจลงของอาณาจักรหิรัญนครเงินยาง จนทำให้หลายเมืองเกิดการแข็งเมือง หรืออาณาจักรอยู่ในช่วงขาลงนับตั้งแต่ยุคขุนเจืองผู้ยิ่งใหญ่เป็นต้นมา
ดังนั้น การย้ายเมืองจากเชียงแสนไปสร้างเมืองเชียงรายจึงเป็นโจทย์ใหญ่ของพญามังรายมหาราช เป็นการถอยเพื่อตั้งหลักและขยายอำนาจให้พื้นที่ภาคเหนือ หลังจากสร้างเมืองเชียงรายก็ใช้เมืองฝางเป็นศูนย์กลางในการบริหารอาณาจักร โดยมีเมืองเชียงตุงเป็นเมืองหน้าด่านทางภาคเหนือ และเมืองเชียงของ หรือผาแดง เป็นเมืองค้าขาย ส่งผลให้เมืองอื่นๆ เช่น เมืองเทิง เมืองลอง ฯลฯ เกรงกลัวในพระบารมี กลับเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองดังเดิม จากนั้นจึงขยายไปยังเมืองเชียงใหม่ และลำพูน จนสถาปนาอาณาจักรล้านนาในที่สุด