xs
xsm
sm
md
lg

ผลลัพธ์แนวคิด ดร.ป๋วย ต้นแบบ CSR สู่ความยั่งยืน / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชนินท์ ว่องกุศลกิจ เมื่อวันได้พบศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์
ปรากฏการณ์ช่วงนี้เราจะเริ่มเห็นการดำเนินคดีกับคนที่เกี่ยวข้องกับความฉ้อฉล เช่น การบุกรุกป่าสงวน อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ก็ทยอยแสดงผลกรรมให้เห็นตัวผู้กระทำผิดในหลายวงการ ทั้งที่เป็นนักการเมือง ข้าราชการ และธุรกิจเอกชน
อาจนับเป็นผลดีของการใช้อำนาจจัดการกับความไม่ดีประเภทหนึ่งในช่วงหลังการรัฐประหาร หากผู้นำมีเจตนาดีและกล้าสะสาง หรือหยุดวงจรอุบาทว์ และสร้างกติกาสังคมที่มีความถูกต้องเป็นธรรม โดยยึดผลประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ
ความจริงก็ยังมีประเด็นเลวร้ายอีกหลายเรื่องที่ผู้บริหารในระดับต่างๆของประเทศ ต้องมุ่งมั่นและตั้งใจจริงในการปฏิรูปเพื่อสร้าง “ประโยชน์และสุข” แก่ผู้เกี่ยวข้องในสังคม ขณะที่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นกติกาสูงสุด กำลังอยู่ระหว่างเจียรนัยให้ดี
ความผิดพลาด เสียหายทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ทุกยุคที่ผ่านมาล้วนเป็นบทเรียนยืนยันว่า สาเหตุมาจาก “คน” ผู้มีอำนาจหน้าที่ขาดคุณสมบัติที่ดี จึงบิดเบือนการใช้อำนาจ หาผลประโยชน์เข้าตัว หรือเอื้อให้มีการฉ้อฉล
ประเทศไทยจึงเหมือนขาดแคลนผู้นำที่ดี เพราะที่แล้วมา ระบบและพลังทางสังคมยังไม่แกร่งพอที่คัดสรรให้ได้คนที่มีคุณภาพและคุณธรรมมามีอำนาจบริหารประเทศได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสั่งสมเป็นวัฒนธรรมทางความคิดและเกิดระบบการเมืองที่ดี
ผู้ที่มีคิดก้าวหน้า อยากเห็นการพัฒนาจึงมักระลึก และอ้างอิงถึง ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อยากได้ผู้นำที่มีคุณลักษณะแบบอาจารย์ป๋วย ที่มีวิสัยทัศน์ มีทั้งความดีและความสามารถ
เพราะจุดยืนและผลงานมากมายที่ได้สร้างคุณูปการให้แก่สังคม และประเทศชาติ จึงเป็นแบบอย่างของผู้ที่ยึดมั่นในความดี ความซื่อตรง คุณธรรม และกล้ายืนหยัดในหลักการที่ถูกต้องมาตลอดอายุขัย
สังคมจึงได้ยกย่องนับถือ เป็นที่กล่าวถึง และอยู่ในความทรงจำ
จากนี้ไปเราจะได้รับรู้ถึงการร่วมเฉลิมฉลองสู่ “100 ปี ชาตกาล ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์” ในวันที่ 9 มีนาคม 2559 ซึ่งสถาบันและองค์กรต่างๆ พากันจัดกิจกรรมถึง 23 รายการ เป็นการร่วมเฉลิมฉลองโอกาสที่ท่านได้รับการเสนอชื่อต่อองค์กรยูเนสโกให้ยกย่องเป็น “บุคคลสำคัญของโลก”
Poster มังกรสลัดเกล็ด
ตัวอย่างเช่น สมาคมเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จะจัดการแสดงละครเพลง “มังกรสลัดเกล็ด” (The Musical) ด้วยแรงบันดาลใจจากอุดมการณ์ มิตรภาพและความรักของอาจารย์ป๋วย รายการนี้จะจัดที่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จำนวน 5 รอบ ระหว่างวันที่ 29-31 พฤษภาคม ศกนี้
ส่วนที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็จะจัดงานสัมนาชุดปาฐกถา 100 ปี ป๋วย รวม 10 ครั้ง โดยเริ่มครั้งแรก ด้วยหัวข้อ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” จากแนวคิดอาจารย์ป๋วย สู่ประสบการณ์ภาคธุรกิจ โดย ชนินท์ ว่องกุศลกิจ ที่ปรึกษาและอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริษัท บมจ. บ้านปู ซึ่งปัจจุบันเป็นนายกสมาคมเศษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
ปาฐกถาดังกล่าวได้เล่าประสบการณ์การบริหารกิจการที่นำ หลักคิดอาจารย์ป๋วยมาเป็นแนวทางในการบริหารภาคธุรกิจ บมจ.บ้านปู ที่น่าสนใจมาก ตัวอย่างส่วนหนึ่งขอนำมาบอกเล่า ดังนี้
คุณธรรม 4 ประการเพื่อสังคมที่พึงปรารถนา
1)หลักสมรรถภาพ ในหมู่คนที่เราจะรับเข้ามาทำงานนั้น เราจะต้องดูความสามารถและความรู้เป็นพื้นฐาน...มีการสอบแข่งขัน
2)หลักความยุติธรรมในสังคม การออกระเบียบที่จะปูนบำเหน็จรางวัลจะต้องเป็นไปโดย เที่ยงธรรม
3)หลักเสรีภาพ ให้อิสรภาพแก่พนักงานพอสมควร...ต้องให้ผู้น้อยแสดงออกได้ด้วย
4)หลักความมีเมตตากรุณา ผู้ใหญ่ต้องมีเมตตาผู้น้อย เพื่อให้มีเยื่อใยต่อกัน เกิดความไว้วางใจกันได้


การยืนหยัดเพื่อความถูกต้อง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทความของอาจารย์ป๋วยที่มีคนกล่าวถึงและค้นในอินเทอร์เน็ตมากที่สุด ก็คือ “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง : จากครรภ์มารดา ถึงเชิงตะกอน” ซึ่งแนวคิดเช่นนี้สมควรอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่สนองตอบการสร้างคุณภาพชีวิตพลเมืองทุกช่วงวัย จึงขอคัดย่อบางส่วนให้เห็น ดังนี้
“เมื่อผมอยู่ในครรภ์แม่ ผมต้องการให้แม่ได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์ และได้รับความเอาใจใส่และบริการอันดีในเรื่องสวัสดิภาพของแม่และเด็ก”
“ผมต้องการไปโรงเรียน...จะได้มีความรู้หากินได้และจะได้รู้คุณธรรมแห่งชีวิต ถ้าผมมีสติปัญญาเรียนสูงๆ ขึ้นไป ก็ให้มีโอกาสเรียนได้ ไม่ว่าพ่อแม่ผมจะรวยหรือจน จะอยู่ในเมืองหรือชนบทแร้นแค้น”
“เรื่องที่เรียกร้องนี้ ผมไม่เรียกร้องเปล่า ผมยินดีเสียภาษีอากรให้ส่วนรวมตามอัตภาพ”
“ในฐานะที่ผมเป็นชาวนาชาวไร่ ผมก็อยากมีที่ดินของผมพอสมควรสำหรับทำมาหากิน มีช่องทางได้กู้ยืมมาขยายงาน มีโอกาสรู้วิธีทำกินแบบใหม่ๆ มีตลาดดีและขายสินค้าได้ราคายุติธรรม”
“เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ๆ บ้าๆ คือ ตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามกลางเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้าหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ”
“เมื่อตายแล้ว ยังมีทรัพย์เหลืออยู่ เก็บไว้ให้เมียผมพอใช้ในชีวิตของเธอ ถ้าลูกยังเล็กอยู่ก็เก็บไว้เลี้ยงให้โต แต่ลูกที่โตแล้วไม่ให้ นอกนั้นรัฐบาลควรเก็บไปหมด จะได้ใช้ประโยชน์ในการบำรุงชีวิตของคนอื่นๆ บ้าง”
น่าชื่นชมที่ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ได้ยืนยันว่าให้เห็นว่า แนวคิดของอาจารย์ป๋วยนั้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นหลักธรรมาภิบาล และการบริหารทรัพยากรบุคคล รวมทั้งการสร้างคุณค่าต่อผู้มีส่วนได้เสียจนประสบความสำเร็จทั้งการประกอบการ และการยอมรับทั้งในประเทศและระดับโลก

ข้อคิด...
จากความเคลื่อนไหวของภาคเอกชนซึ่งทนไม่ได้ที่จะเห็นพิษภัยจากการฉ้อราษฏร์บังหลวง หรือคอรัปชั่น ที่นอกจากจะทำให้ต้นทุนการลงสูงขึ้น เพราะระบบการโกงที่ขยายตัวไปทุกระดับ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ฉุดความสามารถในการแข่งขันของประเทศจึงมีการรวมตัวกันเป็นองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ซึ่งมีเสียงขานรับและเสริมพลังอย่างมาก
ยิ่งมีการพัฒนาต่อยอดเป็นเครือข่ายธุรกิจที่ประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือ CAC โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนจาก 406 บริษัท ในปี 2557 เป็น 600 บริษัทในปี 2558 ถึงขนาดหวังผลเป็นรูปธรรมด้วยการให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับกลุ่มธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง และการประมูลงานกับภาครัฐให้เข้ามาเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition Against Corruption)
แนวคิด และแนวปฏิบัติของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ผมได้สัมผัสตั้งแต่สมัยผมเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ นั้นชัดเจนและมั่นคง ในการคำนึงถึงความซื่อสัตย์สุจริต ความถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้
เรียกว่าท่านคิดและปฏิบัติเป็นปกติมาตั้งแต่ยังไม่เกิดคำว่า ธรรมาภิบาล หรือ Good Governance
ขณะเดียวกันท่านก็บริหารงานด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ประโยชน์ส่วนรวม ก่อนที่จะมีคำว่า CSR หรือ Corporate Social Responsibility
ดังนั้น การที่ผู้บริหารมีจิตสำนึกและแนวปฏิบัติแบบอาจารย์ป๋วย ย่อมจะเกิดภูมิคุ้มกันไม่ให้หลงผิด ประพฤติผิด กิจการย่อมอยู่รอดปลอดภัย เป็นที่นิยมเชื่อถือ และมีความยั่งยืน
สำหรับข้าราชการบางคนที่ติดบ่วงกรรมของการประพฤติมิชอบ เพราะไปรับใช้นักการเมือง จะอ้างว่าถูกบีบบังคับให้ทำ หรือเสนอหน้าไปทำเอง ก็ควรไปอ่านประวัติอาจารย์ป๋วยดูว่าท่านวางตัวอย่างไร จึงมุ่งมั่นทำงานรับใช้ประเทศชาติได้ โดยไม่ยอมรับใช้ผู้นำเผด็จการยุคนั้น อาจารย์ป๋วยจึงกล่าวไว้ให้คิดว่า
“เราท่านมักจะได้ยินเสมอว่า อุดมคติกินกันไม่ได้ คันปากนักอยากจะตอบเสียเหลือเกินว่า ใครเล่าจะบ้าพอที่จะกินอุดมคติ หรือมิฉะนั้นก็มีผู้กล่าวว่า ไอ้ที่คุณคิดจะทำนั่นมันเป็นอุดมคติแต่ปฏิบัติไม่ได้ ต้องตอบว่าสิ่งที่ดีนั้นปฏิบัติได้ยาก ไม่ใช่ปฏิบัติไม่ได้ ต้องพยายามปฏิบัติให้ได้ สิ่งที่เลวนั้นจะปฏิบัติให้ง่ายสักปานใด ก็ดีขึ้นมาไม่ได้”
suwatmgr@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น