xs
xsm
sm
md
lg

“หม่อมอุ๋ย” ชู กปปส.พลังประชาชนสู้คนทุจริต แนะหาวิธีปกป้องคนแฉโกง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ ปาฐกถาปณิธาน ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ชูแบบอย่างต้านโกงในวงราชการ กล้าแสดงตนจนได้ศรัทธา โวม็อบ กปปส.ข้อพิสูจน์พลังประชาชนลุกสู้คนทุจริต แนะหาวิธีปกป้องคนส่งข้อมูลแฉ ด้าน ป.ป.ช.ยันยึดหลักอาจารย์มาปรับใช้ในงาน รับแม่น้ำกี่สายก็ช่วยไม่ได้ถ้าคนไทยไม่ร่วมกัน ชี้งบรั่วไหลทำให้ไม่เท่าเทียม ผู้มีอำนาจต้องใช้เพื่อประชาชนเป็นหลัก

วันนี้ (9 มี.ค.) ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ได้ปาฐกถาในหัวข้อ “ปณิธานของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และแนวทางต่อต้านคอร์รัปชันของภาคพลเมือง” ในงานประชุมวิชาการนานาชาติเรื่อง “วิกฤตคอร์รัปชันไทยกับการต่อสู้ภาคพลเมือง” เนื่องในงานรำลึก 100 ปี ชาตกาล อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า อาจารย์ป๋วยเป็นบุคคลที่มีความมุ่งมั่นและทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นในวงราชการ โดยสมัยของอาจารย์ป๋วยมีข้าราชการที่ต่อต้านการทุจริตตั้งแต่วงใน เพราะได้เห็นความเคลื่อนไหวมาโดยตลอด จึงสามารถเอาผิดคนได้ ดังนั้นจึงไม่ปรากฏว่าพลเมืองไม่ได้มีบทบาทในการต่อต้านการทุจริตมากในปัจจุบัน อาจารย์ป๋วยมีความโดดเด่นกว่าคนอื่นๆ ในการต่อต้านคอร์รัปชัน คือ ความกล้าที่จะออกมาแสดงตัวต่อต้านการทุจริต แม้ว่าจะมีเรื่องที่จะเกี่ยวพันกับผู้มีอำนาจก็ตาม ทำให้ข้าราชการมีความศรัทธาจนกล้าที่จะร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตฯ โดยอาจารย์ป๋วยเคยกล่าวว่า “คนเราหากไม่พะวงรักษาเก้าอี้แล้ว มักจะตัดสินใจถูกต้อง”

“ดังนั้น ถ้าข้าราชการไม่ทำสิ่งที่ไม่ดีแล้วก็จะลดปัญหาการทุจริตไม่มากก็น้อย แต่ในปัจจุบันนักการเมืองได้สร้างแรงกดดันข้าราชการมากขึ้น โดยเฉพาะการข่มขู่ การโยกย้ายเอาพรรคพวกมาดำรงตำแหน่ง สร้างอาณาจักรแห่งความกลัว เป็นต้น ทำให้พลังในการต่อต้านการทุจริตอ่อนแอลง ทำให้นักการเมืองได้ใจกระทำการโกงอย่างอุกอาจไม่ละอายสายตาชาวบ้าน เพราะฉะนั้น การชุมนุมประท้วงในช่วงปลายปี 2556 ถึง กลางปี 2557 เป็นข้อพิสูจน์ว่าพลังประชาชนจะลุกขึ้นทำหน้าที่ต่อต้านการทุจริตแทนข้าราชการ ผมเห็นว่าหากนักการเมืองมีการโกงอย่างโจ่งแจ้ง ประชาชนก็จะออกมาต่อต้านอีก” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวต่อว่า ถึงแม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะมีบทบัญญัติในการปราบปรามการทุจริต แต่นักการเมืองในปัจจุบันก็จะหาทางทุจริตแบบมิดชิดมากขึ้น ดังนั้น การต่อต้านในภาคพลเมืองควรต้องปรับตัวเพื่อรับมือในการต่อต้านทุจริต เช่น มีกระบวนการติดตามข้อมูลให้ประชาชนสืบหาข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างอย่างโปร่งใส แต่คงจะไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมของคนโกง ดังนั้น ความร่วมมือจากข้าราชการผู้ส่งข้อมูลจะหยุดยั้งกระบวนการทุจริตได้ แต่ต้องทำให้คนที่ส่งข้อมูลมีความปลอดภัยด้วย โดยตนได้เคยเขียนทักท้วงว่านโยบายจำนำข้าวมีความเสียหายอย่างไร โดยตนได้ข้อมูลจากข้าราชการผู้รักชาติ ซึ่งตนได้ทำทุกอย่างเพื่อแสดงว่าหากให้ข้อมูลแก่ตนแล้วพวกเขาจะไม่เดือดร้อน ดังนั้น ควรมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองให้ผู้ส่งข้อมูลการทุจริตได้โดยที่ไม่มีผู้ใดล่วงรู้ และในการสืบพยานในคดีทุจริตควรจะมีการอ้างอิงพยานเอกสารแทนพยานบุคคล ซึ่งเป็นข้อเสนอของตนในการต่อต้านทุจริต โดยหากทำได้ก็จะเกิดผลอย่างยิ่งในการต่อต้านการทุจริตด้วย

ด้านนายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวบรรยายในหัวข้อ “วิสัยทัศน์และทิศทางการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน” ว่า ตนยึดหลักการทำงานของอาจารย์ป๋วย คือ มนุษย์ควรมี 3 สิ่ง คือ ความดี ความงาม ความถูกต้อง ตนได้ปรับมาใช้ทำงานในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต คือ ดีที่สุดในการทำหน้าที่ มีความงดงามทางจิตใจ โดยอาศัยหลักเหตุผล และสุดท้ายต้องมีความถูกต้อง เที่ยงตรง เป็นธรรม เพราะความยุติธรรมเท่านั้น จะดลบันดาลให้ทุกอย่างเจริญก้าวหน้า ส่วนปัญหาการทุจริตในปัจจุบันมีความร้ายแรงกว่าที่คิด ร้ายแรงเกินกว่าที่ สนช. สปช. และแม่น้ำไม่ว่าจะกี่สาย ไม่สามารถแก้ไขได้หากคนไทยไม่ผนึกกำลังในการโค่นล้มการทุจริตอย่างจริงจังและจริงใจ คือ ผลประโยชน์ส่วนตนจะไม่มีความเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

นายวิชากล่าวต่อว่า เกือบ 9 ปี ที่ตนอยู่ตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.นั้น คดีที่เข้าสู่ ป.ป.ช.เป็นคดีที่ทำให้เห็นผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะมีการรั่วไหลจากงบประมาณซึ่งเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม เพราะเงินจะกองอยู่ที่คนมีอำนาจวาสนาเพียงไม่กี่รายเท่านั้น ดังนั้น หากจะต้องการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันจะต้องเดินตามแนวทางที่สหประชาชาติได้วางเอาไว้ คืออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต โดยจะต้องเริ่มต้นจากการแก้ไขปัญหาจากการใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้องของผู้มีอำนาจ เพื่อให้ผู้มีอำนาจเริ่มต้นใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก และยึดหลักธรรมาภิบาล อีกทั้ง ประชาชนต้องสร้างเครือข่ายที่แท้จริง โดยเฉพาะในชุมชนเพื่อการแก้ไขปัญหา หากในชุมชนสามารถรวมพลังได้ก็จะมีความสำเร็จในการปราบปรามการทุจริต เพราะถึงแม้ตัวเราจะจากไปแต่พลังของชุมชนก็ยังคงอยู่


กำลังโหลดความคิดเห็น