xs
xsm
sm
md
lg

สนช.รับหลักการกฎหมายป.ป.ช. ยึดทรัพย์พวกรับสินบน-คดีไม่หมดอายุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วานนี้ (19ก.พ.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่..) พศ... ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวพิจารณา ก่อนให้ที่ประชุมรับหลักการได้พิจารณาแล้วเสร็จ โดย พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานกรรมาธิการวิสามัญ รายงานผลการศึกษา ว่า กรรมาธิการได้พิจารณาหลักการและเหตุผลของ ร่าง พ.ร.บ โดยแยกสาระสำคัญออกเป็น 3 ส่วน คือ
1. การอนุวัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ค.ศ. 2003 หรือ UNCAC ซึ่งการมีกฎหมายภายใน เพื่อรองรับพันธกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องจำเป็น แต่การออกกฎหมายเพื่อรองรับพันธกรณีดังกล่าวบางส่วน มีความซ้ำซ้อน หรือมีผลกระทบต่อกฎหมายอื่น ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน
2. ส่วนที่ว่าด้วยการเชื่อมอำนาจหน้าที่ และประสิทธิภาพในการทำงานของป.ป.ช. ส่วนนี้ควรเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างการยกร่าง หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมเพียงเท่าที่เป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนก่อน ทั้งนี้ในส่วนที่กำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของป.ป.ช. เนื้อหาของ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวบางส่วนก่อให้เกิดผลกระทบต่อกฎหมายอื่น หน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดจนประชาชนที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก จึงควรรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 3. ส่วนที่แก้ไขคำผิดในกฎหมายเดิม กรรมาธิการมีความเห็นชอบที่จะแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้องใน ร่าง พ.ร.บ.นี้
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวว่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นี้ กมธ.ขอเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาก่อนลงมติใน วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการใน 2 แนวทาง คือ
1. ให้ป.ป.ช.ทบทวนปรับแก้หลักการและเหตุผลในการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้มีลักษณะหลักการอย่างกว้าง เพื่ออนุวัติ ตามอนุสัญญาอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านทุจริต ค.ศ. 2003 (United Nation Convention Against Courruption: UNCAC) รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ และประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินงานของป.ป.ช. ในส่วนจำเป็นเร่งด่วน โดยกรรมการป.ป.ช. ควรทบทวนบทบัญญัติในมาตราต่างๆ ให้สอดคล้องกับหลักการ ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแก้ไขที่เกินหลักการแห่ง ร่าง พ.ร.บ.
2. ทบทวนร่าง พ.ร.บ.แล้วเสนอต่อสนช.อีกครั้ง ซึ่งอาจแยกออกเป็น 2 ฉบับ แยกสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ดังนี้ 1. ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับที่... พ.ศ...ในส่วนที่อนุวัติการตาม UNCAC 2. ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับที่... พ.ศ...ในส่วนที่เป็นการเพิ่มอำนาจหน้าที่และประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของป.ป.ช. ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน รวมทั้งในส่วนที่การแก้ไขคำผิดในกฎหมายเดิม
จากนั้น นายสุรชัย ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. ได้ทำหนังสือขอถอน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งการอนุญาตให้ถอนร่างกฎหมายใดๆนั้น ต้องเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสนช. ข้อที่ 46 โดยที่ประชุมต้องยินยอม ซึ่งที่ประชุม สนช. ได้มีมติให้ป.ป.ช.ถอนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวออกไป
ต่อมาเป็นการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่…)พ.ศ ... โดยนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า การแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ เพื่อนุวัติการตามอนุสัญญา UNCAC ทั้ง 9 ประเด็น และแก้ไขคำผิด 1 ประเด็น อาทิ การแก้ไขจะแก้ไขเกี่ยวกับบทนิยามคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลต่างประเทศ”และ “เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ”เพิ่มอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป.ป.ช. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศรับสินบน รวมถึงเอกชนที่เกี่ยวข้องให้ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนการกระทำความผิดที่อยู่ในอำนาจการไต่วนของป.ป.ช. ซึ่งกระทำลงนอกราชอาณาจักร
นอกจากนี้ยัง เพิ่มเติมกรณี คู่กระทำความผิดหลบหนี มิให้นับระยะเวลาที่จำเลยหลบหนีรวมเป็นของอายุความ และมิให้นำอายุความล่วงเลยการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 98 มาบังคับใช้ กำหนดความผิดในส่วนที่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าที่หน้าที่ของรัฐบาลต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ ผู้รับสินบน และเอกชนผู้ให้สินบน รวมถึงนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง กับการให้สินบน
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้การริบทรัพย์สินบน เนื่องจากการกระทำความผิดตามกฎหมายป.ป.ช. ครอบคลุมถึงทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ที่บุคคลได้มาจากการกระทำความผิด เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สิน และหนี้สินให้ถูกต้อง ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติม นอกจากจะเป็นไปตาม UNCAC แล้วยังสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการปฏิรูปประเทศ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 และยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งในภาครัฐและเอกชน ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า สมาชิกส่วนใหญ่ตั้งข้อสังเกต เรื่องการหมดอายุความ หากผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีคดีไปต่างประเทศ จะดำเนินการอย่างไร และมีมาตรการอะไร ในการป้องกันอุดช่องว่างอย่างไร อาทิ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. อภิปรายว่า ตนสนับสนุนจากการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เพื่อให้สอดคล้องกับ UNCAC แต่ติดใจในเรื่องอายุความในการกระทำความผิด เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้ดี เพราะการที่ ป.ป.ช. ส่งร่างกฎหมายฉบับนี้เข้ามา ในขณะนี้ถือว่าป.ป.ช.เป็นคู่กรณีของ ทั้งอดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีหลายคน จึงดูเหมือนกับเป็นการเช็คบิล หรือไม่ รวมไปถึงเรื่องการกำหนดให้ยึดทรัพย์ หากผู้ถูกกล่าวหา หรือจำเลยหลบหนีคดี โดยมีความเชื่อว่า ทรัพย์สินที่โกงไปนั้น มีความคุ้มค่าที่จะหลบหนีคดี จึงรอระยะเวลาที่จะพ้นโทษ เราจะดำเนินการอย่างไร จึงเห็นว่ามีข้อจำกัดในการหลบหนีคดี จะเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นได้เป็นอย่างดี ดังนั้นเมื่อเราให้สัตยาบัน กับ UNCACแล้ว ในประเทศอื่นๆ กรณีที่ผู้หลบหนีคดีไปประเทศ ที่ไม่มีสนธิสัญญา UNCAC จะมีปัญหานี้หรือไม่
นายปานเทพ ชี้แจงว่า ป.ป.ช.ถือเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตทั้งใน และต่างประเทศ ซึ่งในประเทศคงไม่มีปัญหา เพราะดำเนินการโดยมีกฎหมายรองรับแต่จำเป็นต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้ป.ป.ช.สามารถดำเนินการได้ ส่วนเรื่องอายุความไม่ได้แก้หลักการ แต่แก้ให้ตรงกับพันธกรณี UNCAC ซึ่งเราจะใช้ช่องว่างตรงนี้ให้อายุความเดินไปเรื่อยๆ เมื่อเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว คนที่สุจริตก็จะเข้ามาสู่กระบวนการได้ แต่คนที่ทุจริต ก็จะอาศัยช่องว่างนี้ไม่ได้ ส่วนเรื่องยึดทรัพย์สินมูลค่าจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถือเป็นหลักสากล
" ยืนยันว่ากฎหมายนี้ ทำขึ้นเพื่อให้ป.ป.ช. สามารถทำงานได้ในฐานะที่เราเป็นหน่วยงานเฉพาะ ทำงานด้านนี้ ซึ่งเราได้ประสานการทำงานกับอัยการสูงสุดอยู่แล้ว”
อย่างไรก็ตาม ภายหลังสมาชิกอภิปรายเสร็จสิ้นแล้ว ที่ประชุมมีมติรับหลักการวาระแรก ด้วยคะแนน 172 ต่อ 5 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาจำนวน 21 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น