คดี “ไมค์ทำเนียบแพง” ป.ป.ช. ไร้ข้อสรุป รอชงที่ประชุมใหญ่ชี้ขาดสัปดาห์หน้า คาด สรุปผลเหมือน “คตร.- ป.ป.ท.” ไม่มีคนผิด
วันนี้ (12 ก.พ.) นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแสวงหาข้อเท็จจริง กรณีสำนักนายกรัฐมนตรี จัดซื้อไมโครโฟน ติดตั้งห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า เบื้องต้นที่ให้เจ้าหน้าที่ไปแสวงหาข้อเท็จจริงมา พบว่ายังมีความเห็นไม่ตรงกันอยู่ ดังนั้น จึงให้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการกลั่นกรองเพื่อสรุปรายงานข้อเท็จจริงได้พิจารณาก่อนในวันที่ 18 ก.พ. นี้ และเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในสัปดาห์ถัดไป
ด้าน นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้แสวงหาข้อเท็จจริงครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว แต่ยังมีความเห็นไม่ตรงกันอยู่ ระหว่างฝ่ายเจ้าหน้าที่และฝ่ายผู้บังคับบัญชา บางฝ่ายมองว่ามีมูล บางฝ่ายมองว่าไม่มีมูล ดังนั้น จึงต้องรอข้อสรุปให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง จึงจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ชี้ขาดว่า มีมูลพอที่จะตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน หรือว่าไม่มีมูลจะได้ตีตกไปได้
รายงานข่าวระบุว่า สาเหตุที่ ป.ป.ช. ตรวจสอบเนื่องจาก นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ได้ร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. กรณีสำนักนายกรัฐมนตรีดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างไมโครโฟนติดตั้งในห้องประชุมคณะรัฐมนตรี มูลค่ากว่า 1.4 แสนบาท ซึ่งน่าจะเป็นการจัดซื้อที่แพงเกินจริง
“มายื่นร้องเรียนตั้งแต่เดือนกันยายน 2557 แต่ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขเวลา จนล่าสุดเดือน ก.พ. 2558 ก็ตรวจสอบเสร็จโดยใช้เวลากว่า 6 เดือน”
แม้ก่อนหน้า ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่าจะมีการไต่สวนภายใน 3 เดือน
นอกจาก ป.ป.ช. จะตรวจสอบแล้ว คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ยังได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนในกรณีนี้เช่นกัน โดย พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ผู้ทางคุณวุฒิกองทัพบก ในฐานะประธานคตร. แถลงผ่านสื่อว่า ได้มีการสรุปผลการตรวจสอบในเรื่องนี้แล้ว พบว่าไม่ถึงขั้นทุจริต เพียงแค่ยอดวงเงินไม่สูงมากนัก แต่ส่วนต่างเยอะมาก ทำให้มองดูไม่ดี และให้ผู้รับผิดชอบเร่งดำเนินการจัดซื้อใหม่อีกครั้ง
ขณะที่ นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เผยว่า ผลการตรวจสอบไม่ปรากฏหลักฐานว่า ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าไปเกี่ยวข้องในขั้นตอนของการโอนเงินค่าวัสดุอุปกรณ์ และไม่เกี่ยวข้องกับโครงการซ่อมแซมห้องประชุม โดย ม.ล.ปนัดดา รับผิดชอบเพียงการจัดการทั่วไปเท่านั้น
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์การจัดซื้อที่เป็นประเด็นร้องเรียนคืออยากได้ของเร็ว ของดี แต่มีเวลาในการซ่อมแซม และจัดซื้อไม่ถึง 1 เดือน จึงไม่สามารถจัดซื้อด้วยวิธีปกติ ทำให้มีการขอยกเว้นดำเนินการตามระเบียบ แต่เมื่อมีข้อท้วงติงถึงความเหมาะสม จึงมีการยกเลิกโครงการทันที ทำให้ยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น