xs
xsm
sm
md
lg

5 อดีต รมต.เพื่อไทย ฟ้อง 5 กรรมการ ป.ป.ช. ผิดตามมาตรา 145, 157 กรณี “ภักดี โพธิศิริ” ขาดคุณสมบัติ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


“เรืองไกร” รับมอบอำนาจ 5 อดีต รมต.เพื่อไทย ฟ้อง 5 กรรมการ ป.ป.ช.ผิดตามมาตรา 145, 157 กรณี “ภักดี โพธิศิริ” ขาดคุณสมบัติ แต่ร่วมตั้งข้อกล่าวหาคนของพรรค



เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (20 ม.ค.) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้รับมอบอำนาจจากนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล นายปลอดประสพ สุรัสวดี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต และน.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นจำเลยรวม 5 คน คือ นายภักดี โพธิศิริ, นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ, นายประสาท พงษ์ศิวาภัย, นายวิชา มหาคุณ และนายวิชัย วิวิตเสรี ในความผิดฐานแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน โดยตนเองมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83

โดยคำฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า เนื่องจากโจทก์ทั้ง 5 คนถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติตั้งข้อกล่าวหา และแจ้งเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบแล้ว แต่โจทก์มาพบความจริงว่านายภักดี โพธิศิริ ขาดคุณสมบัติ เนื่องจากไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการในบริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด ภายใน 15 วันนับจากวันที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการป.ป.ช. เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2549 ซึ่งนายภักดีจะต้องลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทดังกล่าวภายในวันที่ 6 ต.ค. 2549

แต่โจทก์มาพบความจริงเป็นเอกสารที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่า นายภักดี พ้นจากการเป็นกรรมการในบริษัท ด้วยการยื่นใบลาออกเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2549 ซึ่งในขณะที่นายภักดีได้รับการแต่งตั้งนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1153/1 มีผลใช้บังคับแล้ว โดยบัญญัติว่ากรรมการที่จะลาออกต้องส่งหนังสือลาออกต่อบริษัท

และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 11 บังคับไว้ว่า ถ้าผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้ดำเนินการลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ ป.ป.ช.มาตั้งแต่แรก

ดังนั้น เมื่อโจทก์พบความจริงดังกล่าวแล้วก็ได้ยื่นหนังสือต่อประธานกรรมการ ป.ป.ช. ให้ทำการตรวจสอบคุณสมบัติของนายภักดี แต่ทางสำนักงาน ป.ป.ช.อ้างและแถลงต่อสื่อมวลชนว่าไม่มีอำนาจพิจารณาคุณสมบัติของกรรมการด้วยกันเอง และอ้างว่าวุฒิสภาเคยพิจารณา และมีมติเรื่องการขาดคุณสมบัติของนายภักดีไปแล้ว ทั้งที่วุฒิสภาไม่เคยพิจารณาข้อเท็จจริงในกรณีบริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด มาก่อนแต่อย่างใด กรณีที่วุฒิสภาเคยพิจารณานั้น เป็นข้อเท็จจริงของอีกบริษัทหนึ่งที่ชื่อว่า บริษัท ไทยวัฒนาฟาร์มาซูติคัล เด็กซ์โทรส จำกัด

การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ยอมพิจารณาคุณสมบัติของนายภักดี ทำให้โจทก์ต้องตกอยู่ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา จากการกระทำของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่มีนายภักดีเข้าร่วมดำเนินการประชุมและมีมติหลายครั้ง และโจทก์จะถูกฟ้องเป็นความอาญา ทั้งที่องค์ประกอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ชอบ การกระทำหรือการมีมติใดๆของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำให้โจทก์เสียหาย เสียชื่อเสียง จึงจำเป็นต้องนำความไม่ชอบในองค์ประกอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช.มาฟ้องขอความยุติธรรมจากศาล

นายเรืองไกรกล่าวว่า เคยยื่นขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของนายภักดี แต่ทาง ป.ป.ช.บ่ายเบี่ยง อ้างว่าทางวุฒิภาเคยพิจารณาเรื่องนี้แล้ว ทั้งที่ไม่เคยพิจารณาเรื่องนี้เลย เมื่อทางอดีตรัฐมนตรีทั้ง 5 ท่านท้วงติงกลับไปทาง ป.ป.ช.ก็อ้างว่าไม่มีอำนาจพิจารณาคุณสมบัติดังกล่าว

ทั้งนี้ นายเรืองไกรได้ดำเนินการยื่นคำฟ้อง เบื้องต้นศาลรับคำฟ้องไว้พิจารณาเพื่อมีคำสั่งว่าจะนัดไต่สวนมูลฟ้องหรือให้ยกคำฟ้อง


กำลังโหลดความคิดเห็น