xs
xsm
sm
md
lg

ไม่รับฟ้อง 5 อดีต รมว.เพื่อไทยฟ้อง กรรมการ ป.ป.ช.ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทนายความพรรคเพื่อไทย
ศาลอาญาไม่รับฟ้องคดี “ปึ้ง”กับพวก อดีต รมว.เพื่อไทย ฟ้องกรรมการ ป.ป.ช.5 คน ขาดคุณสมบัติ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ชี้จำเลยฟ้องผิดศาลให้ไปฟ้องศาลฎีกาฯ นักการเมือง

ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 13.30 น.วันนี้ (27 ม.ค.) ศาลได้มีคำสั่งคดีดำ อ.179/2558 ที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว. และสมาชิกพรรคเพื่อไทย รับมอบอำนาจจากนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีต รมว.วิทยาศาสตร์ฯ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีต รมว.กลาโหม และ รมว.คมนาคม พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต อดีต รมช.คมนาคม และน.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีต รมว.เทคโนโลยีฯ สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และกรรมการ ป.ป.ช.อีก 4 คน ประกอบด้วย นายภักดี โพธิศิริ, นายประสาท พงษ์ศิวาภัย, นายวิชา มหาคุณ และนายวิชัย วิวิตเสวี เป็นจำเลยรวม 5 คน ในความผิดฐานแสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน กระทำการเป็นเจ้าพนักงาน โดยตนเองมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83

คำฟ้องระบุว่า เนื่องจากโจทก์ทั้ง 5 คนถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งจำเลยทั้ง 5 คน ร่วมพิจารณาด้วย โดยมีมติตั้งข้อกล่าวหาว่า พวกโจทก์ปฏิบัติหน้าที่มิชอบเกี่ยวกับการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และอนุมัติโครงการจัดสรรน้ำ 2 ล้านล้านบาท ในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.กฎหมาย ให้กระทรวงการคลังกู้เงินการพัฒนาประเทศ ทั้งๆ ที่รู้ว่าผิดกฎหมาย และแจ้งเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบแล้ว แต่โจทก์มาพบความจริงภายหลังว่า นายภักดี โพธิศิริ ขาดคุณสมบัติเนื่องจากไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการในบริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด ภายใน 15 วันนับจากวันที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2549 ซึ่งนายภักดีจะต้องลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทดังกล่าว ภายในวันที่ 6  ต.ค. 2549 แต่โจทก์มาพบความจริงเป็นเอกสารที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่า นายภักดี พ้นจากการเป็นกรรมการในบริษัทดังกล่าวด้วยการยื่นใบลาออก เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2549  โจทก์จึงยื่นหนังสือต่อประธานกรรมการ ป.ป.ช.ให้ทำการตรวจสอบคุณสมบัติของนายภักดีดังกล่าว แต่ทางสำนักงาน ป.ป.ช.อ้างและแถลงต่อสื่อมวลชนว่า ไม่มีอำนาจพิจารณาคุณสมบัติของกรรมการด้วยกันเองและอ้างว่าวุฒิสภาเคยพิจารณาและมีมติเรื่องการขาดคุณสมบัติของนายภักดีไปแล้ว ทั้งที่วุฒิสภาไม่เคยพิจารณาข้อเท็จจริงกรณีบริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัดมาก่อนแต่อย่างใด 

การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ยอมพิจารณาคุณสมบัติของนายภักดี ทำให้โจทก์ต้องตกอยู่ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา ที่มีนายภักดีเข้าร่วมดำเนินการประชุมและมีมติหลายครั้ง และโจทก์จะถูกฟ้องเป็นความอาญา การกระทำหรือการมีมติใดๆ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำให้โจทก์เสียหาย เสียชื่อเสียง  จึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลออกหมายเรียกจำเลยมาแก้ต่างคดี และพิพากษาลงโทษตามความผิดด้วย

อย่างไรก็ตาม ศาลพิเคราะห์คำฟ้องโดยละเอียดแล้วเห็นว่า  จำเลยทั้งห้าได้รับแต่งตั้งเป็น กรรมการ ป.ป.ช.  ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมะพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค. )     ลงวันที่ 22 ก.ย. 2549 โดยไม่ปรากฏจากคำฟ้องว่า ได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องการขาดคุณสมบัติ และเพิกถอนการเป็นกรรมการ ป.ป.ช.  ของนายภักดี  โดยองค์กรที่มีอำนาจ  ดังนั้นนายภักดีจึงยังคงมีสถานะเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ตามประกาศดังกล่าว  สามารถเข้าร่วมประชุม และปฏิบัติหน้าที่กรรมการ ป.ป.ช.ได้

ส่วนที่โจทก์ฟ้องนายปานเทพ กับกรรมการ ป.ป.ช. อีก 3 คนที่เหลือ ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ที่รู้เห็น ยินยอม และเป็นใจให้นายภักดี แสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน และกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ช.นั้น เมื่อคำฟ้องของพวกโจทก์ กล่าวหาว่า พวกจำเลย กระทำผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่กรรมการ ป.ป.ช.  ดังนั้นการฟ้องพวกโจทก์ จึงต้องดำเนินการตาม มาตรา 17  พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542    และตามมาตรา 9 (3)  มาตรา 36 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542   โดยให้ยื่นคำร้องขอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้ประธานวุฒิสภา ส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  ด้วยเหตุผลดังกล่าว คำฟ้องของโจทก์ทั้งห้า  ในส่วนของนายภักดี จึงไม่มีมูล และศาลอาญาไม่มีอำนาจพิจารณาคดีที่โจทก์ทั้งห้า ฟ้องกรรมการ ป.ป.ช.ดังกล่าว จึงให้ยกคำฟ้อง

                                                                                                     
กำลังโหลดความคิดเห็น