xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.หนุนศาลฟันโกง แนวคิด"ป๋า"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองค์มนตรีและรัฐบุรุษ แนะให้มีการตั้งศาลฉ้อราษฎร์บังหลวง เพื่อนำคดีทุจริตคอร์รัปชันไปพิจารณา เพื่อให้รวดเร็วยิ่งขึ้นว่า แนวคิดดังกล่าว เป็นเรื่องที่ดี เพราะปัจจุบันก็มีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่แล้ว ส่วนคดีทุจริตประพฤติมิชอบ ก็น่าจะมีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาเจ้าหน้าที่รัฐ ขึ้นมา โดยมีลักษณะเป็นศาลเดี่ยว พิจารณาคดีทุจริตโดยตรง จะได้ทำคดีได้รวดเร็วขึ้น
นายปานเทพ กล่าวว่า ขณะนี้หากข้าราชการทั่วไปกระทำผิดอาญา ต้องถูกนำสำนวนคดีส่งศาลตามขั้นตอน ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ซึ่งปกติก็มีคดีอื่นๆ ให้พิจารณาอยู่แล้วจำนวนมาก หากมีศาลที่พิจารณาคดีทุจริตคอร์รัปชันขึ้นมาเป็นการเฉพาะ ก็จะดี ช่วยลดขั้นตอน พิจารณาคดีได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะจะเป็นศาลในลักษณะชำนาญการพิเศษ เหมือนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีอยู่ปัจจุบัน และยังสอดรับกับที่ นายบวรศักดิ์ อุ วรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แนะให้มีศาลแผนกคดีวินัยการคลัง และการงบประมาณขึ้นมาด้วย
อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญ คือกระบวนการ ขั้นตอนพิจารณาคดีก่อนถึงศาล จะต้องพิจารณาให้รวดเร็ว อย่างป.ป.ช. ก็ต้องทำงานเร็ว รับเฉพาะคดีใหญ่ๆ มีความเสียหายต่องบประมาณจำนวนมากๆ จะทำให้การปราบปรามทำได้รวดเร็ว คนมีความเกรงกลัว ไม่กล้าทุจริต ส่วนคดีเล็ก มีความเสียหายน้อยลงมา ก็ส่งไปให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ กระทรวงยุติธรรม (ป.ป.ท.) ได้แบงเบาไปดำเนินการ แต่ขั้นตอนการทำงานของป.ป.ช.เอง จะต้องได้รับการปรับปรุงให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้นด้วย
**เตรียมชงสนช.ถอดถอน 269 ส.ส.

นายปานเทพ กล่าวด้วยว่า คณะทำงานในคดีถอดถอนอดีต ส.ส. 269 ราย จากกรณีแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว.ไม่ชอบ ได้รวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานครบถ้วนแล้ว โดยจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มความผิด ซึ่งคาดว่า คณะทำงานจะสามารถสรุปคดีเข้าที่ประชุมกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาได้ภายในกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ หลังจากนั้น จึงจะส่งเรื่องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติดำเนินการต่อไปทั้ง 3 กลุ่มความผิด
ส่วนกรณีการดำเนินคดีอาญาต่อ ส.ส.ที่เสียบบัตรแทนกันนั้น คาดว่าจะสรุปเข้าที่ประชุม ป.ป.ช.ในช่วงเดียวกันเพื่อให้ ป.ป.ช.พิจารณาแจ้งข้อกล่าวหาต่อไปทั้งนี้ในกรณีดังกล่าวจะมี ส.ส.ที่ถูกดำเนินการทั้งในส่วนของการถอดถอนและดำเนินคดีอาญาด้วย
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับกรณีนี้ ป.ป.ช. อาจเอาผิดได้ไม่มาก เพราะไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัด จึงเอาผิดได้แค่บุคคลที่เชื่อว่ามีพฤติกรรมเสียบบัตรแทนกันที่ปรากฏในคลิปวิดีโอเท่านั้น แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่านำบัตรของใครไปเสียบบ้าง เพราะระบบของรัฐสภายังไม่เอื้ออำนวยเรื่องนี้
ส่วนกรณีที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติแล้วว่า ไม่ถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา กรณีเดียวกันนี้ ทำให้การไต่สวนคดีอาญานายสมศักดิ์เป็นสำนวนและความผิดเดียวกันกับคดีถอดถอนเนื่องจากมีพฤติการณ์แค่ส่อว่าเท่านั้น แม้ว่าฝ่าย ป.ป.ช.จะมีพยานหลักฐาน แต่ สนช.ก็เชื่อว่าทำไปโดยปกติ ดังนั้นก็คงไม่สามารถดำเนินคดีนี้ในส่วนของอาญาได้
กำลังโหลดความคิดเห็น