มติ สนช. อนุญาตถอนร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพิ่มอำนาจ ป.ป.ช. ออกไปแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้อง รธน. ฉบับใหม่ พร้อมรับหลักการ กม. ป.ป.ช. ที่สอดคล้อง UNCAC ให้อำนาจไต่สวนคดีรับสินบน ยึดทรัพย์เหี้ยนทั้งดอกผล ตามตัวมาดำเนินคดีได้ทั้งใน - นอกราชอาณาจักร ไม่นับอายุความหากหลบหนีคดี “หมอเจตน์” หวั่นครหาหวังจัดการคู่กรณี ด้าน “ปานเทพ” อ้างเป็นไปตามพันธกรณี UNCAC
วันนี้ (19 ก.พ.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 13.50 น. การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่..) พ.ศ... ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวพิจารณาก่อนให้ที่ประชุมรับหลักการได้พิจารณาแล้วเสร็จ
โดย พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานกรรมาธิการวิสามัญ รายงานผลการศึกษาว่า กรรมาธิการได้พิจารณาหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ โดยแยกสาระสำคัญออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. การอนุวัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ค.ศ. 2003 หรือ UNCAC ซึ่งการมีกฎหมายภายในเพื่อรองรับพันธกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องจำเป็น แต่การออกกฎหมายเพื่อรองรับพันธกรณีดังกล่าวบางส่วนมีซ้ำซ้อน หรือมีผลกระทบต่อกฎหมายอื่น ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน 2. ส่วนที่ว่าด้วยการเชื่อมอำนาจหน้าที่และประสิทธิภาพในการทำงานของ ป.ป.ช. ส่วนนี้ควรเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างการยกร่างหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมเพียงเท่าที่เป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนก่อน ทั้งนี้ ในส่วนที่กำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของป.ป.ช. เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวบางส่วนก่อให้เกิดผลกระทบต่อกฎหมายอื่น หน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดจนประชาชนที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก จึงควรรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 3. ส่วนที่แก้ไขคำผิดในกฎหมายเดิม กรรมาธิการมีความเห็นชอบที่จะแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้องในร่าง พ.ร.บ. นี้
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวว่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. นี้ กมธ. ขอเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาก่อนลงมติในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการใน 2 แนวทางคือ 1. ให้ ป.ป.ช. ทบทวนปรับแก้หลักการและเหตุผลในการเสนอร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวให้มีลักษณะหลักการอย่างกว้าง เพื่ออนุวัติตามอนุสัญญาอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านทุจริต ค.ศ. 2003 (United Nation Convention Against Courruption: UNCAC) รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่และประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินงานของ ป.ป.ช. ในส่วนจำเป็นเร่งด่วน โดยกรรมการ ป.ป.ช.ควรทบทวนบทบัญญัติในมาตราต่าง ๆให้สอดคล้องกับหลักการตลอดจนรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแก้ไขที่เกินหลักการแห่งร่าง พ.ร.บ. 2. ทบทวนร่าง พ.ร.บ. แล้วเสนอต่อ สนช. อีกครั้ง ซึ่งอาจแยกออกเป็น 2 ฉบับ แยกสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ดังนี้ 1. ร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับที่ พ.ศ.... ในส่วนที่อนุวัติการตาม UNCAC 2. ร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับที่ พ.ศ.... ในส่วนที่เป็นการเพิ่มอำนาจหน้าที่และประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของ ป.ป.ช. ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน รวมทั้งในส่วนที่การแก้ไขคำผิดในกฎหมายเดิม
จากนั้น นายสุรชัย ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. ได้ทำหนังสือขอถอนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งการอนุญาตให้ถอนร่างกฎหมายใดๆนั้นต้องเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสนช.ข้อที่ 46 โดยที่ประชุมต้องยินยอม ซึ่งที่ประชุม สนช. ได้มีมติให้ ป.ป.ช. ถอนร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวออกไป
ต่อมาเป็นการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่…) พ.ศ .......โดยนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้แจงหลักการและเหตุผล ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้เพื่ออนุวัติการตามอนุสัญญา UNCAC ทั้ง 9 ประเด็น และแก้ไขคำผิด 1 ประเด็น อาทิ การแก้ไขจะแก้ไขเกี่ยวกับบทนิยามคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลต่างประเทศ” และ “เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ” เพิ่มอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศรับสินบน รวมถึงเอกชนที่เกี่ยวข้อง ให้ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนการกระทำความผิดที่อยู่ในอำนาจการไต่วนของ ป.ป.ช. ซึ่งกระทำลงนอกราชอาณาจักร
นอกจากนี้ ยังเพิ่มเติมกรณีคู่กระทำความผิดหลบหนีมิให้นับระยะเวลาที่จำเลยหลบหนี รวมเป็นของอายุความ และมิให้นำอายุความล่วงเลยการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 98 มาบังคับใช้ กำหนดความผิดในส่วนที่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าที่หน้าที่ของรัฐบาลต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศผู้รับสินบน และเอกชนผู้ให้สินบน รวมถึงนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบน นอกจากนี้ ยังกำหนดให้การริบทรัพย์สินบน เนื่องจากการกระทำความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช. ครอบคลุมถึงทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ที่บุคคลได้มาจากการกระทำความผิด เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สิน และหนี้สินให้ถูกต้อง ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมนอกจากจะเป็นไปตาม UNCAC แล้วยังสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 และยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งในภาครัฐและเอกชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกส่วนใหญ่ตั้งข้อสังเกตเรื่องการหมดอายุความหากผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีคดีไปต่างประเทศจะดำเนินการอย่างไร และมีมาตรการอะไรในการป้องกันอุดช่องว่างอย่างไร อาทิ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. อภิปรายว่า ตนสนับสนุนจากการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เพื่อให้สอดคล้องกับ UNCAC แต่ติดใจในเรื่องอายุความในการกระทำความผิด เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้ดี เพราะการที่ ป.ป.ช. ส่งร่างกฎหมายฉบับนี้เข้ามาในขณะนี้ถือว่า ป.ป.ช. เป็นคู่กรณีของทั้งอดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีหลายคน จึงดูเหมือนกับเป็นการเช็กบิลหรือไม่ รวมไปถึงเรื่องการกำหนดให้ยึดทรัพย์ หากผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีคดี โดยมีความเชื่อว่า ทรัพย์สินที่โกงไปนั้นมีความคุ้มค่าที่จะหลบหนีคดี จึงรอระยะเวลาที่จะพ้นโทษเราจะดำเนินการอย่างไร จึงเห็นว่ามีข้อจำกัดในการหลบหนีคดีจะเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นได้เป็นอย่างดี ดังนั้น เมื่อเราให้สัตยาบรรณกับ UNCAC แล้วในประเทศอื่นๆ กรณีที่ผู้หลบหนีคดีไปประเทศที่ไม่มีสนธิสัญญา UNCAC จะมีปัญหานี้หรือไม่
ด้าน นายปานเทพ ชี้แจงว่า ป.ป.ช. ถือเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งในประเทศคงไม่มีปัญหาเพราะดำเนินการโดยมีกฎหมายรองรับแต่จำเป็นต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้ ป.ป.ช. สามารถดำเนินการได้ ส่วนเรื่องอายุความไม่ได้แก้หลักการ แต่แก้ให้ตรงกับพันธกรณี UNCAC ซึ่งเราจะใช้ช่องว่างตรงนี้ให้อายุความเดินไปเรื่อยๆเมื่อเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว คนที่สุจริตก็จะเข้ามาสู่กระบวนการได้ แต่คนที่ทุจริตก็จะอาศัยช่องว่างนี้ไม่ได้ ส่วนเรื่องยึดทรัพย์สินมูลค่าจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถือเป็นหลักสากล
“ยืนยันว่ากฎหมายนี้ทำขึ้นเพื่อให้ ป.ป.ช. สามารถทำงานได้ในฐานะที่เราเป็นหน่วยงานเฉพาะ ทำงานด้านนี้ ซึ่งเราได้ประสานการทำงานกับอัยการสูงสุดอยู่แล้ว”
อย่างไรก็ตาม ภายหลังสมาชิกอภิปรายเสร็จสิ้นแล้วที่ประชุมมีมติรับหลักการวาระแรกด้วยคะแนน 172 ต่อ 5เสียง งดออกเสียง 10 เสียง และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาจำนวน 21 คน