ศูนย์ข่าวภาคใต้ - ภาคประชาชนเขียนจดหมายเปิดผนึกเสนอทางออกเฉพาะหน้ากรณีความขัดแย้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา ยื่น 3 ข้อเสนอให้รัฐบาลรับไปพิจารณา เพื่อสร้างกระบวนการที่เป็นธรรมให้แก่ทุกฝ่าย
วันนี้ (6 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายภาคประชาชนคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ ได้เขียนจดหมายเปิดผนึก เรื่องทางออกเฉพาะหน้ากรณีความขัดแย้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา โดยระบุว่า
จากการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ผลักดันโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ และโรงไฟฟ้าเทพา จังหวัดสงขลา อย่างเข้มข้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา นำไปสู่การคัดค้านของประชาชนในพื้นที่โครงการทั้งสอง และเสียงทัดทานจากประชาชนทั่วไปจำนวนมาก ทั้งนี้ ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลได้ตอบสนองข้อเรียกร้องของผู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่ายขึ้นเพื่อพิจารณาปัญหาในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังยืนยันที่จะเปิดประมูลงานก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่อย่างแน่นอนในวันที่ 5 สิงหาคม 2558 นี้
ในขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าเทพา ก็ได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น (ค.3) โดยมีการใช้กำลังทหารปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยต่อโครงการ และภาพข่าวที่ปรากฏต่อสาธารณะแสดงให้เห็นว่า ในการจัดเวทีรับฟังความเห็นทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา (เวที ค.1 และ ค.3) มีการใช้วิธีไม่โปร่งใส และขัดต่อหลักธรรมาภิบาลอย่างโจ่งแจ้ง เช่น การแจกสิ่งของเพื่อให้ประชาชนที่สนับสนุนเซ็นชื่อเข้าร่วมเวที ในขณะที่ประชาชนฝ่ายคัดค้านกลับถูกขัดขวางไม่ให้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี
ในความขัดแย้งระหว่างฝ่ายผลักดัน และคัดค้านโครงการทั้งสอง มีข้อมูลสองด้านที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ฝ่ายรัฐ และ กฟผ. อ้างว่า โครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ และเทพามีความจำเป็นต่อความมั่นคงพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของภาคใต้ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ชี้แจงต่อประชาชนว่า ภาคใต้มีการใช้ไฟฟ้า 3,000 เมกะวัตต์ แต่มีโรงไฟฟ้าอยู่ในภาคใต้เพียง 800 เมกะวัตต์เท่านั้น ขณะเดียวกัน ฝ่ายประชาชนผู้คัดค้านโครงการโต้แย้งว่า ภาคใต้มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าอย่างเพียงพอโดยไม่ต้องพึ่งพลังงานถ่านหิน นอกจากนี้ กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของทั้งประเทศก็ยังมีอย่างเหลือเฟือ
ภายใต้ข้อโต้แย้งดังกล่าว เมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่ระบุไว้ในแผน PDP2015 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ผ่านความเห็นชอบไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2558 กลับพบว่า
1.กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศในช่วงปี พ.ศ.2558-2570 จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 25-39% ซึ่งเกินจากระดับมาตรฐาน (15%) ไปสูงมาก ส่วนที่เกินจากมาตรฐานดังกล่าวคิดเป็นกำลังผลิต 2,818-9,455 เมกะวัตต์ ในกรณีที่นำโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ และเทพา (รวม 2,800 เมกะวัตต์) ออกจากแผนฯ กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองในช่วงดังกล่าวก็จะยังคงมีอยู่ในระดับ 18-34% ตัวเลขจากแผน PDP2015 เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า โรงไฟฟ้ากระบี่ 800 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าเทพา 2,000 เมกะวัตต์ ที่จะเริ่มต้นใช้งานในปี พ.ศ.2562 และ 2564 ตามลำดับนั้น อาจไม่ใช่โครงการที่จำเป็นต้องก่อสร้างขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว และสามารถเลื่อนโครงการออกไปได้อย่างน้อย 12 ปี โดยไม่กระทบต่อความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าแต่อย่างใด
2.กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองตามแผน PDP 2015 ที่สูงเกินมาตรฐานไปอย่างมากมายนั้น มีข้อชี้แจงจากกระทรวงพลังงานว่า มีสาเหตุมาจากการปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโต GDP เฉลี่ยจากเดิม 4.41% ลงเหลือ 3.94% ต่อปี และมีการเพิ่มแผนอนุรักษ์พลังงานเป็น 100% จากแผนเดิมที่ใช้เพียง 20% อย่างไรก็ตาม เมื่อนำแผน PDP 2015 มาเปรียบเทียบกับแผนฉบับเดิมคือ แผน PDP 2010 Rev.3 กลับพบว่า แผน PDP 2015 มีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากกว่าแผน PDP 2010 Rev.3 ซึ่งขัดแย้งต่อสมมติฐานในการจัดทำแผนฯ ที่คาดการณ์ว่า การใช้ไฟฟ้าในอนาคตจะลดลง และสะท้อนว่าสาเหตุที่แท้จริงของกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่สูงเกินความจำเป็นไปมากนั้น ก็คือ การเพิ่มโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเข้าไปในแผน PDP 2015 มากเกินไปนั่นเอง
การแต่งตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่ายเพื่อเจรจาปัญหาโรงไฟฟ้ากระบี่ร่วมกันนับเป็นสิ่งที่ดี เพราะสะท้อนถึงความห่วงใยของรัฐบาลที่มีต่อประชาชนที่อดอาหารประท้วง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ 3 ฝ่ายที่ถูกแต่งตั้งขึ้นนี้ ไม่อาจแก้ไขความขัดแย้งกรณีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกหลายโครงการที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยได้ เพราะกรอบอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นเพียงการพิจารณาปัญหาที่ปลายเหตุ คือ มาตรการบรรเทาผลกระทบของโครงการ แต่มิได้พิจารณาต้นตอของปัญหาที่แท้จริง นั่นคือ ภายใต้แผน PDP 2015
โรงไฟฟ้ากระบี่ และเทพามีความจำเป็นต้องก่อสร้างจริงหรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้เกี่ยวข้องต่อผลประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ เพราะหาก กฟผ. เร่งรีบผลักดันโครงการทั้งสอง โดยเฉพาะการเปิดประมูลโรงไฟฟ้ากระบี่ และมีการลงนามสัญญาใดๆ เกิดขึ้น ก็จะเกิด “ภาระผูกพันทางการเงิน” ที่ประชาชนทั้งประเทศต้องแบกรับในระยะยาวทันที นอกจากนี้ การเร่งรีบเปิดประมูลโดยอ้างว่าไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ยังเป็นข้ออ้างที่ไม่สอดคล้องต่อความเป็นจริง และอาจทำให้รัฐต้องแบกรับความเสี่ยงที่จะต้อง “เสียค่าโง่” หากการดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามเงื่อนไขเวลาตามข้อตกลงในสัญญา ซึ่งกรณีเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง
การผลักดันโครงการด้วยกระบวนการที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ มีข้อกังขาถึงความไม่โปร่งใส และไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนในวงกว้างเช่นนี้ ยิ่งจะทำให้ความขัดแย้งในสังคมไทยลุกลามบานปลาย อีกทั้งทางเลือกพลังงานของประเทศในขณะนี้เป็นประเด็นสาธารณะที่มีผลกระทบต่อประชาชนทุกคน โดยเฉพาะมีผลกระทบไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ที่จะต้องแบกรับภาระทางการเงินหากเลือกลงทุนผิดพลาด และแบกรับภาระทางสิ่งแวดล้อม ทั้งจากมลพิษ และภาวะโลกร้อน หากประเทศไทยเลือกที่จะพึ่งพิงพลังงานถ่านหินในอนาคต
ณ จุดเปลี่ยนที่สำคัญของประเทศไทยในขณะนี้ เป็นโอกาสสำคัญที่สังคมไทยจะต้องเปิดกว้างให้มีการพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูล และปรึกษาหารือ เพื่อร่วมกันหาทางเลือกพลังงานที่จะใช้พัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และทางเลือกที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างแท้จริงต่อไป
พวกเรา 42 องค์กร และ 52 บุคคล ที่มีชื่อแนบท้ายจดหมายนี้ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากรณีความขัดแย้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา และการวางแผนพลังงานของประเทศไทย ดังนี้
1.เปิดเวทีสาธารณะเพื่อให้มีการนำเสนอข้อมูลให้รอบด้าน ซึ่งอาจมีมากกว่าเพียงสองด้านที่กล่าวมา ในเรื่องความมั่นคงพลังงานไฟฟ้า ความเหมาะสมของแผน PDP 2015 ภาระทางการเงินของผู้บริโภคในระยะยาว และความจำเป็น และเหมาะสมของพลังงานถ่านหินในประเทศไทย เป็นต้น
2.ชะลอการเปิดประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ จนกว่ารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะแล้วเสร็จ
3.ยกเลิกผลการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น (เวที ค.1 ถึง ค.3) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และให้มีการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนใหม่ตั้งแต่เริ่มต้น ภายใต้กระบวนการที่โปร่งใส และยึดหลักธรรมาภิบาล
รายชื่อแนบท้ายจดหมายเปิดผนึก
องค์กร
1. คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม
2. มูลนิธิโลกสีเขียว
3. มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
4. ชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา
5. โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่
6. กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
7. ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนาร่วมลงชื่อด้วยครับ
8. ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
9. มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)
10. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
11. ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
12. โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA)
13. ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมภูเก็ต
14. กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
15. มูลนิธิบูรณะนิเวศ
16. ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา
17. กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)
18. โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส)
19. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
20. มูลธิพัฒนาภาคเหนือ
21. สหพันธ์เกษตกรภาคเหนือ
22. มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI)
23. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
24. เครือข่ายชาวบ้านอนุรักษ์แก่งละว้า
25. เครือข่ายลุ่มน้ำชีจังหวัดขอนแก่น
26. ศูนย์นักสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน
27. Ma:D Club for Change
28. สภาองค์กรชุมชนตำบลบุ่งคล้า อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ
29. เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน จ.หนองคาย
30. เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.)
31. กลุ่มฮักเชียงคาน
32. สภาองค์กรชุมชน อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ
33. สภาองค์กรชุมชน จ.บึงกาฬ
34. เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มนำ้โขง-ล้านนา
35. เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง
36. สมาคมสถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง
37. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
38. Climate Watch Thailand
39. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกฉะเชิงเทรา
40. กลุ่มเสรีนนทรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
41. กลุ่มทำเป็นทำเกษตร
42. ศูนย์ข้อมูลชุมชน
บุคคล
1. สันติ โชคชัยชำนาญกิจ, กลุ่มจับตาพลังงาน
2. ฝ้ายคำ หาญณรงค์, คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม
3. วิฑุรย์ เพิ่มพงศาเจริญ, เลขาธิการมูลนิธิฟื้นฟูขีวิตและธรรมชาติ
4. สุริชัย หวันแก้ว, ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5. สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์, มหาวทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
6. เดชรัต สุขกำเนิด, คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
7. สฤณี อาชวานันทกุล, นักเขียน นักวิชาการอิสระ
8. กิตติกาญจน์ หาญกุล, สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
9. อ.ดร.อุษาวดี สุตะภักดิ์, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ
10. ปรินทร์ ไชยปัญญา, คณะคณิตศาสตร์ มจธ.
11. อาภา หวังเกียรติ, มหาวิทยาลัยรังสิต
12. ศิริพร ฉายเพชร, มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
13. สุมิตรชัย หัตถสาร, ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
14. วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ, มูลนิธิชีววิถี
15. กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา
16. พรพนา ก๊วยเจริญ, กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน (Land Watch Working Group)
17. ประยงค์ ดอกลำใย
18. กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
19. ศุภกิจ นันทะวรการ, มูลนิธินโยบายสุขภาวะ
20. ศยามล ไกยูรวงศ์
21. อัมรินทร์ สายจันทร์, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
22. มนทนา ดวงประภา, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
23. อชิชญา อ๊อตวงษ์, นักกฎหมายสิ่งแวดล้อม
24. นิชล ผลจันทร์
25. สุภารักษ์ ตระแก้วจิตร์
26. กนกอร สาสอน
27. ไพศาล ดาราษี
28. นิพันธ์ ตระแก้วจิตร์
29. เยาวรัตน์ หนูผาบ
30. ไพรินทร์ เสาะสาย
31. ธรธรร การมั่งมี
32. สุวิทย์ กุหลาบวงษ์
33. สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์
34. สุรินทร์ ปัทมาสศนุพงศ์
35. นภวรรณ งามขำ, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
36. อารีรัตน์ กิตติศิริ
37. โยธิน มาลัย
38. เกียรติศักดิ์ ยั่งยืน
39. รุ่งนภา สุบงกช
40. ชนิดา ประกอบกุล
41. ลิดาพรรณ จันทร์พิมานสุข
42. จักรพงศ์ ธนวรพงศ์
43. รัญญา จันทาบุตร
44. ปรีห์กมล จันทรนิจกร, Ma:D Club for Change
45. ส.รัตนมณี พลกล้า, ทนายความ
46. สมสกุล ศรีเมธีกุล, ทนายความ
47. วีรวัฒน์ อบโอ, ทนายความ
48. เฉลิมศรี ประเสริฐศรี, นักกฎหมาย
49. สุนทร ลิ่มหลัก, นักกฎหมาย
50. กานต์ ตามมี่, นักกฎหมาย
51. ทศพร ประเสริฐศรี
52. สุนี ไชยรส