xs
xsm
sm
md
lg

สางปมขัดแย้งโรงไฟฟ้ากระบี่-เทพา ภาคประชาชนยื่นรัฐทำ3ข้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภาคใต้-ภาคประชาชนเขียนจดหมายเปิดผนึกเสนอทางออกเฉพาะหน้า กรณีความขัดแย้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา ยื่น 3 ข้อเสนอให้รัฐบาลรับไปพิจารณา เพื่อสร้างกระบวนการที่เป็นธรรมให้แก่ทุกฝ่าย เผยขอให้เปิดเวทีสาธารณะเพื่อให้นำเสนอข้อมูลรอบด้าน ชะลอการเปิดประมูลโรงไฟฟ้ากระบี่จนกว่ารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะแล้วเสร็จ และจัดรับฟังความคิดเห็นโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (6 ส.ค.) เครือข่ายภาคประชาชนคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ ได้เขียนจดหมายเปิดผนึก เรื่องทางออกเฉพาะหน้ากรณีความขัดแย้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา โดยระบุว่า จากการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ผลักดันโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ และโรงไฟฟ้าเทพา จ.สงขลา อย่างเข้มข้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา นำไปสู่การคัดค้านของประชาชนในพื้นที่ และเสียงทัดทานจากประชาชนทั่วไปจำนวนมาก

ทั้งนี้ ช่วงปลาย ก.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ตอบสนองข้อเรียกร้องของผู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่ายขึ้นเพื่อพิจารณาปัญหาในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ แต่ขณะเดียวกัน ได้ยืนยันที่จะเปิดประมูลงานก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ในวันที่ 5 ส.ค.2558 ที่ผ่านมา

ในขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าเทพา ก็ได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น (ค.3) โดยมีการใช้กำลังทหารปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยต่อโครงการ และภาพข่าวที่ปรากฏต่อสาธารณะแสดงให้เห็นว่า ในการจัดเวทีรับฟังความเห็นทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา (เวที ค.1 และ ค.3) มีการใช้วิธีไม่โปร่งใส และขัดต่อหลักธรรมาภิบาลอย่างโจ่งแจ้ง เช่น การแจกสิ่งของเพื่อให้ประชาชนที่สนับสนุนเซ็นชื่อเข้าร่วมเวที ในขณะที่ประชาชนฝ่ายคัดค้านกลับถูกขัดขวางไม่ให้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี

ในความขัดแย้งระหว่างฝ่ายผลักดันและคัดค้านโครงการทั้งสอง มีข้อมูลสองด้านที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ฝ่ายรัฐ และ กฟผ.อ้างว่า โครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ และเทพา มีความจำเป็นต่อความมั่นคงพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของภาคใต้ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ชี้แจงต่อประชาชนว่า ภาคใต้มีการใช้ไฟฟ้า 3,000 เมกะวัตต์ แต่มีโรงไฟฟ้าอยู่ในภาคใต้เพียง 800 เมกะวัตต์เท่านั้น ขณะเดียวกัน ฝ่ายประชาชนผู้คัดค้านโครงการโต้แย้งว่า ภาคใต้มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าอย่างเพียงพอ โดยไม่ต้องพึ่งพลังงานถ่านหิน นอกจากนี้ กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของทั้งประเทศก็ยังมีอย่างเหลือเฟือ

ภายใต้ข้อโต้แย้งดังกล่าว เมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่ระบุไว้ในแผน PDP2015 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ผ่านความเห็นชอบไปเมื่อเดือนมิ.ย.2558 กลับพบว่า 1.กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศในช่วงปี 2558-2570 จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 25-39% ซึ่งเกินจากระดับมาตรฐาน (15%) ไปสูงมาก ส่วนที่เกินจากมาตรฐานดังกล่าวคิดเป็นกำลังผลิต 2,818-9,455 เมกะวัตต์ ในกรณีที่นำโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ และเทพา (รวม 2,800 เมกะวัตต์) ออกจากแผน กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองในช่วงดังกล่าวก็จะยังคงมีอยู่ในระดับ 18-34% ตัวเลขจากแผน PDP2015 เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า โรงไฟฟ้ากระบี่ 800 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าเทพา 2,000 เมกะวัตต์ ที่จะเริ่มต้นใช้งานในปี 2562 และ 2564 ตามลำดับนั้น อาจไม่ใช่โครงการที่จำเป็นต้องก่อสร้างขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว และสามารถเลื่อนโครงการออกไปได้อย่างน้อย 12 ปี โดยไม่กระทบต่อความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าแต่อย่างใด

2.กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองตามแผน PDP 2015 ที่สูงเกินมาตรฐานไปอย่างมากมายนั้น มีข้อชี้แจงจากกระทรวงพลังงานว่า มีสาเหตุมาจากการปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโต GDP เฉลี่ยจากเดิม 4.41% ลงเหลือ 3.94% ต่อปี และมีการเพิ่มแผนอนุรักษ์พลังงานเป็น 100% จากแผนเดิมที่ใช้เพียง 20% อย่างไรก็ตาม เมื่อนำแผน PDP 2015 มาเปรียบเทียบกับแผนฉบับเดิม คือ แผน PDP 2010 Rev.3 กลับพบว่าแผน PDP 2015 มีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากกว่าแผน PDP 2010 Rev.3 ซึ่งขัดแย้งต่อสมมติฐานในการจัดทำแผน ที่คาดการณ์ว่าการใช้ไฟฟ้าในอนาคตจะลดลง และสะท้อนว่าสาเหตุที่แท้จริงของกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่สูงเกินความจำเป็นไปมากนั้น ก็คือ การเพิ่มโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเข้าไปในแผน PDP 2015 มากเกินไปนั่นเอง

การแต่งตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย เพื่อเจรจาปัญหาโรงไฟฟ้ากระบี่ร่วมกัน นับเป็นสิ่งที่ดี เพราะสะท้อนถึงความห่วงใยของรัฐบาลที่มีต่อประชาชนที่อดอาหารประท้วง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ 3 ฝ่ายที่ถูกแต่งตั้งขึ้นนี้ ไม่อาจแก้ไขความขัดแย้งกรณีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกหลายโครงการที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยได้ เพราะกรอบอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นเพียงการพิจารณาปัญหาที่ปลายเหตุ คือ มาตรการบรรเทาผลกระทบของโครงการ แต่มิได้พิจารณาต้นตอของปัญหาที่แท้จริง นั่นคือ ภายใต้แผน PDP 2015

โรงไฟฟ้ากระบี่ และเทพา มีความจำเป็นต้องก่อสร้างจริงหรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้เกี่ยวข้องต่อผลประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ เพราะหาก กฟผ. เร่งรีบผลักดันโครงการทั้งสอง โดยเฉพาะการเปิดประมูลโรงไฟฟ้ากระบี่ และมีการลงนามสัญญาใดๆ เกิดขึ้น ก็จะเกิด “ภาระผูกพันทางการเงิน” ที่ประชาชนทั้งประเทศต้องแบกรับในระยะยาวทันที นอกจากนี้ การเร่งรีบเปิดประมูลโดยอ้างว่าไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ยังเป็นข้ออ้างที่ไม่สอดคล้องต่อความเป็นจริง และอาจทำให้รัฐต้องแบกรับความเสี่ยงที่จะต้อง “เสียค่าโง่” หากการดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามเงื่อนไขเวลาตามข้อตกลงในสัญญา ซึ่งกรณีเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง

การผลักดันโครงการด้วยกระบวนการที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ มีข้อกังขาถึงความไม่โปร่งใส และไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนในวงกว้างเช่นนี้ ยิ่งจะทำให้ความขัดแย้งในสังคมไทยลุกลามบานปลาย อีกทั้งทางเลือกพลังงานของประเทศในขณะนี้เป็นประเด็นสาธารณะที่มีผลกระทบต่อประชาชนทุกคน โดยเฉพาะมีผลกระทบไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ที่จะต้องแบกรับภาระทางการเงินหากเลือกลงทุนผิดพลาด และแบกรับภาระทางสิ่งแวดล้อม ทั้งจากมลพิษ และภาวะโลกร้อน หากประเทศไทยเลือกที่จะพึ่งพิงพลังงานถ่านหินในอนาคต

ณ จุดเปลี่ยนที่สำคัญของประเทศไทยในขณะนี้ เป็นโอกาสสำคัญที่สังคมไทยจะต้องเปิดกว้างให้มีการพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูล และปรึกษาหารือ เพื่อร่วมกันหาทางเลือกพลังงานที่จะใช้พัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และทางเลือกที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างแท้จริงต่อไป

พวกเรา 42 องค์กร และ 52 บุคคล ที่มีชื่อแนบท้ายจดหมายนี้ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากรณีความขัดแย้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา และการวางแผนพลังงานของประเทศไทย ดังนี้ 1.เปิดเวทีสาธารณะเพื่อให้มีการนำเสนอข้อมูลให้รอบด้าน ซึ่งอาจมีมากกว่าเพียงสองด้านที่กล่าวมา ในเรื่องความมั่นคงพลังงานไฟฟ้า ความเหมาะสมของแผน PDP 2015 ภาระทางการเงินของผู้บริโภคในระยะยาว และความจำเป็น และเหมาะสมของพลังงานถ่านหินในประเทศไทย เป็นต้น

2.ชะลอการเปิดประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ จนกว่ารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะแล้วเสร็จ

3.ยกเลิกผลการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น (เวที ค.1 ถึง ค.3) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และให้มีการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนใหม่ตั้งแต่เริ่มต้น ภายใต้กระบวนการที่โปร่งใส และยึดหลักธรรมาภิบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น