xs
xsm
sm
md
lg

ศาล ปค.สูงสุดรับฟ้อง 44 ชาวกระบี่กล่าวหา ก.ทรัพย์ไม่ต่ออายุพื้นที่คุ้มครองฯ ทำ กฟผ.รุกทำท่าเทียบเรือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งแก้คำสั่งศาลปกครองชั้นต้น รับฟ้อง 44 ชาวบ้านกระบี่ฟ้องขอให้สั่งกระทรวงทรัพยากรฯ ประกาศต่ออายุพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมกระบี่ ชี้ละเลยกว่า 3 ปี ส่งผล กฟผ.รุกพื้นที่เขตคุ้มครองสร้างท่าเทียบเรืองบ้านคลองรั้ว เพื่อลำเลียงถ่านหินให้โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กระทบชีวิตความเป็นอยู่ชาวบ้าน

ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งแก้คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวกรวม 45 คนซึ่งเป็นประชาชนที่อาศัยและประกอบอาชีพในพื้นที่ ต.ตลิ่งชัน ต.เกาะศรีบอยา ต.ปกาสัย ต.คลองขนาน อ.เหนือคลอง ต.ศาลาด่าน ต.เกาะลันตาใหญ่ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ที่จะเป็นจุดลำเลียงขนถ่ายถ่านหินไปสู่โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จ.กระบี่ ยื่นฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 ขอให้สั่งเพิกถอนโครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว เพิกถอนกระบวนการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และกระบวนการศึกษารายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน (อีเอชไอเอ) และสั่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ปฏิบัติหน้าที่บังคับใช้กฎหมายที่เเกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ และประกาศต่ออายุพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม จ.กระบี่ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง

โดยก่อนหน้านี้ ศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณา เนื่องจากเห็นว่า กฟผ.เพียงแต่กำลังดำเนินการศึกษาเตรียมการเพื่อจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในส่วนโครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ผู้ฟ้องคดีทั้ง 45 จึงยังไม่ถือว่าเป็นผู้เดือดร้อนเสียหายที่มีสิทธิจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้

ส่วนที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งแก้คำสั่งศาลปกครองชั้นต้นระบุ ที่ศาลปกครองชั้นต้นเห็นว่า ใผู้ฟ้องคดีทั้ง 45 คนยังไม่ถือว่าเป็นผู้เดือดร้อนเสียหายในประเด็นที่ขอให้เพิกถอนกระบวนการศึกษารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสุขภาพของประชาชน เพราะกระบวนการดังกล่าวยังเป็นเพียงขั้ตอนการดำเนินการของ กฟผ. เพื่อประกอบการพิจารณาของเจ้าหน้าที่รัฐ อันจะนำไปสู่การจัดให้มีคำสั่งทางปกครองหรือการตัดสินใจดำเนินโครงการของรัฐที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อส่วนได้เสียของประชาชนโดยส่วนรวมในด้านต่างๆ เท่านั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย

แต่ในประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 45 คน ฟ้องว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร กรณีไม่ดำเนินการขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดเเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในท้องที่ อ.อ่าวลึก อ.เมืองกระบี่ อ.เหนือคลอง อ.คลองท่อม อ.เกาลันตา จ.กระบี่ ลงวันที่ 15 มี.ค. 50 และประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดเเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่ จ.กระบี่ 2553 ที่สิ้นสุดการบังคับใช้ไปตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 55 จนเป็นเหตุให้ กฟผ.เข้าทำการสำรวจ ขุดดิน หรือบุกรุกเข้าไปในพื้นที่ที่เคยเป็นเขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว

ทั้งนี้ หากโครงการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการได้ก็จะมีการขนถ่ายถ่านหินผ่านระบบสานพานลำเลียงโรงไฟฟ้าถ่ายหินกระบี่ ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร ผ่านพื้นที่ทำกินของประชาชนที่เป็นผู้ฟ้องคดีซึ่งจะเข้าไปทำลาย กีดขวางเส้นทางหรือพื้นที่การประกอบอาชีพการทำประมงพื้นบ้าน การท่องเที่ยว ตลอดจนผ่านเขตพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ บริเวณเกาะศรีบายา ซึ่งเป็นแหล่งหญ้าทะเล เห็นว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นชาวบ้านที่มีภูมิลำเนา ประกอบอาชีพ และอาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งเดิมได้รับการคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งสองฉบับ จึงย่อมถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียได้รับผลกระทบโดยตรงและมากเป็นพิเศษกว่าบุคคลทั่วไปที่มิได้อาศัยหรือประกอบอาชีพในพื้นที่ดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีที่เป็นชาวบ้านจึงมีสิทธิรวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม และมีส่วนร่วมในการจัดการบำรุงรักษา ส่งเสริม และใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เพื่อให้การดำรงชีอยู่ได้อย่างปกติ และต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ตลอดจนมีสิทธิจะฟ้องหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้ปฏิบัติตามกฎหมาย

ดังนั้น การที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งสองฉบับจึงกระทบสิทธิผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรืออาจเดือดร้อนเสียโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงมีคำสั่งแก้คำสั่งศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำฟ้องของผู้ถูกฟ้องคือสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และพวกที่เป็นชาวบ้านรวม 44 ราย ในสวนที่มีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประกาศต่ออายุพื้นที่ค้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ไว้พิจารณา

ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ 45 คือ นางพนอ อัศวรุจานนท์ ข้าราชการบำนาญ ที่เดิมมีตำแหน่งทางวิชาการเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กรุงเทพฯ ศาลเห็นว่ามิได้อาศัยหรือประกอบอาชีพหรือมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพื้นที่ที่ได้รับการคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อม จึงยังไม่อาจถือเป็นผู้เดือดร้อนเสียหายที่มีสิทธิจะฟ้องคดีต่อศาล
กำลังโหลดความคิดเห็น