ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กระบวนการเรียกคืนค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว กำลังจะเริ่มขึ้นในเร็ววันนี้ หลังจากคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงสรุปยอดค่าเสียหาย เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา
สำหรับคดีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวนั้น แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. คดีทางการเมือง คือ เรื่องการถอดถอนนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องออกจากตำแหน่ง ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูก สนช.ลงมติถอดถอนเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2558 ส่วนนายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ สนช.ลงมติถอดถอนเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2558
ส่วนที่ 2. คดีอาญา ซึ่งอัยการสูงสุดได้ส่งฟ้องผู้เกี่ยวข้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว โดยส่งฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 โดยศาล ฯ มีมติรับฟ้องเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2558 รวมทั้งได้ส่งฟ้องนายภูมิ สาระผล นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ และพวกรวม 21 คน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 และศาลฯ มีมติรับฟ้องเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2558
ส่วนที่ 3. การฟ้องทางแพ่ง เพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับผิดชอบ ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงต่อที่ประชุม สนช.เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2558 ว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ต้องใช้หลักนิติธรรม สร้างความเป็นธรรมให้คู่กรณี ไม่ใช้อารมรณ์ ใช้หลักกฎหมายดำเนินการ โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับความผิดเกี่ยวข้องเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจะต้องเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงเพื่อป้องกันข้อครหา และเสียรูปคดีในอนาคต
นายวิษณุกล่าวว่า โดยในขั้นตอนแรก ได้มีการตั้งกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริง 2 ชุด คือ 1. กรรมการสอบเท็จจริงที่นายกรัฐมนตรีลงนามแต่งตั้งร่วมกับ รมว.คลัง โดยสอบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าว 2. กรรมการสอบข้อเท็จจริงที่นายกรัฐมนตรีลงนามแต่งตั้งร่วมกับ รมว.พาณิชย์ เพื่อสอบข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ 6 คน ส่วนเอกชนไม่ต้องตั้งกรรมการสอบแต่แยกฟ้องต่างหาก หากห็นว่าเชื่อมโยงสามารถเรียกสอบได้ และเมื่อกรรมการสอบข้อเท็จจริงทั้ง 2 ชุดดำเนินการเสร็จจะรายงานกลับไปนายกรัฐมนตรีรับทราบ จากนั้นส่งต่อไปยังคณะกรรมการความรับผิดทางแพ่งเพื่อเรียกสินไหมทดแทนที่ระบุชื่อทั้ง 2 กลุ่มก็ระบุชื่อว่ามีใครบ้าง โดยจะต้องดำเนินการภายใน 2 ปี คือตั้งแต่ ก.พ. 2558 คือจะครบอายุความใน ก.พ. 2560 แต่เชื่อว่าจะเสร็จสิ้นได้ภายในเดือน ธ.ค. 2558 หรืออย่างช้าต้นปี 2559
นายวิษณุระบุว่า หากพบว่ามีความผิด รัฐบาลจะไม่ฟ้อง แต่จะใช้วิธีสั่งให้ชำระหนี้ เหมือนคำสั่งยึดทรัพย์ ซึ่งผู้ที่ทำผิดสามารถไปยื่นอุทธรณ์คำสั่งได้ และทุกอย่างน่าจะจบได้ในชั้นอายุความ
สำหรับตัวเลขความเสียหายที่รัฐบาลจะเรียกคืนจากผู้เกี่ยวข้องนั้น นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว เปิดเผยต่อสื่อมวลชนเมื่อวันทีี่ 23 กันยายน 2558 ว่า คาดว่าผลการขาดทุนจะสูงกว่าการปิดบัญชีงวดที่แล้ว หรือมากกว่า 7 แสนล้านบาท เนื่องจากพบข้าวเสีย ข้าวเสื่อม และข้าวล้มกองในโกดังเพิ่มขึ้น
ตัวเลขผลขาดทุนดังกล่าว มากกว่าความเสียหายที่ทางสำนักนายกรัฐมนตรีตรวจสอบที่ออกมาประมาณ 5.1 แสนล้านบาท เพราะเป็นการตรวจสอบข้าวเฉพาะรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่อนุกรรมการปิดบัญชีการจำนำข้าว 15 โครงการ เป็นของหลายรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งในการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวรอบวันที่ 30 กันยายน 2557 มียอดขาดทุน 7 แสนล้านบาท แยกเป็น 11 โครงการ ก่อนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1.63 แสนล้านบาท และอีก 4 โครงการ สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์อีก 5.36 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558 นายวิษณุ เครืองาม บอกว่า จำนวนตัวเลขที่จะฟ้องนั้นมีอยู่แล้ว แต่ยังไม่ขอเปิดเผย จะมากหรือน้อยกว่า 5 แสนล้านบาท ยังต้องสู้กันอีกหลายศาล บอกตัวเลขไม่ได้ แต่เมื่อถามว่าตัวเลขจำนวนเงิน 5 แสนล้านบาท ที่จะยื่นฟ้องนั้นรวมคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคดีของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ และพวกใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ใช่ โดยคำร้องจะแยกเป็นสองประเภท คือ กระทรวงพาณิชย์เป็นโจทก์ประเภทหนึ่ง และกระทรวงการคลังเป็นโจทก์ประเภทหนึ่ง จำเลยแบ่งเป็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายบุญทรง และพวก 5-6 คน การฟ้องแต่ละคนจะไม่เท่ากัน
วันที่ 7 ตุลาคม นายวิษณุ บอกว่า คณะทำงานที่พิจารณาเอาผิดทางแพ่งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งแบ่งเป็น 2 กระทรวง คือ กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ได้ส่งความเห็นที่ลงนามโดยรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงมาให้ตนเพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรีแล้วหนึ่งคณะ ส่วนเป็นคณะของกระทรวงใดนั้นไม่ขอเปิดเผย และกำลังพิจารณาว่าจะยื่นชุดที่ส่งมาแล้วไปถึงนายกฯ เพื่อลงนามก่อน หลังจากนั้นจะส่งความเห็นไปยังกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งเป็นชุดสุดท้าย และจะมีการออกเป็นคำสั่งทางปกครองที่มีนายกฯ เป็นผู้ลงนาม เพื่อเรียกให้รับผิดทางแพ่ง คือจ่ายชดเชยค่าเสียหาย
นายวิษณุย้ำว่า หากผู้ที่ถูกเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายจะฟ้องก็ต้องฟ้องผู้ที่ลงนาม คือนายกรัฐมนตรี โดยจะฟ้องที่ตำแหน่ง เพื่อเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง ตรงนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่เกี่ยวข้องเพราะการพิจารณาเรื่องดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเข้าที่ประชุม ครม. ถ้าไม่มีการฟ้องเพื่อเพิกถอนคำสั่ง แสดงว่ายอมจ่ายค่าเสียหาย แต่ถ้าไม่ยอมจ่ายก็ต้องฟ้องให้เพิกถอนคำสั่ง หากศาลตัดสินออกมาอย่างไรก็จะไม่มีการติดคุกติดตะราง ทุกอย่างจบ แต่เมื่อมีคำพิพากษาออกมาแล้ว ถ้าฝ่ายไหนอยากอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดก็ทำได้
เมื่อถามว่า หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์จะฟ้องแพ่งต่อผู้ที่ออกคำสั่งทางปกครองได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่น่าจะได้ เพราะการฟ้องแพ่งเป็นการฟ้องละเมิดเรียกค่าเสียหาย ต้องมีการละเมิดหรือกลั่นแกล้ง แต่ถ้าหากมั่นใจว่ามีการกลั่นแกล้งก็ฟ้องได้
วันที่ 8 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวถามย้ำนายวิษณุว่า หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่จ่ายค่าเสียหาย ขณะเดียวกันก็ไม่ฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อเพิกถอนคำสั่ง รัฐบาลจะสามารถบังคับคดีได้หรือไม่ นายวิษณุยืนยันว่า สามารถทำได้ ส่วนระยะเวลาเป็นไปตามปกติทั่วไปเหมือนการยึดทรัพย์บังคับคดี ซึ่งอาจเป็นกระบวนการทางศาล จะจัดการจนได้
ส่วนคำสั่งทางปกครองมีศักดิ์และศรีเท่ากับคำพิพากษาของศาลหรือไม่ นายวิษณุบอกว่า ไม่เหมือนกันทั้งหมด แต่มีวิธีบังคับได้ แต่ขอยังไม่บอกว่าจะบังคับอย่างไร เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นมามากแล้วประมาณ 300 กว่าราย บางคดีฟ้องศาลปกครองใช้เวลาเป็น 10 ปี ศาลก็ตัดสินให้บางคนผิด บางคดีก็เพิกถอนคำสั่ง
เมื่อถามว่าหากคดีอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองจำเป็นต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามจำนวนวงเงินหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ต้องเสียดอกเบี้ย แต่เริ่มต้นต้องดูที่คำสั่งทางปกครองว่าให้ชดใช้เท่าไร และย้ำว่าเมื่อมีการฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่ง หากศาลเพิกถอนก็เพิกถอนทั้งหมด แต่ถ้าศาลไม่เพิกถอนจะต้องจ่ายตามคำสั่งที่เขียนไว้ แต่เรื่องนี้ยังไปอีกยาว ยังไม่ต้องเตรียมตัว
ดูเหมือนว่า ท่าทีของนายวิษณุต่อการเรียกค่าเสียหายจากโครงการจำนำข้าว จะใจเย็นเป็นพิเศษ จนมีการตั้งข้อสังเกตกันว่า การที่นายวิษณุเลือกใช้วิธีให้นายกรัฐมนตรีออกคำสั่งทางปกครองให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์จ่ายค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวนั้น เป็นการเปิดทางให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้มีช่องทางในการต่อสู้ทางแพ่งได้ง่ายขึ้น เพราะรัฐบาลเลือกใช้วิธีการออกคำสั่งทางปกครอง แทนที่จะใช้กระบวนการทางศาลเป็นตัวบังคับ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีนี้ นายวิษณุได้เสนอแนะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไว้เสร็จสรรพว่า ให้ฟ้องนายกรัฐมนตรีต่อศาลปกครอง หากไม่ต้องการจ่ายค่าเสียหาย และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็จะกลายเป็นโจทก์ นายรัฐมนตรีกลายเป็นจำเลย เมื่อศาลปกครองตัดสินออกมา หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นฝ่ายชนะ ก็มีความชัดเจนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ต้องจ่ายสักบาทเดียว แต่ถ้าศาลปกครองตัดสินให้รัฐบาลชนะ ถ้า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะอยู่เฉยๆ ถือคติว่า “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า รัฐบาลจะบังคับให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์จ่ายเงินได้อย่างไร ถ้าไม่ใช้กระบวนการทางศาลอีก ซึ่งนั่นก็จะทำให้คดีต้องยืดเยื้อออกไป
อย่าลืมว่า คดีคล้ายกันนี้เคยเกิดแล้ว กรณีบริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน) ผิดสัญญาสัมปทานกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) และศาลปกครองกลางได้ตัดสินให้ สปน.ชนะคดี ตั้งแต่ปี 2549 มีผลทำให้ไอทีวีต้องจ่ายค่าปรับรวมดอกเบี้ยเป็นเงินร่วม 1 แสนล้านบาท แต่จนถึงวันนี้ เวลาล่วงเลยมาเกือบ 10 ปี ไอทีวียังไม่ได้จ่ายค่าปรับให้ สปน.แม้แต่บาทเดียว