xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.แนะองค์กรตั้ง กก.ร่วมฟ้องรัฐ เพิ่มอำนาจสอบประชานิยม อุทธรณ์โกงยึดร่าง 50

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คิว ป.ป.ช.เสนอความเห็น กรธ. แนะองค์กรสอบอำนาจรัฐร่วมเป็นกรรมการ ช่วยฟ้องคดีเร็วขึ้น ไม่ควรลดอำนาจ ป.ป.ช.ให้ไต่สวนแค่หัวหน้าหน่วยงาน คดีโกงในศาลควรยึด รธน.50 อุทธรณ์ต้องผ่านที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ยกหลักสากลฮอลแลนด์ก็ตัดสินศาลเดียว ดัดหลังประชานิยม ป.ป.ช.-กกต.เตือนไม่ฟังมีความผิด ให้ ขรก.-เอกชนร่วมโครงการยื่นทรัพย์สินกันซ้ำรอยโกงแหลก ลั่นเอี่ยวโกงไม่ควรเล่นการเมือง

วันนี้ (14 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.เป็นประธาน ได้เชิญองค์กรอิสระเข้าเสนอความเห็นเป็นวันที่ 2 หลังจากที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เสนอความเห็นมาเมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา ในวันนี้เป็นการรับฟังความเห็นจากตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.เปิดเผยว่า ข้อเสนอของ ป.ป.ช.คือ อยากให้องค์กรต่างๆ ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเกี่ยวกับอำนาจรัฐทำงานร่วมกันในรูปของคณะกรรมการซึ่งจะช่วยให้การส่งฟ้องคดีรวดเร็วมากขึ้น เพราะในขณะนี้ต่างคนต่างทำ เช่น เมื่อ สตง.ตรวจพบทุจริตก็ต้องใช้เวลากว่าจะส่งมาให้ ป.ป.ช.พิจารณาซึ่งต้องใช้เวลาในการขอเอกสารหลักฐานจาก สตง.มาพิจารณาอีก หากสามารถบูรณาการส่วนนี้ได้ก็จะทำให้การดำเนินคดีรวดเร็วขึ้น ส่วนที่ สตง.เสนอว่าควรให้อำนาจ สตง.ฟ้องเองจะได้รวดเร็วขึ้นนั้น ตนเห็นว่าหากแก้ไขตามที่ ป.ป.ช.เสนอโดยมีรูปแบบเป็นคณะกรรมการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรตรวจสอบอำนาจรัฐก็จะแก้ปัญหาดังกล่าวได้

นอกจากนี้ นายวิชายังยืนยันว่าไม่ควรจำกัดอำนาจ ป.ป.ช.ในการไต่สวนให้อยู่ที่แค่ระดับหัวหน้าหน่วยงานเหมือนในร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ผ่านความเห็นชอบของสปช.ไปแล้ว อย่างน้อยควรให้อำนาจ ป.ป.ช.เท่าเดิม คือสามารถไต่สวนระดับผู้อำนวยการได้ เพราะเป็นประโยชน์ในการสืบสวนคดีให้ถึงต้นตอมากขึ้น เช่นเดียวกับการดำเนินคดีทุจริตในชั้นศาลควรจะยึดตามมาตรฐานของรัฐธรรมนูญปี 2550 คือ สามารถอุทธรณ์ได้ผ่านที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ไม่ใช่ให้อุทธรณ์ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายใหม่ โดยการตั้งองค์คณะใหม่ ทั้งนี้ การที่มีบางฝ่ายอ้างว่าการพิจารณาเพียงศาลเดียวไม่เป็นไปตามหลักสากลนั้นไม่เป็นความจริง เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ก็พิจารณาศาลเดียวเช่นกันกับไทย แต่ในรัฐธรรมนูญปี 50 ยังเปิดช่องให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาภายใน 30 วันด้วย จึงไม่ถือว่าไม่เป็นไปตามหลักสาลกตามที่กล่าวหา

นายวิชายังกล่าวด้วยว่า กรณีคดีทุจริตไม่มีอายุความนั้นคิดว่าคงไม่น่ามีปัญหา ส่วนที่บางฝ่ายเห็นว่าควรให้ประชาชนมีสิทธิฟ้องคดีทุจริตต่อศาลเองนั้นเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเพราะการตรวจสอบการทุจริตมีกระบวนการที่ต้องละเอียดรอบคอบ จึงควรมีการกลั่นกรอง ที่ผ่านมาจึงให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐดำเนินการ

ส่วนวันพรุ่งนี้ (15) ที่จะครบวาระ 9 ปี ของ ป.ป.ช.นายวิชากล่าวว่า มีผลงานเป็นรูปธรรมที่จะแถลงอย่างแน่นอนว่า คดีใดจะเสร็จในช่วงเวลาไหนจนถึงสิ้นปีนี้ แต่ยังขอไม่เปิดเผยรายละเอียด

ด้านนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช.กล่าวว่า ที่ผ่านมา ป.ป.ช.มีปัญหาในการยับยั่งโครงการที่ส่อทุจริต เพราะเมื่อเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับไปที่ ครม.แล้ว และถูกเพิกเฉยโดยไม่มีอำนาจบังคับ จึงเสนอว่าในโครงการประชานิยมจำเป็นจะต้องมี “หลักประกันความเสี่ยง” หาก ป.ป.ช.เสนอความเห็นไปแล้ว และไม่ปฏิบัติตามก็ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ต้องอนุมัติวงเงินให้ไปดำเนินนโยบาย นอกจากนี้ยังไม่เห็นด้วยที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่จะฟ้องศาลเองในคดีที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญา ก็จะทำให้มีสภาพเป็น ป.ป.ช.น้อย ทั้งที่เรื่องดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ที่ดำเนินการอยู่แล้ว

นายวิชากล่าวว่า เสนอให้ ป.ป.ช.และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถตรวจสอบนโยบายโครงการประชานิยม เพื่อประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น มิให้เหมือนโครงการรับจำนำข้าว ที่รัฐบาลอ้างว่าเป็นนโยบายและไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปยับยั้งได้ และเกิดความเสียหายอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ดังนั้น มาตรการใหม่นี้หาก ป.ป.ช.และ กกต.เตือนไปแล้ว และหน่วยงานนั้นไม่ปฏิบัติตาม ก็จะมีสภาพถูกชี้มูลความผิดอย่างกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในโครงการคดีรับจำนำข้าว

นอกจากนี้ ให้ข้าราชการทุกระดับชั้นยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อหน่วยงานต้นสังกัด รวมทั้งเอกชนที่เข้าร่วมโครงการที่เป็นนโยบายทางการเมืองของรัฐ ที่มีผลกระทบกับประชาชนสูง ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วย ถือเป็นมาตรการตรวจสอบตั้งแต่เริ่มต้น มิให้ลุกลามสร้างความเสียหายดังเช่นโครงการทุจริตคลองด่าน โครงการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง ของ กทม. และโครงการทุจริตยา

“ตั้งแต่มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด หรือ ป.ป.จ. ครบ 76 จังหวัด เพราะจากการตรวจสอบเชิงลึกไปตรงไหนพบแต่การทุจริต มีการปกปิดข้อมูลมากมาย เพราะส่วนใหญ่ที่พบจะเกี่ยวข้องกับการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง ดังนั้น นักการเมืองท้องถิ่นจะต้องส่งบัญชีทรัพย์สินเพื่อให้มีการตรวจสอบ รวมทั้งคนที่มีคดีเกี่ยวกับการทุจริต ก็ไม่ควรดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆได้อีกต่อไป” นายวิชากล่าว












กำลังโหลดความคิดเห็น