xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.เสนอทางแก้ฟันทุจริตช้า ตั้งบอร์ดตรวจสอบโกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (14 ต.ค.) มีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน กรธ. เป็นประธาน ได้เชิญองค์กรอิสระเข้าเสนอความเห็นเป็นวันที่สอง หลังจากที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง. )ได้เสนอความเห็นมาเมื่อวันที่ 13 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยเมื่อวานนี้ เป็นการรับฟังความเห็นจากตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ข้อเสนอของป.ป.ช.คือ อยากให้องค์กรต่างๆ ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเกี่ยวกับอำนาจรัฐทำงานร่วมกันในรูปของคณะกรรมการ ซึ่งจะช่วยให้การส่งฟ้องคดีรวดเร็วมากขึ้น เพราะในขณะนี้ต่างคนต่างทำ เช่น เมื่อ สตง.ตรวจพบทุจริต ก็ต้องใช้เวลากว่าจะส่งมาให้ ป.ป.ช.พิจารณา ซึ่งก็ต้องใช้เวลาในการขอเอกสารหลักฐานจากสตง. มาพิจารณาอีก หากสามารถบูรณาการส่วนนี้ได้ ก็จะทำให้การดำเนินคดีรวดเร็วขึ้น
ส่วนที่สตง.เสนอว่า ควรให้อำนาจสตง. ฟ้องเองจะได้รวดเร็วขึ้นนั้น ตนเห็นว่าหากแก้ไขตามที่ ป.ป.ช.เสนอโดยมีรูปแบบเป็นคณะกรรมการทำงานร่วมกัน ระหว่างองค์กรตรวจสอบอำนาจรัฐ ก็จะแก้ปัญหาดังกล่าวได้
นอกจากนี้ นายวิชา ยังยืนยันว่าไม่ควรจำกัดอำนาจป.ป.ช. ในการไต่สวนให้อยู่ที่แค่ระดับหัวหน้าหน่วยงาน เหมือนในร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ผ่านความเห็นชอบของ สปช.ไปแล้ว อย่างน้อยควรให้อำนาจ ป.ป.ช.เท่าเดิม คือ สามารถไต่สวนระดับผู้อำนวยการได้ เพราะเป็นประโยชน์ในการสืบสวนคดีให้ถึงต้นตอมากขึ้น เช่นเดียวกับการดำเนินคดีทุจริตในชั้นศาล ควรจะยึดตามมาตรฐานของรัฐธรรมนูญปี 50 คือ สามารถอุทธรณ์ได้ ผ่านที่ประชุมใหญ่ศาลฏีกา ไม่ใช่ให้อุทธรณ์ทั้งข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายใหม่ โดยการตั้งองค์คณะใหม่
ทั้งนี้การที่มีบางฝ่ายอ้างว่าการพิจารณาเพียงศาลเดียวไม่เป็นไปตามหลักสากลนั้น ไม่เป้นความจริง เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ก็พิจารณาศาลเดียวเช่นกันกับไทย แต่ในรัฐธรรมนูญปี 50 ยังเปิดช่องให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฏีกาภายใน 30 วันด้วย จึงไม่ถือว่าไม่เป็นไปตามหลักสาลกตามที่กล่าวหา
นายวิชา ยังกล่าวด้วยว่ากรณีคดีทุจริตไม่มีอายุความนั้น คิดว่าคงไม่น่ามีปัญหา ส่วนที่บางฝ่ายเห็นว่าควรให้ประชาชนมีสิทธิ์ฟ้องคดีทุจริตต่อศาลเองนั้น เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเพราะการตรวจสอบการทุจริตมีกระบวนการที่ต้องละเอียดรอบคอบ จึงควรมีการกลั่นกรอง ที่ผ่านมาจึงให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐดำเนินการ
ส่วนในวันนี้(15ต.ค.) ที่จะครบวาระ 9 ปี ของป.ป.ช. นายวิชา กล่าวว่า มีผลงานเป็นรูปธรรมที่จะแถลงอย่างแน่นอนว่า คดีใดจะเสร็จในช่วงเวลาไหนจนถึงสิ้นปีนี้ แต่ยังขอไม่เปิดเผยรายละเอียด

** "รัฐบาล-สปท.-สนช."ต้องร่วมกันปฏิรูป

นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการทำงานของสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ ( สปท.) ว่า จากนี้ไป รัฐบาล สปท. และ สนช. คงต้องทำงานใกล้ชิดกัน ให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกันมากขึ้น รวมทั้งให้เข้าใจเจตนารมณ์เริ่มต้นของการปฏิรูปประเทศด้วย
ทั้งนี้ สปท. มีบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจนอยู่แล้ว ตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดไว้ในมาตรา 39/2 คือ ดำเนินการให้เกิดการปฏิรูปด้านต่างๆ 11 ด้าน สืบต่อจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยคำนึงถึงความสำคัญเร่งด่วน ผลสัมฤทธิ์ และระยะเวลาที่เหลืออยู่ รวมถึงการเสนอให้มีกฎหมายที่จำเป็นด้วย
ดังนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาล สปท. และ สนช. คงต้องทำงานร่วมกัน ใกล้ชิดกัน เนื่องจากรัฐบาลมีการบริหารราชการแผ่นดิน มีวาระแห่งชาติ มีเรื่องสำคัญเร่งด่วน และการปรับปรุงกฎหมายที่ได้ดำเนินการไปแล้วในระยะที่ 1 และกำลังทำอยู่ในระยะที่ 2 ซึ่ง ปัจจุบัน มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ได้ทำไว้กับแผนพัฒนาฉบับที่ 12 ซึ่งจะเชื่อมโยงไปกับการปฏิรูปประเทศทั้งสิ้น ส่วนสนช.ก็จะได้ช่วยขับเคลื่อนด้านกฎหมายให้
" ปัจจุบันการปฏิรูปของเราอยู่ในระยะของการขับเคลื่อน รัฐบาล สปท. และ สนช. ต้องประสานการขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กันให้ได้ กรอบการปฏิรูปมีแล้ว ผลการศึกษาก็มีอยู่แล้ว ประเด็นที่ต้องคำนึงถึงคือ การจัดลำดับความสำคัญของประเด็นปฎิรูป พิจารณากรอบเวลาที่เหลืออยู่ แล้วลงมือทำงาน" รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าว
นายสุวพันธุ์ กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีได้พูดในที่ประชุม ครม. แล้วว่า จะจัดประชุมแม่น้ำ 5 สาย เพื่อทำความเข้าใจทั้งเรื่องเจตนารมณ์ แนวทางการทำงาน ภายในกรอบเวลาที่เหลืออยู่ โดยเฉพาะการได้หารือกับ สปท. เพื่อรับรู้การดำเนินการในส่วนของรัฐบาลในเวลาที่ผ่านมา ซึ่งคงรอกำหนดวันที่เหมาะสมอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น