xs
xsm
sm
md
lg

หลอกขายปอร์เช่ 4.5 ล้าน!! ปิดเทอมใหญ่ “โจรเด็ก” ว้าวุ่น เมื่อเจอ “เซียนรถ” ดัดหลัง!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เป็นเรื่อง! เมื่อเด็กสาววัย 14 แอดไลน์ไปหาเจ้าแม่เซียนรถ หลอกขาย “ปอร์เช่ คาเยน” เรียก 4.5 ล้าน อ้างร้อนเงิน ขอให้โอนมาก่อน 1 ล้าน!! เหยื่อไหวตัวทัน หลอกถามสืบข้อมูล สุดท้าย โอนให้เจ็บใจเล่นๆ ตัดศูนย์ออกไปหลายตัว เหลือแค่ “10 บาท” เพื่อตรวจสอบข้อมูลบัญชีปลายทาง พร้อมแฉกรณีโจรเกรียนให้ว่อนโลกออนไลน์
ชาวเน็ตช่วยสืบจนทราบว่าเป็นถึง “รองประธานคณะกรรมการนักเรียน” ผู้ถูกกล่าวหาทนประเด็นร้อนไม่ไหว โร่เข้าแจ้งความฐานถูกแอบอ้างชื่อหลอกขายออนไลน์ แต่ดูเหมือนคำแก้ต่างจะบางเบาเกินกว่า หลักฐานหลายๆ อย่างที่มัดตัวอย่างแน่นหนาเสียแล้ว!!



ดัดหลังโจรเด็ก! ขอ 1 ล้าน โอนให้ 10 บาท!!

[แก้คัน ช่วยโอนไปให้ 10 บาท เพื่อตรวจสอบบัญชี]
"น้องเล่นผิดคน ขำ... เด็กเอารูปรถจากเน็ตมาหลอกขาย จะให้โอนก่อนครึ่งนึง หรือ 1 ล้าน ชื่อบัญชีเป็นเด็กหญิงอยู่เลยค่ะ เราหลอกจะโอนมัดจำให้ก่อน 10,000 แต่โอนไป 10 บาท ป่านนี้ขี่มอเตอร์ไซค์หูฟูไปเช็กที่ตู้ละมั้ง โอ๊ย... คนสมัยนี้"

แก้ว-ปิยะฉัตร เอี่ยมสำอางค์ ผู้คร่ำหวอดในวงการซื้อขายรถยนต์และป้ายทะเบียนมากว่า 14 ปี โพสต์เรื่องราวทั้งหมดลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว “Lookkaew Piyachat” เปิดเป็นสาธารณะเอาไว้ตามความเคยชิน พร้อมทั้งแชร์เรื่องราวนี้เอาไว้ในกลุ่มปิด “มาม่ากับเผือก เชิญทางนี้” เพจดังเห็นเข้าจึงหยิบโพสต์ไปแชร์ จนกลายเป็นประเด็นร้อนบนโลกออนไลน์อยู่ในขณะนี้

เพื่อความถูกต้องของข้อมูล ทางทีมข่าวผู้จัดการ Live จึงติดต่อขอสัมภาษณ์พิเศษทางโทรศัพท์ไปยัง “เหยื่อ” เจ้าของเรื่องโดยตรง จึงได้ข้อมูลเชิงลึกและแซ่บยิ่งกว่าโพสต์ที่ถูกแชร์ออกไป โดยได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็น “โจรเด็ก” คนดังกล่าว มีอายุเพียง 14 ปี เป็นนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.ชลบุรี แถมยังพ่วงตำแหน่ง “รองประธานคณะกรรมการนักเรียน” อีกต่างหาก

ล่าสุด มีการติดต่อจากตัวเด็กกลับมา อ้างว่าถูกแอบอ้างชื่อไปก่อเหตุซื้อขายรถทางไลน์ และได้เข้าแจ้งความกับสถานีตำรวจภูธรบ้านบึง ลงบันทึกประจำเอาไว้เรียบร้อยแล้ว ขอให้ช่วยแก้ข่าวให้ด้วย เบื้องลึกเบื้องหลังการ “ล่อซื้อ” โดยเซียนรถตัวแม่ครั้งนี้จะเป็นอย่างไร ติดตามได้จากปากคำของเธอเอง


[โพสต์เตือนภัย จนกลายเป็นประเด็นร้อน]
น้องเขาน่าจะเห็นแล้วว่าเราทำงานเกี่ยวกับด้านซื้อขายรถ จะเปิดสาธารณะเอาไว้ทุกอย่างเลย ทั้งอินสตาแกรม, ไลน์ แล้วก็เบอร์โทร. เลยกะเอาจุดนี้มาเป็นจุดอ่อนของเรา แต่ตอนที่เราเห็นรูปรถที่น้องส่งมาตั้งแต่แรก เราก็เอะใจแล้วค่ะ เพราะเขาเอารูปในเต็นท์รถมา คือปกติแล้ว ภาพที่คนส่งรูปรถมาเช็กราคา จะไม่ใช่ภาพรถในเต็นท์รถอยู่แล้ว แต่แก้วก็ลองคุยค่ะ ลองบอกราคาไปว่าเต็มที่ได้ไม่เกิน 4.3 ล้านนะ (จากที่น้องขอมาตอนแรก 4.5 ล้าน) เขาก็บอกแก้วว่า ช่วยโอนให้หนูก่อนครึ่งนึงได้ไหม ทีนี้เราก็ยิ่งเอะใจเข้าไปใหญ่เลย”

“ปอร์เช่ คาเยน เอส (Porsche Cayenne S)” รุ่นปี 2011 คือรถรุ่นที่โจรเด็กรายนี้ส่งภาพมาเสนอขายผ่านไลน์ ที่ทำให้แก้วนึกเอะใจอย่างมากคือ ปกติแล้ว การส่งมาเช็กราคาแบบนี้ ผู้ติดต่อมักจะส่งภาพแต่ละส่วนของรถมาให้อย่างละเอียด แต่ครั้งนี้ กลับส่งภาพที่ไม่ค่อยชัดมาให้ เป็นภาพรถด้านหน้า ด้านหลัง ด้านข้าง และพวงมาลัย จับมารวมกันให้เห็นเป็น 4 ช่องในภาพเดียว “ยิ่งรถระดับหลักล้านแบบนี้ ไม่มีใครทำแบบนี้หรอกค่ะ” แก้ว-ปิยะฉัตร เจ้าแม่เซียนรถ ตั้งข้อสังเกตเอาไว้

“ปกติแล้ว การซื้อขายรถของคนทำงานสายนี้จริงๆ จะไม่มีการโอนเงินอะไรแบบนี้เลยค่ะ อย่างแก้ว สมมติว่าตกลงกับลูกค้าจบราคาได้ ยิ่งถ้าเป็นลูกค้าต่างจังหวัด จะให้ฝ่ายจัดซื้อบินไปหาและจ่ายเงินสดกันที่ปลายทางเลยค่ะ เซ็นเอกสารอะไรเรียบร้อยก็ขับรถกลับกัน หรือถ้าลูกค้าเอารถเข้ามาที่เต็นท์เอง ก็รับเงินสดเหมือนกัน

แต่ในกรณีนี้ ภาพรถคาเยนที่ส่งมา แก้วเห็นแล้วว่าป้ายทะเบียนคือ 'ภูเก็ต' ซึ่งก็มีสาขา มีสายของเราอยู่ ซึ่งเราก็บินไปรับรถบ่อยๆ ก็เลยบอกน้องเขาไปว่าไม่เป็นไร ถ้าเกิดพี่บินไป พี่สามารถจ่ายสดตรงนั้นได้เลย พอโพสต์แล้วก็เลยกลายเป็นประเด็นค่ะ ไม่คิดว่าจะกลายเป็นเรื่องใหญ่โตขนาดนี้เลย

[ใช้รูปจากเน็ตมาหลอกขาย]

พอน้องเขาเห็นกระแสทางโซเชียลฯ ที่เริ่มแรงแล้ว เขาก็เอาอีกไลน์นึงแอดมาหาเราค่ะ เป็นไลน์ใหม่ รูปโปรไฟล์ใหม่เลย บอกว่าหนูเองค่ะ แล้วก็บอกชื่อจริงเรา บอกว่าเรื่องนี้พ่อแม่น้องเขารับรู้แล้ว เขาได้ไปลงบันทึกประจำวันมาเรียบร้อยแล้ว บอกว่าถูกอ้างชื่อมาคุยไลน์เรื่องซื้อขายรถกับแก้ว น้องเขาอ้างว่าปกติทำกิจการซื้อขายโทรศัพท์ค่ะ แล้วจะมีลูกค้ามาขอเลขบัญชีกับเบอร์โทร.ไป น้องเขาก็ให้ไป ก็เลยถูกแอบอ้าง

แต่แก้วก็ถามไปค่ะว่า ถ้าอย่างนั้นน้องก็ต้องรู้เรื่องแล้วสิ ตั้งแต่ตอนที่แก้วขอเบอร์โทร.เอาไว้ แล้วบอกว่าถ้าโอนเงินแล้ว จะให้ฝ่ายจัดซื้อโทร.ไปบอก แต่ตอนนั้น พอโทร.ไป น้องเขาก็รับสายค่ะแต่ไม่พูด หลังจากนั้น พอเอาอีกเบอร์นึงโทร.ไป น้องก็ไม่รับสายอีกเลย เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นไปตามที่น้องเขาอ้างว่าถูกแอบอ้าง มันก็ไม่สมเหตุสมผลนะ เลยอยากจะให้หลายๆ คนช่วยวิเคราะห์เรื่องนี้เหมือนกัน

คิดดูว่า ถ้าสมมติแก้วโอนเงินไปแล้ว 1 ล้านจริงๆ ถามว่าเขาจะไปเอาเงินจากบัญชีน้องมาได้ยังไง ถ้าน้องไม่ได้สมรู้ร่วมคิดกัน ตอนที่น้องคนแรกที่ไลน์มาซื้อขายกับเรา เขาบอกถ้าพี่โอนตังค์แล้ว บอกหนูหน่อยนะ หนูจะไปเช็ก นั่นก็แสดงว่า ยังไงซะคนที่มาขายรถกับแก้ว ก็ต้องรู้จักน้องเขาอยู่แล้วสิ ถึงจะเช็กได้ แล้วจะมาอ้างว่าถูกแอบอ้างได้ยังไง มันเป็นไปไม่ได้เลย


[ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็น "โจรเด็ก" อ้างว่า ถูกแอบอ้างชื่อ หันหน้าพึ่งตำรวจเรียบร้อยแล้ว]
แก้วขอเบอร์ติดต่อคุณพ่อน้องเขาไปด้วยค่ะ น้องเขาก็ให้มา แล้วบอกให้เราโทร.หาตอนนี้เลย หนูอยู่ห้องคุณพ่อ แต่แก้วคิดว่าอาจจะเป็นเพื่อนรุ่นพี่ผู้ชายซึ่งรู้เรื่องกัน แก้วเลยยังไม่โทร.ตามเวลาน้องกำหนดค่ะ เอาไว้แก้วสะดวกเมื่อไหร่จะโทร.ไปเอง กะไม่ให้เขาตั้งตัว และจริงๆ แล้ว ถ้าคนเป็นพ่อเป็นแม่จริงๆ เจอแบบนี้ เขาไม่มานั่งรอหรอกค่ะ เขาต้องร้อนใจหาทางโทร.หาแก้วแล้ว

ส่วนเรื่องดำเนินคดี ปกติแล้วการแจ้งความมันมีแจ้งได้ 2 อย่าง มีแบบลงบันทึกประจำวัน กับแจ้งความดำเนินคดี เลยบอกน้องเขาไปว่า งั้นถ้าออกตัวแล้วว่าไม่รู้เรื่องอะไรด้วย พี่จะไปแจ้งเป็น 'คดีความ' เลยนะ และน้องก็มาแสดงตัวด้วยพร้อมกันเลย ตัวน้องเองจะได้ไม่เสียหาย จะได้เป็นการแสดงความบริสุทธิ์ของตัวเองด้วย ที่สำคัญ แก้วอยากจะพบคุณพ่อคุณแม่ของน้องด้วยค่ะ เจอหน้ากันจริงๆ จะได้ทราบว่าความจริงเป็นยังไง



ระวัง! ปิดเทอมใหญ่ “โจรเด็ก” ว้าวุ่น

[ขอให้โอนให้ก่อน 1 ล้าน!!]
“กรณีที่เกิดขึ้น ทำให้รู้สึกว่าเรื่องมิจฉาชีพ มันชักจะใกล้ตัวเราเกินไปแล้ว ตอนแก้วอายุ 14 แก้วยังกระโดดหนังยางเล่นอยู่กับเพื่อนอยู่เลย... ไม่ไหวจริงๆ ค่ะ” เจ้าแม่เซียนรถปิดท้ายด้วยน้ำเสียงปลงตก ซ้ำยังช่วยชี้ให้เห็นว่า ถึงเวลาที่สถาบันครอบครัวต้องหันหน้ามาดูแลลูกหลานของตัวเองให้ดีๆ แล้ว ก่อนที่พวกเขาจะกลายเป็น “โจรเด็ก” ไปโดยไม่ทันได้รู้ตัว

“จริงๆ แล้ว แก้วก็ไม่อยากจะเอาเรื่องนะคะ แต่คิดว่าถ้าไม่ปรามตั้งแต่ตอนนี้ ปล่อยให้โตไปเป็นมิจฉาชีพ มันจะยิ่งกว่านี้อีกหรือเปล่า และน้องเขาคิดการณ์ใหญ่มากนะ การที่จะหลอกคนและมาเอาเงินเขาเป็นหลักล้านนี่... น่าจะคิดก่อนว่าเรื่องมันจะเป็นยังไงต่อ ถ้าเทียบกับการซื้อขายสินค้าอย่างอื่นทางเน็ต หลักร้อย-หลักพัน มันยังไม่ค่อยเท่าไหร่นะ แต่นี่เอาระดับหลักล้านแล้ว มันไม่ธรรมดาแล้วนะ

น้องๆ คนไหนที่อยากรวยทางลัด เกิดอยากใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กมาหาช่องทางทำแบบนี้ อย่าทำเลยค่ะ มันจะเสียหายมาถึงตัวน้องเอง ถึงครอบครัว ถึงสถาบันของน้องเอง และล่าสุด ก็มีคุณครูของทางโรงเรียนที่น้องคนนี้อยู่ มาส่งข้อความหาแก้วด้วยนะคะ บอกว่าขอให้ลบชื่อโรงเรียนออกได้ไหม ซึ่งแก้วลบออกไปจากเฟซบุ๊กไปแล้วค่ะ แต่ที่เพจใหญ่ๆ เขาเอาไปแชร์ต่อๆ กัน มันไปไวมาก แก้วไปแก้ตรงนั้นไม่ได้แล้วค่ะ

และตอนนี้ แก้วก็ไม่แน่ใจว่าทางครอบครัวของน้องรับรู้เรื่องที่เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน แต่มองว่าไม่น่าจะใช่การทำครั้งแรก เพราะดูเขาเตรียมการข้ออ้างว่าปกติทำการซื้อขายโทรศัพท์ด้วย พอเกิดกรณีนี้ขึ้นมา แก้วก็มองว่ามันสะท้อนปัญหาสังคมหลายๆ อย่างเหมือนกันนะ เด็กพวกนี้อาจจะ 'ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น' มั้งคะ (หัวเราะเบาๆ) ปิดเทอมแล้วเลยมาทำอะไรแบบนี้

[บทสนทนา หลังเรื่องกลายเป็นประเด็น]


เกี่ยวกับเรื่องนี้ ฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ให้ความเห็นในกรณีเด็กใช้ไลน์เป็นช่องทางในการหลอกลวงผู้อื่นว่า ถ้าเด็กทำจริง มันแสดงให้เห็นถึงความน่ากลัวของเด็กกับการใช้สื่อโซเชียลฯ ในยุคนี้อย่างมาก โดยเฉพาะการใช้เป็นช่องทางในการทำสิ่งไม่ดี

"ไม่เฉพาะกับเด็ก เรามักจะเห็นข่าวหลายๆ ข่าวในลักษณะนี้ ไม่ว่าจะเล่นแชร์กันผ่านไลน์โดยไว้ใจกัน จ่ายเงินกันแล้ว สุดท้ายถูกโกง ดังนั้น สิ่งที่ต้องระวังก็คือ เสพสื่อยุคนี้ต้องรู้เท่าทัน โชคดีที่กรณีนี้อีกฝ่ายรู้ทัน ไม่หลงเชื่อง่ายๆ เพราะสื่อพวกนี้จะหลอกลวง หรือปลอมเป็นใครก็ได้ แม้จะมีการจำกัดอายุในการสมัคร แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่แบบนั้น

อย่างกรณีที่เกิดขึ้น สังคมอาจจะบอกว่า ริเป็นโจรตั้งแต่เด็กเลยเหรอ จุดประเด็นการตำหนิจนลืมกลับมามองว่า แล้วเราจะช่วยกันแก้ไขอย่างไร แม้ว่าตัวเด็กอาจจะยังไม่ได้เป็นโจรในตอนนี้ แต่ถ้าในอนาคตเขาอาจพลาดขึ้นมาอีก เขาอาจจะเป็นโจรไม่รู้ตัวก็ได้

โดยเฉพาะช่วงเด็กปิดเทอม แต่พ่อแม่ไม่ได้ปิดเทอมด้วย เวลาของเด็กกับพ่อมันสวนกัน เอาเข้าจริงเราก็เข้าใจพ่อแม่นะ เพราะเศรษฐกิจ สมัยนี้ พ่อแม่ต้องทำงานหนักเพื่อให้มีเงินเลี้ยงดูครอบครัวอย่างเพียงพอ ส่วนตัวอยากให้กลับมามองใหม่ ทำอย่างไรให้ครอบครัวอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องดิ้นรน หรือใช้เงินมากนักในการเลี้ยงลูก

เริ่มจากหันกลับมามีเวลาให้คนในครอบครัว อย่างน้อยๆ กลับบ้านเร็วสักหน่อยเพื่อมีกิจกรรมกับเด็กๆ เช่น ทำกับข้าว หรืออะไรง่ายๆ ที่ทำร่วมกันได้ นอกจากนี้ ควรพูดคุยกับลูก สัมผัส โอบกอดกัน หรือแม้แต่การชมก่อนตำหนิ เรามีไหม เพราะส่วนใหญ่มักจับผิดมากกว่าจับถูก" ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวแนะ


ทั้งนี้ ในฐานะคนทำงานด้านเด็ก และครอบครัว เธอให้ข้อคิดเห็นทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพื้นที่สาธารณะกับครอบครัวค่อนข้างน้อย บางแห่งราคาแพง ทำให้บางครอบครัวเข้าไม่ถึง ไม่แปลกที่ครอบครัวจะหันไปพึ่งศูนย์การค้า หรือพึ่งสิ่งอื่นๆ แทน

"การมีพื้นที่ของครอบครัว ตรงนี้ไม่ค่อยมี หรือแม้แต่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวในการส่งเสริมสัมพันธภาพครอบครัวก็ยังไม่มี หรือถ้ามี บางทีกระทรวง ทบวง กรม ก็ทำงานกันแยกส่วน แต่ละหน่วยทำงานของเขา ไม่ได้มารวมศูนย์ในการตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหา จึงทำให้ปัญหาครอบครัวในหลายๆ มิติยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร"

ข่าวโดย ผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น