xs
xsm
sm
md
lg

ดีแทคเล่นเกมยื้อเวลาประมูล 4G

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
ดีแทค เล่นเกมยื้อเวลาประมูล 4G หลังยึกยักคืนความถี่ 1800 MHz แลกกับเงื่อนไขให้ประมูล 3 ใบอนุญาต ด้าน “ฐากร” ฟิวส์ขาดท่าทีเอกชนไร้ความจริงใจ เตรียมดัดหลังเสนอ กทค.เพิ่มเงื่อนไขจำกัดเพดานการถือครองคลื่นความถี่ในการประชุมวันที่ 24 มิ.ย.นี้ ยัน กสทช.จะประมูล 11 พ.ย. จำนวน 2 ใบอนุญาตแน่นอน

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ ตนเองจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เพิ่มเติมเงื่อนไขในการประมูลทั้งคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ที่กำลังจะเปิดประมูลในวันที่ 11 พ.ย.58 และ 15 ธ.ค.58 นี้ ด้วยการกำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลต้องถือครองคลื่นความถี่โทรคมนาคม ทั้งที่อยู่ในสัญญาสัมปทาน และไม่ได้อยู่ในสัญญาสัมปทานรวมแล้วไม่เกิน 60 MHz ซึ่งจะนับรวมคลื่นทั้งของบริษัทที่เข้าร่วมประมูล และบริษัทในเครือที่เกี่ยวข้องกันทุกด้านไม่ว่าพฤตินัยและนิตินัย หากผู้เข้าร่วมประมูลถือครองคลื่นความถี่เกินจำนวนดังกล่าวต้องคืนคลื่นจำนวนไม่น้อยกว่าที่ประมูลได้คืนให้เจ้าของคลื่น หากต้องการคืนคลื่นที่ยังไม่หมดสัญญาสัมปทานก็ให้คืนกับเจ้าของสัญญาสัมปทาน เพื่อนำไปใช้งานต่อได้ แต่หากเป็นคลื่นที่ได้มาจาก กสทช.ก็ให้คืนมายัง กสทช.

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการมีคลื่นความถี่ 3 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท แอดวานซ์ ไวล์เลสเน็ตเวิร์ค จำกัด บริษัทในเครือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน ) หรือเอไอเอส ที่ได้รับใบอนุญาต (ไลเซนส์) 3G บนคลื่นความถี่ 2100 MHz จำนวน 15 MHz 2.บริษัท เรียลฟิวเจอร์ จำกัด บริษัทในกลุ่มทรู มีคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz จำนวน 15 MHz และ 3.บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค มีจำนวนคลื่นความถี่ 850 MHz จำนวน 10 MHz คลื่น 1800 MHz จำนวน 50 MHz ที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และจะหมดสัญญาในปี 2561 นอกจากนี้ ยังมีคลื่น 2100 MHz อีกจำนวน 15 MHz จึงนับว่าเป็นผู้ประกอบการที่คลื่นมากที่สุดถึง 75 MHz

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาดีแทคมีความพยายามในการคืนคลื่น 1800 MHz ที่ไม่ได้ใช้งาน จำนวน 25 MHz มาให้ กสทช.กลับมาประมูล จนกระทั่งล่าสุดได้ข้อสรุปว่าจะคืนมาให้เพียง 5 MHz เท่านั้น ซึ่งตนเองก็ยินดีจะยอมรับแต่ต้องไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ที่สำคัญต้องไม่กระทบต่อกรอบเวลาการประมูลที่กำหนดไว้ และต้องประมูล 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15 MHz

แต่ล่าสุด ตนเองกลับทราบข่าวจาก พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช.ว่า ดีแทคมีเงื่อนไขแลกต่อการเปิดประมูล 3 ใบอนุญาตๆ ละ 10 MHz แทน ซึ่งหากเงื่อนไขเพิ่มเติมจากดีแทคเป็นตามนั้นจริงถือเป็นสิ่งที่ กสทช. รับไม่ได้ และจะไม่มีการเจรจา หรือพูดคุยใดๆ กับดีแทคอีก เพราะถือว่าเป็นเอกชนที่ไม่มีความจริงใจ

“ผมงงกับดีแทคมาก ตอนแรกก็บอกจะคืนคลื่นทั้งหมดที่ไม่ได้ใช้งาน 25 MHz เพื่อให้มีใบอนุญาตหลายๆ ใบ ให้ กสทช.จัดสรรโดยไม่ต้องประมูล ต่อมา ก็เปลี่ยนเป็น 10 MHz ล่าสุด ส่งหนังสืออย่างเป็นทางการผ่าน กสท มาขอคลื่น 5 MHz โดยระบุว่า ต้องการช่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ แต่พอมาวันนี้กลับต้องการให้เปิดประมูล 3 ใบอนุญาต คือ เท่ากับผู้ประกอบการที่มีอยู่ในตลาด มันก็จะไม่เกิดการแข่งขัน ประเทศจะได้อะไร”

ด้าน พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค. กล่าวว่า เห็นด้วยหากสำนักงาน กสทช.เสนอนโยบายการป้องกันการกักตุนคลื่นความถี่เพื่อก่อให้เกิดการใช้ความถี่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในระยะเริ่มต้นนี้จะได้มีการกำหนดนโยบายการกำหนดเพดานถือครองคลื่นเป็นเงื่อนไขในการประมูล โดยอาจจะมีการกำหนดให้เงื่อนไขหนึ่งของผู้ชนะการประมูลที่จะต้องมีคลื่นความถี่ที่ใช้งานทั้งที่มีสิทธิใช้งานอยู่เดิม และที่ชนะในการประมูลจะต้องมีไม่เกิน 60x2 MHz ทั้งนี้ ในวันที่เข้าประมูลผู้ที่เข้าร่วมประมูลที่มีสิทธิใช้ความถี่เกินเพดานถือครองคลื่นสามารถเข้าร่วมประมูลได้ แต่เมื่อชนะการประมูลแล้วจะต้องมีการสละสิทธิการใช้คลื่นที่มีอยู่เดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น