สาวประเภทสอง ยื่นศาลปกครองฟ้อง มธ. หลังมีคำสั่งไม่เห็นชอบว่าจ้างเป็นอาจารย์ ทั้งที่สอบผ่าน โวยเลือกปฏิบัติอ้างเรื่องโพสต์ภาพไม่เหมาะสม ขอศาลเพิกถอนคำสั่ง และให้มหาวิทยาลัยชดใช้ค่าสินไหม-เสียโอกาส หวังให้คดีเป็นบรรทัดฐานความเท่าเทียมเรื่องเพศ โยงถึงร่าง รธน.ที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้
วันนี้ (12 ต.ค.) นายเคท ครั้งพิบูลย์ สาวประเภทสอง พร้อมนายนคร ชมพูชาติ ทนายความ เข้ายื่นฟ้อง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย (ก.บ.ม.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-2 ต่อศาลปกครองกลาง ในข้อหาใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง จากกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีมติไม่เห็นชอบให้ว่าจ้างนายเคท เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ในตำแหน่งอาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ทั้งที่สอบผ่านข้อเขียนและสัมภาษณ์ โดยอ้างกรณีที่นายเคทได้โพสต์ภาพลิปสติกที่มีลักษณะคล้ายอวัยวะเพศชายผ่านสื่อออนไลน์ จึงเห็นว่ามีพฤติกรรมการแสดงออกด้วยการใช้ถ้อยคำผ่านสื่อสาธารณะในลักษณะที่ไม่เหมาะสมและส่งผลต่อภาพลักษณ์ของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ ในคำฟ้องระบุว่า ภาพลิปสติกดังกล่าวเป็นของฝากจากประเทศญี่ปุ่น เป็นการโพสต์เพื่อขอบคุณผู้ที่ซื้อฝากและเป็นการสื่อถึงเรื่องเพศวิถี ซึ่งประเทศญี่ปุ่นมักจะใช้เรื่องเพศวิถีเป็นแรงบันดาลใจในการผลิตสินค้า อีกทั้งตามปกติผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ที่ใช้สื่อออนไลน์ในการให้ข้อมูลเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน ความหลากหลายทางเพศวิถี เพศสภาพ เพราะได้มีประสบการณ์ทำงานวิชาการในเรื่องดังกล่าว ดังนั้นจึงเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีมีทัศนคติเรื่องเพศที่ตายตัว มองความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องผิดปกติ รวมทั้งการที่ผู้ถูกฟ้องคดีนำสื่อออนไลน์มาเป็นดุลพินิจในการพิจารณานั้น ถือเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว เป็นการเลือกปฏิบัติ ดังนั้นจึงขอให้ศาลปกครองสั่งเพิกถอนมติ ก.บ.ม. ครั้งที่ 5/2558 เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2558 และมติ ก.บ.ม. ครั้งที่ 10/2558 เมื่อวันที่ 22มิ.ย. 2558 ที่มีมติไม่เห็นชอบจ้างนายเคทเป็นอาจารย์ และให้ศาลสั่งให้ ก.บ.ม.รับนายเคทเป็นอาจารย์คณะสังคมศาสตร์ พร้อมให้ทางมหาวิทยาลัยชดใช้ค่าสินไหมแก่นายเคทเป็นเงิน 363,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น รวมทั้งให้ชดใช้ค่าเสียโอกาสแก่นายเคท ในอัตราเดือนละ 23,700 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่า ก.บ.ม.จะรับนายเคท เป็นอาจารย์ในคณะดังกล่าว
นายเคทกล่าวว่า หวังว่าคดีของตนจะเป็นบรรทัดฐานให้สังคมไทยเข้าใจสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ อีกทั้งในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังร่างอยู่นั้นตนต้องการให้ระบุถึงสิทธิทางเพศเพราะเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใส่ลงข้อกฎหมายที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ
ด้านนายนคร ชมพูชาติ ทนายความ กล่าวว่า คดีนี้เป็นการตรวจสอบแนวคิดการวินิจฉัยการใช้ดุลยพินิจรับคนเข้าทำงาน โดยการตรวจสอบครั้งนี้เพื่อให้เห็นเหตุผลชัดเจนขึ้น แม้มหาวิทยาลัยจะการอ้างหลักพิจารณาต่างๆ แต่ต้องมองเรื่องทางเพศวิถีในการประกอบการพิจารณาด้วย ตนหวังให้ศาลปกครองช่วยทำให้สังคมเห็นถึงความซับซ้อนต่างๆ