xs
xsm
sm
md
lg

มาดูนโยบายล่าสุด “บิ๊กตู่” มาจากไหน?? หลัง ผุดไอเดีย “เหมืองเก็บน้ำ-นำน้ำทะเลทำน้ำจืด” แก้ภัยแล้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกมาเสนอแนวคิดในแก้ไขปัญหาเรื่องปริมาณน้ำ
มาดูนโยบายล่าสุด “บิ๊กตู่” มาจากไหน?? หลัง ผุดไอเดีย “ทำเหมืองน้ำเค็มเก็บน้ำ - นำน้ำทะเลมาทำน้ำจืด” เป็นมาตรการรองรับภัยแล้ง เผย “เหมืองน้ำเค็มเก็บน้ำ” เป็นแนวคิดเดิมของ อดีตรมว.อุตสาหกรรม ที่เคยส่งข้อมูล “ขุมเหมือง” มาเป็นแหล่งเก็บน้ำ เล็งเมืองร้างภาคเหนือ 68 แปลง กักเก็บน้ำได้มากถึง 150 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นแหล่งน้ำ 238 ประทานบัตร ส่วนแนวคิดนำน้ำทะเลมาทำน้ำจืด สอดรับ “ธุรกิจอีสท์วอเตอร์”

วันนี้ (8 ต.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกมาเสนอแนวคิดในแก้ไขปัญหาเรื่องปริมาณน้ำ ที่อาจไม่เพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภค เนื่องจากปีนี้ฝนตกน้อยอาจจะเกิดขึ้นกับภาคเกษตรกร รวมไปถึงปริมาณน้ำอุปโภคและบริโภคจะน้อยลง

โดยนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ “คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ” ไปหาทางออก โดยนายกฯเสนอ 2 แนวคิด ให้ไปศึกษาตัวอย่างของต่างประเทศ ไปคิดว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการบริหารจัดการน้ำ
ได้แก่

1. อาจทำเหมืองน้ำ เพื่อเจาะน้ำใต้ดินมาเก็บไว้เป็นคลังน้ำ
2. อาจทำแบบต่างประเทศที่นำน้ำทะเลมาทำน้ำจืดใน 30 - 50 ปีข้างหน้า

ทำเหมืองน้ำ เพื่อเจาะน้ำใต้ดินมาเก็บไว้เป็นคลังน้ำ

ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ตรวจสอบพบ “นโยบายเหมืองน้ำ” ในสมัย “นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เคยระบุว่า มีแนวคิดที่จะใช้พื้นที่ “ขุมเหมืองทั่วประเทศฟื้นฟูเป็นแหล่งเก็บน้ำใช้ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและชุมชน”

มีรายงานว่า ในคราวการประชุม ครม. สัญจร ที่จังหวัดเชียงใหม่ คณะนายจักรมณฑ์ ได้เดินทางลงพื้นที่ไปยังเหมืองแร่หินปูนของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ที่จังหวัดลำพูน เพื่อหารือแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ขุมเหมืองในส่วนที่หมดอายุสัมปทานไปแล้วพัฒนาให้เป็นแหล่งเก็บน้ำ

นายจักรมณฑ์ กล่าวไว้ว่า การออกใบอนุญาตทำเหมืองแร่จะมีข้อบังคับไว้ว่า เมื่อทำเหมืองเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะต้องมีการฟื้นฟูพื้นที่เหมืองทั้งหมดให้เป็นไปตามข้อบังคับ อาทิ ปลูกป่าเป็นแหล่งเก็บน้ำเพื่อใช้ในยามหน้าแล้ง และรองรับปริมาณน้ำฝน โดยพื้นที่ขุมเหมืองในภาคเหนือจะมีปริมาตรรับน้ำได้ถึง 150 ล้านลูกบาศก์เมตร เหมาะสมที่จะนำร่องเป็นพื้นที่แรก “เดิมทีเมื่อเหมืองหมดอายุสัมปทานแล้วก็จะปล่อยร้าง อย่างเหมืองดีบุกที่ จ.ระนอง ก็ร้างมาก่อน ต่อมาก็มีเอกชนเข้ามาซื้อเหมืองร้างพัฒนาเป็นสนามกอล์ฟ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมเองก็ไม่ต้องการให้เป็นพื้นที่รกร้าง ก็เลยออกกฎบังคับผู้รับสัมปทานต้องเข้ามาฟื้นฟูพื้นที่ภายหลังหยุดกิจการเหมืองแล้ว”

อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการเหมืองร้างจะต้องดูขนาด - ลักษณะของเหมือง ว่า มีการขุดลึกขนาดไหน คันดินกั้นโดยรอบหนาแน่นหรือไม่ เพราะหากคันดินไม่แน่นแล้วเกิดน้ำล้นจะส่งผลกระทบอื่นตามมา เช่น คันดินทลาย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจการทำเหมืองแร่ทั่วประเทศ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงแล้ง เบื้องต้นนายกรัฐมนตรีรับทราบการดำเนินการของกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว

มีรายงานด้วยว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) โดย นายสุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดี กพร. ได้ส่งข้อมูลเหมืองที่หมดอายุสัมปทาน ขนาดพื้นที่ และความสามารถในการรับน้ำ ให้กับนายจักรมณฑ์แล้ว โดยได้รวบรวมตำแหน่งที่ตั้ง “ขุมเหมืองเก่า” ในต่างจังหวัด จากนั้นจะทำแผนที่ขุมเหมืองแบบละเอียด ประเมินความเป็นไปได้จากเอกชนเพื่อเสนอต่อ ครม. ภายในเดือนนี้ เบื้องต้นนายจักรมณฑ์ต้องการให้พัฒนาฟื้นฟูขุมเหมืองร้างในภาคเหนือก่อน โดยจะสามารถกักเก็บน้ำได้มากถึง 150 ล้านลูกบาศก์เมตร

ในทางปฏิบัติจะมีการแบ่งขุมเหมืองออกเป็น 2 ลักษณะ คือ หากเป็นขุมเหมืองที่ไม่มีสารปนเปื้อนจะเก็บกักน้ำเพื่อใช้อุปโภค - บริโภค โดยให้การประปาส่วนภูมิภาคเป็นหน่วยเข้างานดูแล ภายใต้การกำกับของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าน้ำนั้นสามารถใช้ดื่มได้หรือไม่ กับอีกส่วนคือการนำน้ำในขุมเหมืองไปใช้ในการเกษตรโดยจะให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้ามาดูแล

“การลงทุนเพื่อพัฒนาขุมเหมืองจะใช้งบประมาณของหน่วยงานที่เข้ามาดูแล คือ กระทรวงมหาดไทย กับกระทรวงเกษตรฯ เรื่องการฟื้นฟูเหมืองเป็นเรื่องที่กรมปฏิบัติตามแผนงานที่วางเอาไว้แล้ว ตามเงื่อนไขหมดประทานบัตรต้องฝังกลบแล้วปลูกต้นไม้ทดแทน แต่บางจังหวัดก็ขอให้ทำเป็นที่เก็บน้ำ บางจังหวัดขอให้ทำเป็นพื้นที่สาธารณะ”

ทั้งนี้ สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต (สรข.) รายงานเข้ามาว่า ทั่วประเทศมีพื้นที่เหมืองแร่ที่สามารถใช้เป็นแหล่งน้ำได้ทั้งสิ้น 238 ประทานบัตร ปรากฏเป็นกลุ่มเหมืองแร่ในแผนที่จำนวน 36 แห่ง มีปริมาตรน้ำรวมทั้งสิ้นประมาณ 166,019,100 ลบ.ม. แบ่งเป็น

1) ภาคเหนือ (เชียงใหม่ - พะเยา - ลำปาง - ลำพูน) จำนวนประทานบัตร 68 แปลง กลุ่มเหมืองแร่ตามที่ปรากฏในแผนที่ 7 แห่ง ปริมาตรน้ำ 129,569,000 ลบ.ม.

2) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ขอนแก่น - นครราชสีมา - บุรีรัมย์ - เลย - ศรีสะเกษ - สุรินทร์ - หนองบัวลำภู - อุบลราชธานี) จำนวนประทานบัตร 47 แปลง กลุ่มเหมืองแร่ตามที่ปรากฏในแผนที่ 12 แห่ง ปริมาตรน้ำ 11,039,300 ลบ.ม.

3) ภาคกลาง (นครสวรรค์ - เพชรบูรณ์) จำนวนประทานบัตร 8 แปลง กลุ่มเหมืองแร่ตามที่ปรากฏในแผนที่ 3 แห่ง ปริมาตรน้ำ 1,790,000 ลบ.ม.

4) ภาคตะวันออก (จันทบุรี - ชลบุรี - ปราจีนบุรี - สระแก้ว) จำนวนประทานบัตร 36 แปลง กลุ่มเหมืองแร่ตามที่ปรากฏในแผนที่ 4 แห่ง ปริมาตรน้ำ 809,600 ลบ.ม.

5) ภาคตะวันตก (กาญจนบุรี - ตาก - ประจวบคีรีขันธ์ - เพชรบุรี - ราชบุรี) จำนวนประทานบัตร 32 แปลง กลุ่มเหมืองแร่ตามที่ปรากฏในแผนที่ 4 แห่ง ปริมาตรน้ำ 8,715,200 ลบ.ม.

และ 6) ภาคใต้ (ตรัง - นครศรีธรรมราช - นราธิวาส - พังงา - ภูเก็ต - ยะลา - สงขลา) จำนวนประทานบัตร 47 แปลง กลุ่มเหมืองแร่ตามที่ปรากฏในแผนที่ 6 แห่ง ปริมาตรน้ำ 14,096,000 ลบ.ม.

ขณะที่ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ส่งเจ้าหน้าที่ ลงสำรวจพื้นที่การทำเหมืองทั่วประเทศ เพื่อนำเหมืองที่ปิดกิจการ หรือปิดการสำรวจ หรือปิดการดำเนินการไปแล้วมาจัดทำ เป็นพื้นที่รับน้ำ หรือพื้นที่กักเก็บน้ำ เพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรทั่วประเทศได้ เบื้องต้นในพื้นที่ภาคเหนือใน 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง มีพื้นที่เหมืองที่สามารถกักเก็บน้ำได้มากถึง 20 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยนายกรัฐมนตรีและครม.ได้รับทราบแนวทางของกระทรวงอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม การใช้พื้นที่เหมืองมากักเก็บน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้งนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถใช้ได้ทุกเหมืองทั่วประเทศ เหมืองที่มีแร่ไซยาไนต์ หรือที่มีตะกั่ว หรือสารอันตราย กระทรวงอุตสาหกรรมจะไม่เข้าไปดำเนินการ แต่จะเน้นเหมืองที่มีลักษณะเป็นเหมืองหินปูนเท่านั้น หรือเหมืองอื่น ๆ ที่ไม่มีสารอันตรายต่อชีวิต โดยหากพบว่าเหมืองใดที่เหมาะสม ก็ต้องหารือกับกรมชลประทาน เพื่อประสานงานในการจัดทำระบบชลประทานต่อไป

“นโยบาย การใช้เหมืองมาทำพื้นที่กักเก็บน้ำหรือรับน้ำนั้น คงต้องไม่สามารถทำได้ทันที หรือทำได้ทันในหน้าแล้งนี้ แต่ถ้าครม.เห็นชอบหรือเห็นด้วยกับโครงการนี้ก็น่าจะดำเนินการได้ทันในหน้าแล้งปีหน้า” นายจักรมณฑ์ กล่าวตอนนั้น และนายกรัฐมนตรีก็สั่งให้ให้มีการต่อยอดให้ ทำเหมืองน้ำ เพื่อเจาะน้ำใต้ดินมาเก็บไว้เป็นคลังน้ำ

ทำแบบต่างประเทศที่นำน้ำทะเลมาทำน้ำจืดใน 30 - 50 ปีข้างหน้า

ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ตรวจสอบพบ “นโยบายนำน้ำทะเลมาทำน้ำจืด” ด้วยว่า ในต่างประเทศ พบตัวอย่างบริษัท IDE Technologies Ltd. ของประเทศอิสราเอล ที่มีส่วนร่วมในการสร้างและบำรุงรักษาโรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา โดยจะใช้เทคโนโลยี REVERSE OSMOSIS ของบริษัท ภายใต้ข้อตกลงมูลค่ารวมทั้งสิ้นถึง 650 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ขณะที่ทางการสิงคโปร์ พบว่า มีการแปลงน้ำทะเลเป็นน้ำจืดผ่านกระบวนการกำจัดเกลือออกจากน้ำทะเล (Desalination) ซึ่งมีโรงผลิตขนาดใหญ่อยู่บริเวณเขื่อนปากแม่น้ำที่ชื่อ Marina Barriage

ในส่วนของประเทศไทย ในปัจจุบันก็มีการผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่เป็นเกาะ ทั้งเกาะล้าน เกาะสีชัง และเกาะสมุย เพื่อช่วยให้ชุมชนที่อาศัยในเขตทะเลและพื้นที่เกาะต่าง ๆ มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ หนึ่งในโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในพื้นที่เกาะสมุย อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี แหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่ทำรายได้ให้ประเทศกว่าปีละ 12,000 - 18,000 ล้านบาท ดำเนินการโดย บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ ซึ่งมีกำลังผลิตน้ำในปัจจุบันมากถึง 3,000 ลบ.ม. ต่อวัน

มีบทความเผยแพร่ใน “เว็บไซต์อีสท์วอเตอร์” พบว่า มีบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) เข้ามาตั้งโรงงานผลิตน้ำจืดจากทะเลป้องกันน้ำแล้งบนเกาะสมุย - เกาะช้าง เมื่อปี 2548 ขณะที่ บริษัท ยูนิเวอร์แซล ยูทีลิตี้ส์ จำกัด (ยูยู) บริษัทในเครืออีสท์วอเตอร์ ก็เข้ามาลงทุนผลิตน้ำจืดจากทะเลเช่นกัน ต่อเนื่องมาถึงปี 2558

จากบทสัมภาษณ์ของ นายกฤษฎา มหาสันทนะ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ยูนิเวอร์แซล ยูทีลิตี้ส์ จำกัด (ยูยู) บริษัทในเครืออีสท์วอเตอร์ ระบุถึงการผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลจำหน่ายให้กับการประปาส่วนภูมิภาคในเมืองท่องเที่ยว มีโรงงานผลิตอยู่ที่เกาะสมุย กำลังการผลิต 3,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) / วัน และเกาะล้าน จังหวัดชลบุรี มีกำลังการผลิต 300 ลบ.ม. / วัน

อีกบทความหนึ่งเป็นบทสัมภาษณ์ “นายกฤษฎา” เช่นกันระบุว่า กระบวนการผลิตน้ำอาร์โอนั้นมีต้นทุนที่สูงกว่าน้ำประปาปกติ เพราะต้องใช้ไฟฟ้าในปริมาณที่สูง แต่เนื่องจากปัญหาภัยแล้งบวกกับธุรกิจการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วบนเกาะ ทำให้มีความต้องการในการใช้น้ำสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ การผลิตน้ำประปาด้วยระบบอาร์โอจึงถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำประปาบนเกาะได้

สำหรับการผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลด้วยระบบอาร์โอ หรือ รีเวอร์ส ออสโมซิล ทำได้ด้วยการสูบน้ำทะเลมาเก็บไว้ที่บ่อรับน้ำเพื่อเข้าสู่ระบบการกรองเบื้องต้น จากนั้นจึงกรองทรายเพื่อคัดสิ่งเจือปนที่มากับน้ำทะเล พร้อมเติมสารเคมีกำจัดสาหร่ายและสารจุลชีพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกรองของเยื่อเมมเบรน ซึ่งเป็นแผ่นที่มีรูละเอียดมาก โดยขั้นตอนนี้จะลดปริมาณความเค็ม ลดฟลูออไรด์ ลดความกระด้างของน้ำ ทั้งยังกำจัดสารอินทรีย์และจุลินทรีย์ต่างๆออกจากน้ำทะเล โดยใช้เครื่องอัดฉีดน้ำแรงดันสูง ทำให้น้ำทะเลกลายเป็นน้ำจืด จากนั้นจึงเติมคลอรีนในอัตราส่วนที่พอเหมาะเพื่อฆ่าเชื้อโรค โดยสารจากคลอรีนที่ใช้จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด หลังจากผ่านขั้นตอนดังกล่าว เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบวิเคราะห์คุณภาพน้ำเพื่อให้มั่นใจว่าน้ำประปาที่ผลิตได้ผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เมื่อตรวจสอบว่าปลอดภัยจึงจะสูบน้ำจากถังน้ำใสไปตามแนวท่อที่เชื่อมประสานกับท่อน้ำหลักเพื่อส่งจ่ายให้ชุมชนต่อไป

ส่วนน้ำเค็มที่ถูกคัดทิ้งออกมาจะเข้าสู่บ่อปรับสภาพน้ำเพื่อปรับให้มีปริมาณความเค็มที่พอเหมาะและระบายกลับสู่ทะเล การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลอาจเป็นทางเลือกใหม่ในการต่อสู้กับปัญหาการขาดแคลนน้ำ ที่สามารถนำมาใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ทั้งยังเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่จากแหล่งเดิมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งกำลังลดถอยลงไปทุกวันจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ การผลิตน้ำจืดจากน้ำเค็มจะช่วยให้มั่นใจได้ว่าทรัพยากรที่มีอยู่ไม่จำกัดอย่างน้ำทะเล จะสามารถนำมาใช้อย่างปลอดภัยได้จริง ถือเป็นแหล่งน้ำอีกหนึ่งทางเลือกที่อาจพัฒนาจนกลายเป็นแหล่งน้ำหลักได้ในอนาคต

ขณะที่เว็บไซต์ TED Thai เผยแพร่คลิปวิดีโอ ดาเมียน พาลิน (Damian Palin) นักทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพด้านเหมือง : การทำเหมืองจากน้ำทะเล Filmed February 2012 at TED2012
Thai translation by Unnawut Leepaisalsuwanna, reviewed by Wisuwat Songnuan.

“โลกยังต้องการน้ำสะอาดอีกมาก ทุกวันนี้เราสามารถดูดน้ำจากท้องทะเล นำมาแยกเกลือออก แล้วนำน้ำนั้นมาใช้อุปโภคบริโภค แต่น้ำเค็มเข้มข้นที่หลงเหลือจากการผลิตน้ำจืดล่ะ เราจะจัดการกับมันอย่างไร ในการพูดครั้งนี้”

“TED Fellow ดาเมียน พาลิน จะนำเสนอไอเดียล่าสุด นั่นก็คือการนำน้ำเค็มเข้มข้นมาถลุงเอาแร่ธาตุที่สำคัญ ด้วยความช่วยเหลือเล็กน้อยจากแบคทีเรียที่ชอบเคี้ยวธาตุเหล็กเป็นอาหารว่าง”

https://www.ted.com/talks/damian_palin_mining_minerals_from_seawater?language=th

ผมได้ทำงานร่วมกับแบคทีเรีย นี่คือ รูปสตอปโมชันที่ผมถ่ายเมื่อไม่นานมานี้ นี่คือ รูปสตอปโมชันที่ผมถ่ายเมื่อไม่นานมานี้ คุณจะเห็นแบคทีเรียพยายามสะสมเกลือแร่ จากรอบ ๆ ตัวมัน ภายในหนึ่งชั่วโมง

ภาพที่คุณเห็นนี้ มันกำลังเผาผลาญอาหารอยู่ และระหว่างนั้น พวกมันจะสร้างประจุไฟฟ้าขึ้น ซึ่งดึงดูดธาตุโลหะ จากสภาพแวดล้อมรอบตัวมัน และธาตุโลหะเหล่านี้สะสมเป็นเกลือแร่ เกาะอยู่บนพื้นผิวของแบคทีเรีย

หนึ่งในปัญหาใหญ่ ก็คือ การเข้าถึงน้ำสะอาด ก็คือ การเข้าถึงน้ำสะอาด ที่ใช้อุปโภคบริโภคได้ และกระบวนการ desalination หรือการแยกเกลือออกจากน้ำ เพื่อใช้ผลิตน้ำดื่ม และใช้ในเกษตรกรรม การแยกเกลือออกจากน้ำ โดยเฉพาะน้ำทะเล ด้วยวิธี รีเวอร์สออสโมซิส (reverse osmosis) นั้น เป็นวิธีการหลักในการผลิตน้ำประปา สำหรับประเทศที่ไม่มีน้ำสะอาดใช้ สำหรับประเทศที่ไม่มีน้ำสะอาดใช้

รีเวอร์สออสโมซิส เป็นเทคโนโลยีการกรองโดยใช้แผ่นเยื่อ (membrane) เรานำน้ำจากทะเล มาเพิ่มแรงดัน แรงดันนี้ผลักให้นำทะเล ทะลุผ่านแผ่นเยื่อที่ว่า ซึ่งต้องใช้พลังงานพอสมควร ในการผลิตน้ำดื่ม แถมเรายังได้น้ำเค็มเข้มข้นแถมมาด้วย

แต่กรรมวิธีนี้เป็นวิธีที่แพงมาก ซึ่งหลาย ๆ ประเทศไม่สามารถรับค่าใช้จ่ายได้ และน้ำเค็มที่มีความเข้มข้นสูงนี้ ก็มักถูกปล่อยคืนสู่ท้องทะเล ซึ่งมันมีผลกระทบต่อระบบนิเวศท้องทะเล ในบริเวณที่น้ำเค็มถูกปล่อยเป็นอย่างมาก

ตอนนี้ผมทำงานอยู่ที่สิงคโปร์ ซึ่งประเทศผู้นำในด้านเทคโนโลยีการแยกเกลือออกจากน้ำ สิงคโปร์วางแผนว่า ภายในปี ค.ศ. 2060 จะสามารถแปลงน้ำเค็มให้เป็นน้ำจืด ได้กว่า 900 ล้านลิตรต่อวัน ในทางกลับกัน ก็จะมีน้ำเค็มเข้มข้น ถูกผลิตออกมาในปริมาณมากเหมือนกัน และนี่คือที่ที่การร่วมงานของผมกับแบคทีเรียเกิดขึ้น

สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในขณะนี้ คือ เรากำลังเก็บสะสมธาตุโลหะ เช่น แคลเซียม โปแตสเซียม และแมกนีเซียม ออกจากน้ำเค็มเข้มข้นที่ได้จากการแยกเกลือ และถ้าพูดถึงแค่แมกนีเซียม กับปริมาณน้ำ 900 ล้านลิตรที่ผมบอกไป สามารถคิดเป็นมูลค่าแร่ธาตุ กว่า 4.5 พันล้านดอลลาร์ สำหรับสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติเลย

ผมอยากให้คุณจินตนาการถึงอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ในแบบที่คุณไม่เคยเห็นมาก่อน ลองนึกถึงเหมืองแร่ ที่ไม่ต้องขุดเจาะพลิกแผ่นดินขึ้นมา ลองนึกภาพว่าแบคทีเรียช่วยเราเก็บเกี่ยวแร่ โดยเก็บสะสม การตกผลึก และทำให้แร่ธาตุเหล่านั้นตกตะกอน จากน้ำเค็มที่เข้มข้น ที่คุณเห็นอยู่นี้ คือ จุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมใหม่ ภายในหลอดทดลองเล็ก ๆ คือ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม.


“นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เคยระบุว่า มีแนวคิดที่จะใช้พื้นที่ “ขุมเหมืองทั่วประเทศฟื้นฟูเป็นแหล่งเก็บน้ำใช้ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและชุมชน”
แนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ขุมเหมืองในส่วนที่หมดอายุสัมปทานไปแล้วพัฒนาให้เป็นแหล่งเก็บน้ำ
โครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลขนาดใหญ่ ของอีสท์วอเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น