จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่ภาครัฐได้ส่งเสริมการดำเนินโครงการเหมืองแร่โพแทชในไทย เนื่องจากคาดการณ์ว่ามีปริมาณแร่มหาศาลและเป็นฐานอุตสาหกรรมใหม่ได้หลากหลาย นอกเหนือจากการนำไปผลิตเป็นปุ๋ยที่ใช้ในภาคการเกษตรแล้วยังสามารถใช้เป็นส่วนประกอบของอุตสาหกรรมยา ผงซักฟอก สบู่ รวมทั้งพลาสติก เป็นต้น
ที่ผ่านมาได้ออกใบอนุญาตประทานบัตรการทำเหมืองโพแทช 2 แห่ง คือ บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด(มหาชน) ที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ และ บริษัท ไทยคาลิ จำกัด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ขณะเดียวกันมีคำขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ ทั้งสิ้น 6 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม สกลนคร ชัยภูมิ อุดรธานี
“แท้จริงแล้วแร่โพแทช เป็นธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับการผลิตเป็นแม่ปุ๋ยและไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ขอให้มั่นใจได้ว่า เมื่อดำเนินโครงการแล้วจะมีความคุ้มค่าทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม โดยประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเมื่อสามารถผลิตโพแทชได้ราวปี 2561 เกษตรกรจะได้ปุ๋ยในราคาที่ถูกลง ร้อยละ 15 และประหยัดการนำเข้าปุ๋ยโพแทชปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท”
ส่วนชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงโครงการจะได้รับประโยชน์ประมาณ 5,000 ล้านบาท มีทั้ง 1) กองทุนที่รัฐบาลจัดให้ตามกฎหมาย 5,000 ล้านบาท เช่น กองทุนวิจัยโครงการทำเหมืองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กองทุนเพื่อสนับสนุนการร่วมตรวจสอบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสำรองค่าใช้จ่ายการปิดเหมือง รวมทั้ง 2) กองทุนที่จัดให้ชุมชนโดยสมัครใจ 3,100 ล้านบาท เช่น กองทุนเพื่อการติดตามตรวจสอบเวลามีปัญหาในพื้นที่ กองทุนเพื่อการชดเชย กองทุนเพื่อการส่งเสริมประโยชน์ชุมชน เงินช่วยเหลือประชาชนด้านการเฝ้าระวังสุขภาพ การพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ เงินช่วยเหลือครัวเรือนในพื้นที่ ทุนการศึกษาเยาวชน กองทุนสวัสดิการชุมชน และกองทุนประกันความเสี่ยง รวมถึงเงินช่วยเหลือเรื่องค่าปุ๋ย ซึ่งถือเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพที่จะช่วยดูแลและพัฒนาท้องถิ่นรอบๆพื้นที่ทำเหมือง
โดยปัจจุบันมี 2 กองทุนที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว คือ กองทุนสนับสนุนโครงการวิจัยกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นที่ปรึกษาของกลุ่ม เพื่อศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในประเด็นข้อขัดแย้งต่างๆ และกองทุนค่าตอบแทนพิเศษแก่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่ประทานบัตร หรือ “ ค่าลอดใต้ถุน” เฉลี่ยที่ดิน 1 ไร่ จะได้รับเงินตลอดอายุโครงการรวมประมาณ 48,000 บาท โดยใช้เงินจากงบประมาณโครงการที่ได้จัดสรรไว้ เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์โดยมีช่วงระยะเวลาการจ่าย เช่น เมื่อทำการรังวัดเสร็จ จะจ่ายให้กับเจ้าของที่ดินอัตราไร่ละ 1,000 บาท / เมื่อได้รับอนุญาตประทานบัตรจะจ่ายให้เจ้าของที่ดินอัตราไร่ละ 1,500 บาท / ในระยะก่อสร้าง จะจ่ายให้เจ้าของที่ดิน อัตราไร่ละ 500 บาทต่อปี และในระยะเวลาทำเหมือง จะจ่ายให้เจ้าของที่ดินในอัตราไร่ละ 2,000 บาทต่อปี ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการจ่ายเงินให้กับเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่ประทานบัตรแล้ว จำนวน 826 ราย เป็นเงินทั้งหมด 9,107,120 บาท และบริจาคให้กับสถานศึกษา จำนวน 3 โรงเรียน เป็นเงิน 70,400 บาท
ทั้งนี้ ภาครัฐก็จะได้รับผลประโยชน์จากโครงการประมาณ 29,500 ล้านบาท โดยมีรายได้จากค่าภาคหลวง ผลประโยชน์พิเศษเพื่อรัฐ เงินโบนัส และเงินสนับสนุนการศึกษารัฐ” จักรมณฑ์ กล่าวในที่สุด