กระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศให้ตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2558 หลังรับทราบคำสั่ง “ศาลปกครองกลาง” พิพากษาให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาสั่งการกรณีบริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ขอย้ายโรงงานน้ำตาลจากจังหวัดอุตรดิตถ์ไปสุโขทัย และการขอขยายกำลังการผลิตจาก 18,000 เป็น 25,000 ตันอ้อยต่อวัน
วันนี้ (18 ส.ค.) มีรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการให้ตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2558 ว่า
“โดยที่เป็นการสมควรให้มีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการให้ตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อให้มีจํานวนโรงงานน้ำตาลที่เหมาะสมต่อการส่งเสริมและรองรับปริมาณการปลูกอ้อยเพื่อเป็นวัตถุดิบส่งเข้าสู่การผลิตของโรงงานน้ำตาลและสามารถบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมของประเทศ ทําให้เกิดผลดีกับชาวไร่อ้อยและระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศ
ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๓๒ (๑) และ (๒) แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ในประกาศนี้
“โรงงานน้ำตาล” หมายความว่า โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับน้ำตาลซึ่งทํามาจากอ้อยตามประเภทหรือชนิดของโรงงานในลําดับที่ ๑๑ (๓) และ (๔) ตามที่ระบุในบัญชีท้ายกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕
“ตั้งโรงงานน้ำตาล” หมายความว่า ตั้งโรงงานน้ำตาลขึ้นใหม่ และให้หมายความรวมถึงย้ายโรงงานน้ำตาลไปตั้งยังที่อื่นด้วย
ข้อ ๒ การตั้งโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ให้กระทําได้เมื่อโรงงานน้ำตาลที่จะตั้งนั้น
(๑) มีเขตโรงงานน้ำตาลที่มีระยะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลที่ได้รับใบอนุญาตไว้แล้วไม่น้อยกว่าห้าสิบกิโลเมตร โดยการวัดระยะเป็นเชิงเส้นตรง ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นท้องที่ในจังหวัดเดียวกันหรือไม่ก็ตาม และ
(๒) มีแผนการเตรียมปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาอ้อยเข้าสู่โรงงานน้ำตาลไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของกําลังการผลิตของฤดูการผลิตนั้น ๆ โดยกําหนดจํานวนวันหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศเฉลี่ยหนึ่งร้อยยี่สิบวันต่อปี และต้องไม่ใช่อ้อยของเกษตรกรที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาลอื่น โดยแผนการเตรียมปริมาณอ้อยดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยแต่ละฤดูการผลิตหรือการให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อเพื่อดําเนินการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในการทําการเกษตร
ข้อ ๓ การขยายโรงงานน้ำตาลตามมาตรา ๑๘ วรรคสาม (๑) ในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรให้กระทําได้เมื่อโรงงานน้ำตาลที่จะขยายนั้นมีปริมาณอ้อยจากการส่งเสริม และพัฒนาอ้อยของโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่าสามปี อีกทั้งโรงงานน้ำตาลนั้นไม่อาจหีบอ้อยได้ทันตามเวลาที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายตามกฎหมายว่าด้วยอ้อยและน้ำตาลทรายกําหนด อันเนื่องจากกําลังการผลิตเดิมของโรงงานน้ำตาล และต้องมีแผนการเตรียมปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาอ้อยเข้าสู่โรงงานน้ำตาลในส่วนที่จะขออนุญาตขยายโรงงานน้ำตาลด้วยและต้องไม่ใช่อ้อยของเกษตรกรที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาลอื่น แผนการเตรียมปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาอ้อยเข้าสู่โรงงานน้ำตาล ตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยแต่ละฤดูการผลิต หรือการให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อเพื่อดําเนินการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในการทําการเกษตร
ข้อ ๔ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของผู้อนุญาตให้เป็นไปตามข้อ ๒ และข้อ ๓ ผู้ที่จะขอตั้งโรงงานน้ำตาลหรือขยายโรงงานน้ำตาล ต้องมีหลักฐานการรับรองว่าอยู่ในเกณฑ์ตามที่กําหนดไว้ในข้อ ๒หรือข้อ ๓ แล้วแต่กรณี จากสํานักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย
ผู้ขออนุญาตต้องดําเนินการขออนุญาตตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลให้แล้วเสร็จและเริ่มประกอบกิจการภายในห้าปีนับจากวันที่ได้รับการรับรองตามวรรคหนึ่ง หากดําเนินการไม่แล้วเสร็จให้ถือว่าการรับรองสิ้นสุดลง
ข้อ ๕ ให้ผู้ที่ได้รับความเห็นชอบให้ตั้ง หรือย้าย หรือขยายโรงงานน้ำตาลตามมติคณะรัฐมนตรีและได้ยื่นคําขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ดําเนินการแจ้งเริ่มประกอบกิจการโรงงานภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ และมิให้นําหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ในประกาศนี้มาใช้บังคับ
ข้อ ๖ ให้ผู้ที่ได้รับความเห็นชอบให้ตั้ง หรือย้าย หรือขยายโรงงานน้ำตาลตามมติคณะรัฐมนตรีแต่ยังมิได้ยื่นคําขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ และอยู่ในเกณฑ์ตามที่กําหนดไว้ในข้อ ๒ และข้อ ๓ ต้องดําเนินการยื่นคําขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานภายในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ และแจ้งเริ่มประกอบกิจการโรงงานภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๑
ประกาศ ณ วันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘
จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม”
มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 589/2554 หมายเลขแดงที่ 1919/2558 ที่บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด เป็นผู้ฟ้องคดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และบริษัท น้ำตาลทิพย์สุโขทัย จำกัด (บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลอุตรดิตถ์ จำกัด เดิม) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-3 ตามลำดับ เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานประเภทที่ 3 ประกอบกิจการเกี่ยวกับน้ำตาลที่ทำจากอ้อย การทำน้ำตาลทรายดิบ หรือน้ำตาลทรายขาว ในตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งแต่ปี 2517 โดยได้รับอนุญาตหีบอ้อย 18,000 ตันต่อวัน เป็นคู่สัญญากับเกษตรกรผลูกอ้อยในจังหวัดอุตรดิตถ์และสุโขทัยจำนวนกว่า 3,700 ราย
โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่นำเรื่องการขอย้ายโรงงานน้ำตาลไปตั้งที่อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย และขยายกำลังผลิตโรงงานน้ำตาลเป็น 25,000 ตันอ้อยต่อวัน ของผู้ฟ้องคดี เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
สำหรับผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 นั้น มาตรา 6 วรรค 1 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี 2548 กำหนดให้การเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 4 เป็นอำนาจหน้าที่ข่องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม โดยข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในระหว่างกระบวนการพิจารณาคดีนี้ ครม.ได้มีมติเเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2558 ให้ยกเลิกมติ ครม.วันที่ 30 ตุลาคม 2532 (เรื่องการย้ายสถานที่ตั้งและการตั้งโรงงานน้ำตาลทรายใหม่) และให้ยกเลิกมติ ครม.วันที่ 22 ก.ค. 2546 (เรื่อง การแก้ไขปัญหาราคาอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ) ในส่วนของแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาว ข้อ 1.2(5) ของหนังสือกระทรวงอุตสาหกรรม ด่วนที่สุด อก 0626/2740 ลงวันที่ 3 ก.ค. 2546 แล้ว
ทำให้ขั้นตอนการเสนอขอย้ายโรงงานน้ำตาลหรือขยายกำลังการผลิตโรงงานน้ำตาลของผู้ฟ้องคดีเพื่อให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติไม่มีอีกต่อไป ศาลจึงไม่จำเป็นต้องมีคำบังคับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดำเนินการการตามคำขอของผู้ฟ้องคดี และมีผลทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งเป็น “ผู้อนุญาต” ตาม พ.ร.บ.โรงงาน 2535 มีอำนาจพิจารณาว่าจะอออกใบอนุญาตย้ายหรือขยายกำลังการผลิตให้แก่โรงงานน้ำตาลของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ โดยไม่ต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติก่อนอีกต่อไป
ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงต้องรีบพิจารณาสั่งการเรื่องการออกใบอนุญาตย้ายหรือขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลของผู้ฟ้องคดี ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ ใน พ.ร.บ.โรงงาน 2535 ประกอบกับกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การขออนุญาตและการขออนุญาตเกี่ยวกับโรงงานจำพวกที่ 3 พ.ศ. 2549 และประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ให้แก่ผู้ฟ้องคดีต่อไป
พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 พิจารณาสั่งการเรื่องการออกใบอนุญาตย้ายโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ของผู้ฟ้องคดีจากจังหวัดอุตรดิตถ์ไปจังหวัดสุโขทัย และการขอขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลดังกล่าวจากอัตราวันละ 18,000 ตันอ้อยต่อวัน เป็น 25,000 ตันอ้อยต่อวัน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยเร็วต่อไป ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก