xs
xsm
sm
md
lg

ทุกข์ของโรงงานน้ำตาล

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

จากทุกข์ของชาวบ้าน... มาดูทุกข์ของผู้ประกอบการหรือเจ้าของโรงงานกันบ้าง คดีที่นำมาฝากในวันนี้เป็นทุกข์ของผู้ประกอบกิจการโรงงานน้ำตาลที่ประสงค์จะย้ายสถานที่ตั้งโรงงาน ให้เข้าใกล้ชาวไร่อ้อยในพื้นที่เพื่อมิให้โรงงานอื่นมาแย่งลูกค้าของตน แต่ได้ถูกผู้มีหน้าที่ดึงเรื่องไว้เป็นเวลานาน จนต้องมาพึ่งศาลปกครอง คดีนี้ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา ให้โรงงานน้ำตาลชนะคดีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องราวเป็นมาอย่างไร มาดูกันครับ...

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2532 ไม่อนุญาตให้ตั้งโรงงานน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้นใหม่ และอนุญาตให้ย้ายโรงงานจากเขตที่มีปริมาณอ้อยไม่เพียงพอไปสู่เขตที่มีปริมาณอ้อยมากเกินไป โดยให้มีโอกาสขยายกำลังการผลิตได้ตามความเหมาะสมของอ้อยในเขตที่จะไปตั้งใหม่ด้วย ส่วนโรงงานที่มีอยู่เดิมที่ตั้งอยู่ในเขตที่มีปริมาณอ้อยมากเกินกว่ากำลังการผลิตของโรงงาน ก็อนุญาตให้ขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นได้ตามความเหมาะสม และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 ได้เห็นชอบกับแนวทางการแก้ไขอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบในระยะยาวซึ่งเสนอโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งห้ามไม่ให้มีการเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาล กำหนดมาตรการในการจัดการกับกำลังการผลิตส่วนเกินที่ได้รับอนุมัติแล้วแต่ยังไม่ได้ดำเนินการ รวมทั้งกำหนดสถานที่ตั้งของโรงงานให้เหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูกก่อนที่จะห้ามไม่ให้มีการย้ายและขยายโรงงานอีกต่อไป

จากมติดังกล่าวมีผลให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานน้ำตาลที่ประสงค์จะย้ายโรงงานหรือขอขยายกำลังการผลิตต้องดำเนินการ 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรก ผู้ประกอบกิจการต้องยื่นคำขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณามีมติอนุมัติให้ยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2532 และวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 ก่อน ในขั้นตอนนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจะมีหน้าที่ในการเสนอ

คำขอย้ายหรือคำขอขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลต่อคณะรัฐมนตรี โดยมีกระทรวงอุตสาหกรรมเจ้าของเรื่องเป็นผู้กำหนดประเด็นและข้อมูลประกอบการพิจารณา ขั้นตอนที่สอง เป็นขั้นตอนภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการตามคำขอแล้ว ผู้ประกอบกิจการก็ต้องดำเนินการยื่นคำขออนุญาตย้ายโรงงานหรือขยายกำลังการผลิตต่อปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ต่อไป

ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานน้ำตาลตั้งแต่ปี 2517 โดยได้รับอนุญาตให้หีบอ้อยได้ในอัตราวันละ 18,000 ตันอ้อยต่อวัน ต่อมาได้มีการอนุญาตให้บริษัทน้ำตาลแดง (นามสมมติ) ย้ายโรงงานและขยายกำลังการผลิต มาตั้งในพื้นที่ซึ่งเข้าไปอยู่บริเวณกลางพื้นที่ปลูกอ้อยของชาวไร้อ้อยคู่สัญญาของ ผู้ฟ้องคดี ซึ่งอาจทำให้เกิดการแย่งอ้อยกันโดยไม่เป็นธรรม ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นเรื่องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมขอย้ายโรงงานของตนไปยังที่ตั้งใหม่ซึ่งจะเข้าใกล้ชาวไร่อ้อยคู่สัญญาของตนมากขึ้น เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป แต่เรื่องก็เงียบ ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือร้องขอและติดตามอีกหลายครั้ง กระทั่งต่อมาปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีหนังสือแจ้งผู้ฟ้องคดีว่า ได้พิจารณาคำขอแล้วเห็นว่ายังไม่มีเหตุผลเพียงพอ เนื่องจากเป็นการขอย้ายโรงงานที่กำลังการผลิต 18,000 ตันอ้อยต่อวัน ซึ่งเป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตเดิม กรณีจึงมิใช่เป็นการขยายกำลังการผลิต อีกทั้งที่ตั้งใหม่ที่ขอย้ายไปนั้นก็ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การขอย้ายโรงงานที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด คือต้องมีระยะห่างระหว่างโรงงานไม่น้อยกว่า 80 กม

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า เดิมที่ตั้งโรงงานของผู้ฟ้องคดีกับโรงงานน้ำตาลแดงอยู่ห่างกัน 22 กม. แต่หลังจากที่โรงงานน้ำตาลแดงได้รับอนุญาตให้ย้ายที่ตั้งใหม่ ทำให้มีระยะห่างจากโรงงานของผู้ฟ้องคดีเพียง 39 กม. แต่ที่ตั้งโรงงานที่ผู้ฟ้องคดีจะย้ายไปในตำแหน่งใหม่นี้ จะห่างจากโรงงานน้ำตาลแดงถึง 56 กม. หลักเกณฑ์ของกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นไปเพื่อป้องกันมิให้โรงงานที่จะย้ายเข้าไปใหม่แย่งชาวไร่อ้อยคู่สัญญาของโรงงานเดิม แต่กรณีของผู้ฟ้องคดีเป็นการย้ายโรงงานเพื่อเข้าใกล้ชาวไร่อ้อยคู่สัญญาของตนเอง อีกทั้งยังมีการอนุญาตให้โรงงานน้ำตาลแดงย้ายที่ตั้งใหม่ได้ ทั้งที่ระยะห่างระหว่างโรงงานไม่ถึง 80 กม. จึงถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม

จากนั้นผู้ฟ้องคดีก็ได้มีหนังสือร้องขอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อเสนอคำขอย้ายโรงงานและขอขยายกำลังการผลิตต่อคณะรัฐมนตรีหลายครั้ง รวมทั้งได้มีหนังสือติดตามและขอความเป็นธรรม โดยต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีขอให้นำเรื่องของผู้ฟ้องคดีเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา แต่หลังจากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้มีหนังสือขอถอนเรื่องการย้ายสถานที่ของผู้ฟ้องคดีออกจากการพิจารณา โดยให้เหตุผลว่ามีเรื่องในส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการ

ผู้ฟ้องคดีรวมทั้งสมาคมชาวไร่อ้อยฯ ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี ในการสนับสนุนให้ผู้ฟ้องคดีย้ายที่ตั้งโรงงานเพื่อแก้ไขปัญหาค่าขนส่งที่แพงขึ้น จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาความเหมาะสมในการขยายกำลังการผลิตและสถานที่ตั้งของโรงงาน เพื่อจัดทำรายงานความเหมาะสมประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้แจ้งต่อคณะรัฐมนตรีว่า การย้ายและขยายกำลังการผลิตของผู้ฟ้องคดียังไม่ผ่านกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณาของกระทรวงอุตสาหกรรม จึงควรให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับเรื่องนี้ไปพิจารณาก่อน ทำให้ครั้งนั้นมีการอนุมัติให้ขยายกำลังการผลิตของโรงงานอื่นแต่ไม่มีโรงงานของผู้ฟ้องคดี สุดท้ายผู้ฟ้องคดีจึงนำเรื่องมาพึ่งศาลปกครอง

คดีนี้ศาลปกครองกลางได้พิจารณาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว เห็นว่าเมื่อผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอเรื่องการขออนุญาตย้ายโรงงานและขยายกำลังการผลิตให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจึงมีหน้าที่เสนอคำขอของผู้ฟ้องคดีต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป ตามนัยมาตรา 4 วรรคหนึ่ง (9) และมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2548 สำหรับข้ออ้างต่างๆ ที่นำมาปฏิเสธไม่เสนอคำขอของผู้ฟ้องคดีนั้น เป็นข้ออ้างที่ไม่มีเหตุผลและไม่อาจรับฟังได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ให้ผู้ฟ้องคดีต้องเสนอรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อน อันเป็นเรื่องที่อยู่ในชั้นการพิจารณาอนุญาตของปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม จึงไม่อาจเป็นเหตุผลมาปฏิเสธการเสนอคำขอของผู้ฟ้องคดีได้ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมไม่เสนอเรื่องการขอย้ายโรงงานและขยายกำลังการผลิตของผู้ฟ้องคดีจากอัตรา 18,000 ตันอ้อยต่อวัน เป็น 25,000 ตันอ้อยต่อวัน ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา จึงถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม เมื่อระหว่างการดำเนินกระบวนการพิจารณาของศาล คณะรัฐมนตรีได้มีมติยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีทั้งสองครั้งดังกล่าวแล้ว ทำให้ขั้นตอนการเสนอคำขอย้ายโรงงานและขยายกำลังการผลิตให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาไม่มีอีกต่อไป ศาลจึงไม่จำต้องบังคับให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีอีก ดังนั้น ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมจึงต้องรีบพิจารณาสั่งการเรื่องการออกใบอนุญาตย้ายและหรือขยายกำลังการผลิตของผู้ฟ้องคดีตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 โดยเร็วต่อไป (คดีแดงที่ 1919/2558)

คดีนี้... จะยุติที่ศาลปกครองชั้นต้น หรือจะมีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลสูง ต้องติดตามต่อไปครับ

ครองธรรม ธรรมรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น