“จักรมณฑ์” ย้ำเหมืองแร่โปแตชไร้ปัญหา รัฐพร้อมดูแลผลประโยชน์ประชาชนและชุมชนรอบด้าน หลังมีการจัดตั้งกองทุนต่างๆ เยียวยาและดูแลอย่างเป็นระบบ พร้อมเดินหน้า 2 โครงการแล้วที่ จ.ชัยภูมิ และโคราช
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงฯ ได้ออกใบอนุญาตประทานบัตรการทำเหมืองแร่โปแตช 2 แห่ง คือ บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) ที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ และ บริษัทไทยคาลิ จำกัด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ขณะเดียวกันมีคำขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ ทั้งสิ้น 6 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม สกลนคร ชัยภูมิ อุดรธานี
“แร่นี้ไม่ได้มีอันตรายอะไรเลย ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเมื่อสามารถผลิตโปแตชได้ราวปี 2561 เกษตรกรจะได้ปุ๋ยในราคาที่ถูกลง ร้อยละ 15 และประหยัดการนำเข้าปุ๋ยโปแตชปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท” นายจักรมณฑ์กล่าว
ส่วนชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงโครงการจะได้รับประโยชน์ประมาณ 5,000 ล้านบาท มีทั้ง 1) กองทุนที่รัฐบาลจัดให้ตามกฎหมาย 5,000 ล้านบาท เช่น กองทุนวิจัยโครงการทำเหมืองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กองทุนเพื่อสนับสนุนการร่วมตรวจสอบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสำรองค่าใช้จ่ายการปิดเหมือง รวมทั้ง 2) กองทุนที่จัดให้ชุมชนโดยสมัครใจ 3,100 ล้านบาท เช่น กองทุนเพื่อการติดตามตรวจสอบเวลามีปัญหาในพื้นที่ กองทุนเพื่อการชดเชย กองทุนเพื่อการส่งเสริมประโยชน์ชุมชน
ปัจจุบันมี 2 กองทุนที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว คือ กองทุนสนับสนุนโครงการวิจัยกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นที่ปรึกษาของกลุ่ม เพื่อศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในประเด็นข้อขัดแย้งต่างๆ และกองทุนค่าตอบแทนพิเศษแก่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่ประทานบัตร หรือ “ค่าลอดใต้ถุน” เฉลี่ยที่ดิน 1 ไร่ จะได้รับเงินตลอดอายุโครงการรวมประมาณ 48,000 บาท เป็นต้น ทั้งนี้ ภาครัฐก็จะได้รับผลประโยชน์จากโครงการประมาณ 29,500 ล้านบาท โดยมีรายได้จากค่าภาคหลวง ผลประโยชน์พิเศษเพื่อรัฐ เงินโบนัส และเงินสนับสนุนการศึกษารัฐ