โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย “ประยุทธ์” สั่งกระทรวงเกษตรฯ-ศธ.-สธ.ร่วมมือแก้ปัญหานมโรงเรียนบูดครบวงจร หากพบมีทุจริตจะดำเนินการเด็ดขาด แฉโรงงานได้โควตาบางแห่งจ้างรายย่อยไม่ได้มาตรฐาน จ่อฟันฮั้วจัดซื้อจัดจ้างด้วย แย้มกรมปศุสัตว์-อย.และ สธ.จังหวัด ลงพื้นที่ตรวจโรงผลิตใน 2 เดือนนี้ ด้านปลัด กษ.สั่งหน่วยเกี่ยวข้องลงยโสธรดูจุดเกิดเหตุเพื่อสร้างความเชื่อมั่น จ่อเชิญถกขั้นตอนการบริหารโครงการ หาคนรับผิดชอบที่แน่นอน
วันนี้ (4 ต.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีความเป็นห่วงปัญหาที่พบนมโรงเรียนบูดหลายแห่ง หลายจังหวัดในช่วงที่ผ่านมาจึงได้เร่งรัดให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข แก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างครบวงจร เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของเด็กนักเรียน
“หากพบว่าปัญหาเกิดจากการทุจริต รัฐบาลจะดำเนินการอย่างเด็ดขาด เนื่องจากโรงงานผลิตที่ได้รับการจัดสรรโควตานมโรงเรียนบางแห่งไม่ได้มีการจัดส่งจริงแต่ไปจ้างผู้ผลิตรายเล็กๆ ที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือถ้าพบว่าการจัดซื้อจัดจ้างเกิดทุจริตหรือฮั้วกับภาคเอกชนทำให้ได้นมโรงเรียนที่ไม่มีคุณภาพก็จะต้องดำเนินการตรวจสอบ และเอาผิดต่อผู้เกี่ยวข้องเช่นเดียวกัน นายกฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษามากเพราะโครงการนมโรงเรียนถือว่าสำคัญต่อศักยภาพทางร่ายกายและสมองของเด็กไทยดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไขให้ชัดเจนโดยเร็วก่อนเปิดภาคเรียนใหม่” พล.ต.สรรเสริญกล่าว
พล.ต.สรรเสริญกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ล่าสุดทางกรมปศุสัตว์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและสาธารณสุขจังหวัดเตรียมจะบูรณาการทำงานร่วมกันลงพื้นที่ตรวจโรงผลิตนมโรงเรียน 40 แห่งใน 40 จังหวัดช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ซึ่งเป็นช่วงปิดภาคเรียนเพื่อทดสอบคุณภาพ มาตรฐานและให้คำแนะนำโดยหวังว่าในช่วงเปิดเทอมภาคเรียนที่ 2 ปัญหานมบูดจะหมดไป
ขณะที่นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์ กล่าวถึงข่าวการพบนมบูดที่ จ.ยโสธร ว่าได้สั่งให้ปศุสัตว์จังหวัดประสานกับตัวแทนคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ลงพื้นที่ดูจุดเกิดเหตุอย่างเร่งด่วน ส่งตัวอย่างตรวจห้องแล็บหาเชื้อและสาเหตุของการเกิดปัญหาโดยเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อโครงการนมโรงเรียน พร้อมกันนี้ตนจะเชิญเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ ในประเด็นข้อสั่งการขอ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ ที่ได้สั่งให้ดูขั้นตอนการบริหารจัดการในโครงการนมโรงเรียนทั้งหมด และแยกแยะความรับผิดชอบให้ชัดเจน ตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นประชุมมิลค์บอร์ด แบ่งโควตานมโรงเรียน กระบวนการผลิต การขนส่ง การตัดจำหน่าย ลงไปถึง อบต. รับซื้อให้กับโรงเรียน จนถึงมือเด็กนักเรียนได้ดื่มนม พร้อมกับจะนำมาประเมินด้วยว่าที่ผ่านมาเด็กได้ดื่มนมโรงเรียนมาแล้วมีประโยชน์ต่อร่างกายมากขึ้นหรือไม่
“รมว.เกษตรฯ ต้องการรื้อดูโครงสร้างทั้งหมด เริ่มต้นตั้งแต่ประชุมบอร์ด แบ่งโควตาลงไปผลิต การขนส่งจนถึงมือเด็ก โดยย้ำให้ตรวจสอบแต่ละจุด หาคนรับผิดชอบที่แน่นอน และไปดูขั้นตอนว่ามีปัญหาจุดไหน และต้องแก้ให้ถูกจุด และขยายให้ครบวงจร และเน้นให้แยกแยะประเด็นขั้นตอนการทำงานของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีผู้รับผิดชอบแต่ละส่วน ไม่ใช่มัวไปไล่ตาม ไปดูที่นั่นที่นี่เมื่อเกิดเหตุนมบูดซึ่งเป็นปลายทาง จะต้องแก้ที่ต้นทางด้วย” นายธีรภัทรกล่าว
ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีมิลค์บอร์ดดำเนินการบริหารโครงการนมโรงเรียน รวมทั้งดำเนินการควบคุมให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ แต่ในขั้นตอนการบริหารจัดการ ขั้นตอนการปฎิบัติในพื้นที่ การควบคุมการผลิต การขนส่ง จนถึงการรับไปบริโภค ต้องแยกแยะให้ดี ให้มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน โปร่งใส จะมีการหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะมีหลายหน่วยงาน โดยการปรับโครงสร้าง จะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือระยะเร่งด่วน เมื่อเกิดเหตุที่จุดใด กรมปศุสัตว์ จะประสานไปยัง อย.เพื่อลงไปดูในพื้นที่อย่างรวดเร็ว ให้ทราบสาเหตุเพื่อให้สังคมเกิดความเชื่อมั่น ส่วนระยะกลาง และระยะยาวนั้น เป็นการบริหารจัดการทั้งระบบ ดูจุดอ่อน จุดแข็ง หากพบจุดไหนบกพร่องต้องเร่งปรับปรุง คาดว่าจะใช้เวลาตรวจสอบและรื้อทั้งกระบวนการไม่เกินเดือน ต.ค.นี้
ทางด้านนายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รอง ผอ.อ.ส.ค. ในฐานะเลขานุการมิลค์บอร์ด กล่าวถึงปัญหานี้ว่า ได้แจ้งไปทาง อย.แล้ว ทราบว่าได้สั่งการให้สาธารณสุข จ.ยโสธร สุ่มเก็บตัวอย่างเพื่อส่งแล็บตรวจหาเชื้อสาเหตุทำให้เกิดนมบูด คาดว่าสัปดาห์หน้าจะทราบผลเบื้องต้น