xs
xsm
sm
md
lg

2 เทศบาล 7 อบต.เมืองน่านเร่งตรวจสอบนมโรงเรียน พบมีบูดปะปนทุกแห่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

น่าน - องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเมืองน่านเร่งตรวจสอบนมโรงเรียนในพื้นที่ตนเอง พบมีนมบูดปนทุกแห่ง กำชับทุกโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก ดูสภาพนมก่อนแจก พร้อมบอกเด็กเทใส่แก้วแทนดูดจากหลอด

วันนี้ (14 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังครูโรงเรียนบ้านน้ำลี ต.ปิงหลวง อ.นาหมื่น จ.น่าน พบนมโรงเรียนที่ได้รับแจกบางส่วนมีนมบูดเน่า จับตัวเป็นก้อนและมีกลิ่นเหม็น ทั้งที่ข้างกล่องระบุสามารถดื่มได้ถึงปี 59 และทางนายก อบต.ปิงหลวงรับทราบปัญหาประกาศทุกโรงเรียนหยุดแจกนมให้นักเรียนดื่มทันที พร้อมให้นำนมทั้งหมดมาคืนเพื่อใช้เป็นหลักฐานถามหาความรับผิดชอบจากบริษัทผู้ผลิต ตามที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดขณะนี้ 2 เทศบาลตำบล กับ 7 อบต.ที่จัดทำสัญญาซื้อ-ขาย นมโรงเรียนกับบริษัท ยูเอ็มโภคภัณฑ์ จำกัด ทั้งหมด ได้แก่ เทศบาลตำบลปัว, เทศบาลพระพุทธบาทเชียงคาน และ อบต.เมืองจัง, ยาบหัวนา, นาทะนุง, ถืมตอง, แม่สา, แม่สาคร และปิงหลวง ต่างเร่งตรวจสอบนมโรงเรียนที่จัดส่งไปยังโรงเรียน และศูนย์เด็กเล็กในพื้นที่ของตนเอง พร้อมกับกำชับให้ทางโรงเรียนตรวจดูสภาพนมก่อนแจกจ่ายให้แก่เด็กนักเรียนเป็นพิเศษ โดยให้เทใส่แก้วให้ดื่มแทนการดูดจากกล่อง เพื่อได้ตรวจสอบกลิ่น สี และลักษณะของนมก่อนดื่ม

นายสรวีย์ พลจร พัสดุเทศบาลตำบลปัว อ.ปัว กล่าวว่า ทางเทศบาลตำบลปัวได้จัดส่งนมโรงเรียนในความรับผิดชอบ ภาคเรียนที่ 1/2558 เป็นที่เรียบร้อยหมดแล้ว จำนวน 7 โรงเรียน 1 ศูนย์เด็กเล็ก แต่หลังทราบว่าบริษัทคู่สัญญามีปัญหาพบนมบูดก็ได้เข้าตรวจสอบทันที ซึ่งก็พบว่ามีนมบูดปะปนมาเหมือนกัน จึงได้กำชับกับทางโรงเรียนให้ตรวจสอบเป็นพิเศษทุกครั้งที่แจกนมให้เด็กดื่ม และหากพบนมบูดให้แจ้งเทศบาลฯ ทันที

อย่างไรก็ตาม สัญญาจัดซื้อนมกับทางบริษัทยูเอ็มโภคภัณฑ์นั้นได้สิ้นสุดในงวดนี้พอดี ซึ่งในครั้งต่อไปทางเทศบาลฯ ก็ต้องรอคำสั่งจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นว่าจะจัดสรรเขตพื้นที่การจำหน่ายนมโรงเรียนต่อไปอย่างไร

ขณะที่นายพจน์ปรีชา เพชรแก้มแก้ว ปลัดเทศบาลตำบลปัว เปิดเผยว่า นมโรงเรียนเป็นการจัดซื้อจัดจ้างกรณีพิเศษ โดยมีการจัดสรรพื้นที่มาจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ทางเทศบาล หรือ อบต.ต่างๆ ไม่มีอำนาจในการเลือกจัดซื้อ ซึ่งส่วนใหญ่นมโรงเรียนที่จัดส่งก็ไม่ถูกใจโรงเรียน และเด็กนักเรียน ผู้ปกครองหลายรายไม่ให้ลูกหลานดื่ม เนื่องจากไม่มั่นใจในคุณภาพ ทั้งนี้ อยากให้มีการแก้ไขระบบโดยให้แต่ละพื้นที่เปิดสอบราคาแข่งขันกันอย่างเสรีเพื่อให้ได้นมที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และตรงตามความต้องการในแต่ละพื้นที่
กำลังโหลดความคิดเห็น