ลำปาง - เถ้าแก่โรงงานนมลำปาง 1 ใน 2 บริษัทส่งนมโรงเรียนบ้านน้ำลี เมืองน่าน ยันกระบวนการผลิตนมไร้ปัญหา ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเกิน 70% มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบต่อเนื่อง เผยรับนมคืนจากโรงเรียน 5 หีบ ตรวจเจอนมเสียหีบเดียว ระบุแต่ละวันผลิตนมราว 9 หมื่นกล่อง ก่อนปิดเทอมทำเพิ่มเป็นสองเท่า
วันนี้ (14 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังครู-นักเรียน โรงเรียนบ้านน้ำลี อ.นาหมื่น จ.น่าน ออกมาร้องทุกข์กันว่านมโรงเรียนที่ได้รับแจกเป็นนมบูด เน่าเสีย จับตัวเป็นก้อน มีกลิ่นเหม็นเกือบยกล็อต ทั้งที่ข้างกล่องระบุว่าสามารถดื่มได้ถึงปี 2559 ทำให้ต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว
ขณะที่ นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อาจจะต้องสั่งปิดโรงงานผลิตนมที่เป็นคู่สัญญาส่งนมให้แก่โรงเรียนดังกล่าว เพื่อให้ปรับปรุงจนกว่าจะได้มาตรฐานตามที่กำหนดนั้น
ด้านนายธนโชติ วนาวัฒน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ยู.เอ็ม.โภคภัณฑ์ จำกัด ซึ่งได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นผู้ผลิตนมโรงเรียนให้โรงเรียนในภาคเหนือ ตั้งอยู่เลขที่ 163/1 หมู่ที่ 7 ต.น้ำโจ้ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง หนึ่งในสองบริษัทที่จัดส่งนมให้แก่โรงเรียนบ้านน้ำลี เปิดเผยว่า ปัจจุบันทางโรงงานผลิตทั้งนมพาสเจอไรซ์ นมยูเอชที และไอศกรีม แต่เน้นผลิตนมส่งให้โรงเรียนเป็นหลัก
แต่ละวันต้องผลิตน้ำนม ทั้งที่รีดจากในฟาร์ม และรับซื้อจากภายนอกวันละประมาณ 3 ตัน คือประมาณ 90,000 กล่อง แต่ช่วงใกล้ปิดเทอมต้องส่งนมเพิ่มให้โรงเรียนเป็นสองเท่า ทำให้ต้องผลิตเพิ่มเติมจากคำสั่งซื้อปกติเพิ่มขึ้นอีก
ส่วนเมื่อเกิดปัญหา ลูกค้าแจ้งว่านมโรงเรียนที่ส่งไปยังโรงเรียนบูดเสีย ทางโรงงานก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ล่าสุดกรณีนมที่ส่งไปยังโรงเรียนบ้านน้ำลี จ.น่าน ที่มีปัญหานั้นมีเพียง 1 หีบ จากทั้งหมด 9 หีบ ที่ส่งไป และมีเพียงหีบเดียวที่ผลิตในล็อตเดียวกันนี้ จากจำนวนทั้งหมด 93,120 กล่อง ส่งไปที่ จ.น่าน 66,000 กล่อง
“โรงงานรับนมคืนมาตรวจ 5 หีบ พบเพียงหีบเดียวที่มีทั้งดีและเสีย โดยพบว่ากล่องบรรจุมีรอยยุบโดยรอบ ซึ่งก็คาดว่าอาจจะเกิดจากการขนส่ง ถูกกระแทกจนทำให้กล่องนมที่อยู่ภายในหีบมีปัญหา และระหว่างนี้ทางโรงงานได้จัดส่งนมล็อตใหม่ไปให้ทางโรงเรียนแล้ว”
ส่วนนมที่มีปัญหาทางโรงงานก็ได้ส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจเช็กคุณภาพนมแล้ว คาดว่าผลจะออกมาในสัปดาห์นี้ แต่ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทางโรงงานได้มีการส่งตัวอย่างนมให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1 เชียงใหม่ ตรวจปีละ 2 ครั้ง ล่าสุดได้ส่งตรวจเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 58 ผลการตรวจผ่านเกณฑ์ทั้งหมด
นอกจากนี้ สาธารณสุขจังหวัดลำปางก็ได้เข้าสุ่มตรวจปีละ 4 ครั้ง, ปศุสัตว์จังหวัดลำปางเข้าตรวจทุกเดือน และก่อนที่นมจะออกไปสู่ผู้บริโภคทางโรงงานได้มีการทดสอบผ่านห้องแล็บทุกครั้ง โดยต้องมีค่าเชื้อแบคทีเรียเป็น 0 เท่านั้นจึงจะปล่อยนมออกได้
“ที่ผ่านมาในแต่ละปีก็พบว่ายังคงมีปัญหาเรื่องนมเสีย แต่ก็อยู่ในเกณฑ์ ซึ่งทางราชการกำหนดคือประมาณ 1% โดยของโรงงานเราพบมีปัญหาเพียง 0.1% ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้”
นายธนโชติบอกว่า อย่างไรก็ตาม โรงงานก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เมื่อมีปัญหาก็จะพยายามหาสาเหตุ และบางครั้งเกิดจากความไม่เข้าใจของผู้ที่รับนมทางโรงงานก็ต้องลงไปชี้แจง และทำความเข้าใจ เพื่อไม่ให้นมเกิดปัญหาระหว่างการจัดเก็บรักษาด้วย โดยนมพาสเจอไรซ์จะมีอายุ 7-15 วัน และต้องอยู่ในอุณหภูมิที่เย็น หากถูกนำออกมาวางในอากาศปกติเพียง 5 ชั่วโมงนมก็จะเสีย ส่วนนมยูเอชทีปกติจะอยู่ได้ 7-8 เดือน หากอยู่ในอุณหภูมิสูงอายุก็จะสั้นลง
ส่วนที่ อย.ระบุว่า จากการตรวจสอบยังพบหลายจุดที่ต้องปรับปรุงนั้น นายธนโชติระบุว่า ตามหมวดที่เจ้าหน้าที่มาตรวจสอบโรงงานรวม 7 หมวด ทางโรงงานผ่านเกณฑ์ คือได้คะแนนกว่า 70% ซึ่งก็สบายใจที่คุณภาพนมไม่มีปัญหา ส่วนที่โรงงานต้องปรับปรุงมีเพียงเรื่องเดียว คือ การเพิ่มเครื่อง Flow Meter ที่ทำหน้าที่ในการควบคุมการไหลของน้ำนม แต่เป็นเรื่องที่อยู่ในแผนของโรงงานอยู่แล้ว
แต่เนื่องจากเครื่องดังกล่าวทางโรงงานได้ซื้อมาใช้ก่อนที่จะมีกฎหมายกำหนด การจะติดตั้งเครื่อง Flow Meter เพิ่มเข้าไปต้องให้ผู้เชี่ยวชาญกับเครื่องจักรที่มีอยู่แล้วเป็นผู้ออกแบบและติดตั้งให้เท่านั้น ซึ่งจะแล้วเสร็จประมาณวันพุธ (16 ก.ย.)
“ส่วนเรื่องการจะสั่งปิดโรงงานนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือแต่อย่างใด แต่คาดว่าทางโรงงานคงจะแก้ไขจุดดังกล่าวเสร็จสิ้นทันก่อนที่จะมีคำสั่งดังกล่าว”