xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” ชูจุดแข็งประกันสุขภาพ เป็นกลไกเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกฯ แถลงไทยลงทุนด้านสุขภาพ อาศัยจุดแข็งระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั่วถึง เท่าเทียม สร้างคนให้สุขภาพดีเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืน พร้อมสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการผลิตและพัฒนาบุคลากรสุขภาพ รวมทั้งรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน



วันนี้ 28 กันยายน 2558 เวลา 10.30 - 12.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมว่าด้วยเส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า : การส่งเสริมความเท่าเทียมในบริบทสุขภาพโลกและความมั่นคงของมนุษย์ในช่วงการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 (The Path towards Universal Health Coverage: The Promotion of Equitable Global Health and Human Security in the Post-2015 Development Era) โดย พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวเชื่อมั่นว่า การลงทุนในสุขภาพ คือ การลงทุนเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และเพื่อความมั่นคงของสังคม ดังนั้น ประเทศไทยจึงได้ให้ความสำคัญกับสุขภาพที่ดีของประชาชน สอดคล้องตามเป้าหมายที่ 3 ของเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะประชาชนที่มีสุขภาพดีจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ

รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับประเด็นสุขภาพ และความมั่นคงของมนุษย์มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ตามความจำเป็น และไม่ล้มละลายจากการเจ็บป่วยและค่ารักษาพยาบาลที่มีราคาแพง ด้วยบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน โดยคำนึงถึงเกียรติและศักดิ์ศรีของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้บรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 ด้วยความมุ่งมั่นของรัฐบาลตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1970 เป็นต้นมา ได้มีการขยายการลงทุนในโครงสร้างระบบบริการสุขภาพในทุกระดับ ทำให้มีการขยายความครอบคลุมของบริการสุขภาพ มีการกระจายบุคลากรสาธารณสุขตั้งแต่แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกรและพยาบาลครอบคลุมทุกพื้นที่ ตลอดจนขยายการครอบคลุมบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้ทั่วถึง และลดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเมืองและชนบท ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้มากขึ้น สามารถลดอัตราการตายของแม่และเด็ก เพียง 11 ต่อเด็กเกิดมีชีพ 1,000 คน ในปี ค.ศ. 2014 จากอัตราตายของทารก 72 ต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน ในปี ค.ศ. 1970 นอกจากจะทำให้สุขภาพประชาชนดีขึ้นแล้ว ยังสามารถลดปัญหาความยากจนได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยพบว่า ตลอด 12 ปีที่ผ่านมาของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถป้องกันครัวเรือนไม่ให้เกิดความยากจนเนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมากกว่า 1 แสนครัวเรือน

รัฐบาลไทยยังมีนโยบายยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุข และสุขภาพของประชาชน โดยวางรากฐานให้ระบบหลักประกันสุขภาพครอบคลุมประชากรในทุกภาคส่วนอย่างมีคุณภาพ โดยไม่มีความเหลื่อมล้ำของคุณภาพบริการในแต่ละระบบประกันสุขภาพ เน้นการป้องกันโรคมากกว่ารอให้ป่วยแล้วจึงมารักษา สนับสนุนความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้การคุ้มครองทางสังคมและกฎหมายกับแรงงานต่างด้าวด้วยเช่นกัน ในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน - ตุลาคม ของปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เปิดลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเพื่อเข้าสู่ระบบการจ้างงาน มีแรงงาน ต่างด้าวกว่า 1.6 ล้านคนมาลงทะเบียน โดยมาตรการนี้จะช่วยป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนและป้องกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และทำให้แรงงานเหล่านี้สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นซึ่งรัฐบาลจัดบริการให้ได้

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยเชื่อในความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศ และจะอาศัยจุดแข็งของระบบสุขภาพไทย สนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการผลิตและพัฒนาบุคลากรสุขภาพ รวมทั้งรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน นอกจากนี้ ไทยร่วมกับกลุ่มประเทศอาเซียน กับจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ได้ร่วมกันจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมืออาเซียนบวกสามด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (ASEAN Plus three UHC Network) โดยประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ในภูมิภาคในเรื่องการจัดบริการสาธารณสุขและการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นในโครงการด้านวิชาการไทย - ญี่ปุ่น เพื่อขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสนับสนุนเครือข่ายสุขภาพโลก และไทยพร้อมที่จะร่วมกับทุกประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อันเป้าหมายหนึ่งที่จะนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ต่อไป









กำลังโหลดความคิดเห็น