xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงไทยส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ประยุทธ์” กล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุมสหประชาชาติ เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ เผยไทยมุ่งมั่นดำเนินการเพื่อสตรี 3 ประการ “ปลูกฝังเจตคติที่ดีเกี่ยวกับบทบาทระหว่างเพศ-จัดเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์-ทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติหญิงชาย”

วันนี้ (27 ก.ย.) เวลา 09.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุม Global Leaders’ Meeting on Gender Equality and Women’s Empoweverment : A Commitment to Action ระหว่างการประชุมสหประชาชาติระดับผู้นำเพื่อรับรองวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 (POST 2015 Summit) เพื่อยืนยันเจตนารมณ์และคำมั่นทางการเมืองของไทยในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเสริมพลังสตรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าไทยยึดมั่นในสิทธิมนุษยชนเสมอ โดย พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญคำกล่าว ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวในนามของรัฐบาลไทย แสดงความยินดีกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหประชาชาติ โดยเฉพาะองค์การ UN Women ที่ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้

ปีนี้เป็นปีที่สำคัญ เนื่องจากเป็นปีที่ครบรอบ 20 ปีของปฏิญญาและแผนปฏิบัติการปักกิ่ง อีกทั้งยังเป็นปีที่ผู้นำได้ร่วมกันรับรองวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 ซึ่งรวมถึงเป้าหมายที่จะบรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ

ทั้งนี้ ประเทศไทยแล้วได้รับเกียรติเป็นประธานการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี สมัยที่ 59 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และได้ทราบถึงความก้าวหน้าของการดำเนินการตามปฏิญญาปักกิ่ง ซึ่งส่งผลให้สตรีและเด็กผู้หญิงในทุกภูมิภาค ได้รับโอกาสและความเสมอภาคเท่าเทียมกับผู้ชายในด้านต่างๆ แต่ก็ยังคงมีประเด็นท้าทายที่ต้องดำเนินการต่อไปเพื่อให้เกิดความเสมอภาคอย่างแท้จริง ให้ผู้หญิงสามารถดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี มีส่วนร่วมในสังคม และการพัฒนาประเทศอย่างเต็มที่

สำหรับประเทศไทยได้เริ่มดำเนินงานด้านสตรีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 และได้ทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้หญิงให้เป็นกำลังสำคัญ สามารถเดินเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ชายอย่างสง่างาม

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลไทยมีนโยบายการศึกษาถ้วนหน้า ที่ทำให้เยาวชนหญิงชายมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม และสามารถบรรลุเป้าหมาย MDGs ในการขจัดความไม่เท่าเทียมทางเพศในการศึกษาทุกระดับได้

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย เพื่อส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาคระหว่างเพศ คุ้มครองผู้หญิงจากความรุนแรงในครอบครัว การถูกล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศในการทำงาน รวมทั้งดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง มีมาตรการดูแลและฟื้นฟูผู้เสียหายที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้หญิงและเด็ก ล่าสุด ประเทศไทยได้ประกาศใช้ พ.ร.บ. ส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อคุ้มครองทุกคนจากการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะดำเนินการเพื่อสตรีในเรื่องต่อไปนี้ ประการที่หนึ่ง การจัดทำหลักสูตรบทบาทหญิงชายเพื่อปลูกฝังเจตคติที่ดีเกี่ยวกับบทบาทระหว่างเพศในสังคมตั้งแต่ยังเด็ก ให้ยอมรับความเท่าเทียมระหว่างเพศอย่างแท้จริง

ประการที่ 2 การจัดเก็บข้อมูลโดยจำแนกเพศ เพื่อเป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์สถานการณ์ นโยบาย หรือปัญหาต่างๆ อย่างมีมุมมองมิติหญิงชาย และติดตามการบรรลุเป้าหมายการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในด้านต่างๆ

ประการที่ 3 การจัดอบรมหน่วยงานระดับชาติที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันผลักดันการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติหญิงชาย

นอกจากนี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของไทยฉบับต่อไป ยังให้ความสำคัญกับการให้คนเป็นศูนย์กลาง การมีส่วนร่วม และการลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศไม่ใช่เรื่องของผู้หญิงเท่านั้น ผู้ชายต้องมีบทบาทสำคัญร่วมผลักดันให้เกิดเจตคติที่ดี นำไปสู่การยุติการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ทั้งนี้ การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศเริ่มจากตัวเรา เริ่มจากที่บ้าน ที่โรงเรียน และจากสภาพแวดล้อมใกล้ๆ ตัว เนื่องจากทุกคนสามารถมีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้นได้








กำลังโหลดความคิดเห็น