“พยาบาลวิชาชีพภาคอีสาน” เคลื่อนไหวปัญหาความเหลื่อมล้ำ - เงินเดือนตัน - ไม่มีสวัสดิการ จ่อลองฟ้อง รพ. เรื่องเงินเดือนไม่ถึง 1.5 หมื่นบาทเป็นตัวอย่าง ดู “สธ. จะว่าอย่างไร” ส่วนอีกเรื่องร้องเรียนพบ “โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ ชื่อดังในกรุงเทพฯ” ส่อ “ไม่เหมาะสม” หลังมีการ “เบิกเงินประจำตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ” ให้กับ “พยาบาล” ที่ไม่ได้สัมผัสผู้ป่วย ตามกฎ ก.พ. อ้างทำความผิดสำเร็จแล้ว
เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ASTV ผู้จัดการ ได้รับรายงานมาว่า สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย ในพระราชูปภัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนี สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้จัดประชุมสามัญและประชุมวิชาการประจำปี 2558 เรื่อง “การขับเคลื่อนวิชาชีพในยุคเศรษฐกิจอาเซียนด้วยการจัดการดูแลเชิงบูรณาการ” มี “พยาบาลวิชาชีพ” จากทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมประชุมจำนวนมาก
ต่อมามีการเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกจาก “พยาบาลวิชาชีพ” ท่านหนึ่งเขียนร้องเรียนผ่านไปยัง สำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า เป็น “พยาบาลวิชาชีพ” โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา ระบุว่า ตัวเองทำงานเป็นพยาบาลมา 3 ปี ได้เงินเดือน 13,700 บาท ในจดหมายเล่าว่า มีความคับข้องใจเป็นอย่างมากเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมในวิชาชีพนี้ จึงอยากได้รับความเป็นธรรม
จดหมายจาก พยาบาลวิชาชีพ ฉบับนี้ ตั้งคำถามว่า เหตุใดพยาบาลวิชาชีพที่จบระดับปริญญาตรี ไม่ได้รับค่าตอบแทนเงินเดือน 15000 บาท เช่นดังสายอาชีพอื่น ๆ
“ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้เปลี่ยนตำแหน่งจากลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข แต่เหตุใดท่านแค่ชื่อแต่ทุกอย่างเหมือนเดิม เช่น เงินเดือน สวัสดิการ, พยาบาลทำงานเป็นกะ (เวร) อดหลับอดนอน ค่าตอบแทนส่วนนี้น้อยมาก, พยาบาลวิชาชีพ ส่วนใหญ่ ได้แค่ ซี 7 ไม่สามารถทำ ซี 8 ได้ ยุติธรรม หรือ? นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการบรรจุ ที่ต้องการสอบบรรจุเหมือนกับสายอาชีพอื่น”
โดยในการประชุมสามัญและประชุมวิชาการประจำปี 2558 ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือครั้งนั้นมีการเล่าถึงปัญหาด้านต่าง ๆ ในวิชาชีพ และแนวทางการขับเคลื่อนหลังจากนี้
จากข้อเสนอพบว่า ปัญหาใหญ่ ๆ ที่พยาบาลกำลังประสบอยู่ในขณะนี้มี 3 ประเด็น คือ
ประเด็น 1. ความไม่เท่าเทียมในการจ้างงาน เพราะเงินเดือนขั้นต่ำของผู้จบปริญญาตรี คือ 15,000 บาท แต่พบว่ามีโรงพยาบาลหลายแห่งที่จ้างพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว โดยให้เงินเดือนเริ่มต้นที่ 12,000 - 13,000 บาท แล้วมีเงินเพิ่มพิเศษสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุข (พ.ต.ส.) ให้อีก 1,500 - 2,000 บาท เงินค่าหอพักอีกประมาณ 1,500 บาท รวมแล้วเป็นเงินประมาณ 15,000 บาท ซึ่งเป็นความไม่เท่าเทียม เพราะเงิน พ.ต.ส. และค่าหอพักไม่ควรนำมานับรวมอยู่ในเงินเดือน
ประเด็นที่ 2 เรื่องเงินเดือนตันอยู่แค่ซี 7 พยาบาลบางคนอยู่ซี 7 มาเป็นสิบปี แต่เงินเดือนก็ตันอยู่แค่นั้น ไม่สามารถเลื่อนไหลได้ ทั้ง ๆ ที่เงินเดือนและตำแหน่งควรขยับเพิ่มขึ้นตามภาระงานและผลงาน
ประเด็นที่ 3 เรื่องสวัสดิการ เพราะการทำงานของพยาบาลมีความเสี่ยง แต่ไม่มีสวัสดิการรองรับ ตัวอย่างเช่น การส่งต่อผู้ป่วย หากเกิดอุบัติเหตุระหว่างการส่งตัวจนเกิดการบาดเจ็บ พิการหรือเสียชีวิต ก็ไม่มีสวัสดิการรองรับ
“เราก็อยากให้สังคมได้ยินว่ามันมีความเหลื่อมล้ำมาก พยาบาลเหมือนทำงานราคาถูก อย่างเรื่องเงินเดือนไม่ถึง 15,000 ก็มีคุยกันว่า จะลองฟ้องสักโรงพยาบาลดูไหมว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร กระทรวงสาธารณสุขจะว่าอย่างไร หรือเรื่องการบรรจุเป็นข้าราชการ หลายคนก็บอกว่าถ้ายังไม่บรรจุจะแต่งชุดขาวไปชุมนุมที่ทำเนียบหรือลานพระรูปฯ เลยไหม เป็นต้น แต่ตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปใด ๆ และส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยกับการไปชุมนุม เพราะสามารถแสดงออกอย่างอื่นได้หลายทาง เช่น ติดโบว์ดำ ขึ้นแผ่นป้ายแสดงจุดยืน หรือรวมตัวที่โรงพยาบาลโดยไม่ต้องไปที่ทำเนียบก็ได้ เป็นต้น”
เรื่องของรายได้และการบริหารงาน ในวงการพยาบาลวิชาชีพกลับมีปัญหาในอีกแง่มุมหนึ่งที่อาจจะส่อไปทางทุจริต โดยเมื่อไม่นานมานี้ ได้มีผู้ร้องเรียนมายัง “ASTV ผู้จัดการ” ในส่วนของประเด็น “เงินประจำตำแหน่งของพยาบาลวิชาชีพ” ในโรงพยาบาลรัฐ สังกัดกรมการแพทย์ แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งพบว่า มีการเบิกโดยไม่โปร่งใสส่อไปทางทางทุจริต
ขณะนี้ได้มี “โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ ในกรุงเทพฯแห่งหนึ่ง” มีการเบิกเงินประจำตำแหน่งของ “พยาบาลวิชาชีพ” ให้กับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลหลายคน อย่างไม่เหมาะสม “ส่อไม่เหมาะสม” และอาจจะสร้างความเสียหายในด้านงบประมาณ ให้กับรัฐและหน่วยงานต้นสังกัดได้
ผู้ร้องเรียนอ้างคำสั่งจากกรมการแพทย์ที่ 866/2547 ระบุว่า กรมการแพทย์ได้มีการแต่งตั้งบุคคลท่านหนึ่ง ในตำแหน่ง “พยาบาลวิชาชีพ 7 วช. ด้านการพยาบาล” ให้ปฏิบัติราชการในฐานะ “หัวหน้าฝ่ายแผนงานและประเมินผลของโรงพยาบาล” แต่บุคคลผู้นี้ยังคงได้สิทธิรับเงินประจำตำแหน่งของ “พยาบาลวิชาชีพ” ชำนาญการ ในฐานะพยาบาลวิชาชีพเรื่อยมาหลายปี (3,500บาทต่อเดือน) ทั้งที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ “พยาบาลวิชาชีพ” เลยในปัจจุบัน มากว่า 7 ปี ถือว่า เป็นการกระทำผิดโดยสำเร็จหรือไม่
มีการตั้งข้อสังเกตและมีคำถามไปยังอธิบดีกรมการแพทย์ ผอ.สำนักงานบริหารทรัพยากรบุคคล กรมการแพทย์ว่า สามารถทำได้หรือไม่ เนื่องจากกรมการแพทย์ มีหน้าที่ควบคุม กำกับ ดูแลการปฏิบัติราชการให้ถูกต้องเป็นไปตามกฎระเบียบวินัยทางราชการในส่วนของกรมการแพทย์ เพราะตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ.2551 วรรค 2
ระบุว่า “ข้าราชการพลเรือนสามัญที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งผู้ใด หากได้รับคำสั่ง ให้ไปปฏิบัติหน้าที่อื่นและมิได้ปฏิบัติหน้าที่หลักของตำแหน่งที่ตนดำรงอยู่ ไม่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งตั้งแต่วันที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่หลักของตำแหน่งที่ตนดำรงอยู่ เว้นแต่ในกรณีที่ ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ หรือประเภททั่วไปและได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่อื่นที่มีลักษณะ เป็นงานวิชาชีพหรืองานที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเหมือนหน้าที่หลักของตำแหน่งที่ตนดำรงอยู่เดิม ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตราเดิมของตำแหน่งต่อไป”
ผู้ร้องเรียนระบุว่า ต่อมายังพบว่า มีความพยายามกระทำผิด จากคำสั่งการแต่งตั้งบุคลากรของโรงพยาบาลแห่งนี้ ที่40(3)/2551 โดยให้ “พยาบาลวิชาชีพ” อีกหลายคนเข้ามาปฏิบัติราชการใน “ฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์” ที่สังกัดรอง ผอ. กลุ่มภารกิจอำนวยการ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในด้าน “วิชาชีพพยาบาล” เลย เพราะงานฝ่ายนี้ส่วนใหญ่เน้นไปในด้านงานประสานสิทธิผู้ป่วยประกันสังคม งานตรวจสอบและติดตามหนี้ หรืองานด้านสังคมสงเคราะห์ที่มีเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ประจำอยู่ ดังนั้น บุคคลเหล่านี้ ก็ไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินประจำตำแหน่งของ “พยาบาลวิชาชีพ” ชำนาญการ เช่นกัน แต่บุคคลเหล่านี้ก็ยังได้รับเงินประจำตำแหน่งของ “พยาบาลวิชาชีพ” ชำนาญการ (3,500 บาทต่อเดือน) เรื่อยมาตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งก็ถือว่าเป็นการกระทำผิดสำเร็จแล้วหรือไม่
“อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของโรงพยาบาลแห่งนี้ใหม่ จะเห็นได้จาก บันทึกข้อความที่ สธ 0314/70 ลงวันที่ 14 มกราคม 2558 ของกรมการแพทย์ สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล เรื่องการปรับโครงสร้างการแบ่งงานภายในหน่วยงานกรมการแพทย์ พบว่า โรงพยาบาลแห่งนี้มีการเพิ่ม “กลุ่มภารกิจด้านการพัฒนาระบบสุขภาพ” ขึ้นมาใหม่ “มีคำสั่ง สธ 0303.21/1117 ลงวันที่ 12 มิ.ย. 58 ให้ปรับย้ายงานในกรอบภารกิจของเวชกรรมการสังคมเดิม ให้ไปอยู่ในความรับผิดชอบของรองผอ.ด้านการพยาบาล กลุ่มภารกิจบริการวิชาการ”
“เนื่องจากก่อนหน้านั้นไม่มีหน่วยงานนี้ในโรงพยาบาล เพราะหากมีผลบังคับใช้ พยาบาลวิชาชีพ เหล่านี้ก็จะไม่มีความผิด ถือว่าเป็นการล้างความผิดให้กันเอง แม้จะกระทำผิดสำเร็จแล้วหรือไม่”
ผู้ร้องเรียนระบุว่า ได้มีการทำหนังสือสอบถามเรื่องการติดตามตรวจสอบและดำเนินการกรณี “หัวหน้าฝ่ายแผนงานและประเมินผลของโรงพยาบาล” เบิกเงินประจำตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ โดยไม่ปฏิบัติงานด้านการพยาบาล ไปยังหลายหน่วยงาน เช่น สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล กรมการแพทย์ หรือ ฝ่ายสวัสดิการสังคมและประกันสุขภาพ รวมทั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งนี้หลายครั้ง แต่กลับมีการตอบมาไม่ชัดเจน และมีการทำหนังสือสอบถามไปหน่วยงานต้นสังกัดคือ กรมการแพทย์ ตอบโต้กันไปมาไม่มีข้อยุติ
“เช่น เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 58 ผู้ร้องเรียน ได้ทำหนังสือสอบถามไปยัง ผอ.สำนักงานบริหารทรัพยากรบุคคล กรมการแพทย์ และมีหนังสือที่ สธ 0319/5038 ลงวันที่ 14 พ.ค. 58 ชี้แจงผลการดำเนินการ เฉพาะเรื่องการเบิกจ่ายเงินประจำตำแหน่งวิชาชีพพยาบาล ระบุว่า ในระบบการคลังภายในโรงพยาบาลแห่งนี้ ในเรื่องการเบิกจ่ายนั้นจะต้องดำเนินการตรวจสอบให้เป็นไปตามระเบียบและยังมีหน่วยงานภายนอกโรงพยาบาล เช่น กลุ่มงานตรวจสอบภายใน รวมถึงสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินดำเนินการตรวจสอบ โดยเรื่องนี้มิใช่หน้าที่ของสำนักงานบริหารทรัพยากรบุคคล กรมการแพทย์ ทั้งนี้ ได้ประสานงานด้วยวาจากับ ผอ.โรงพยาบาลแห่งนี้ ให้ดำเนินการตรวจสอบ หากไม่ถูกต้องให้ดำเนินการให้ถูกต้องต่อไป”
จากนั้นวันที่ 23 มิ.ย. 58 ผู้ร้องเรียน ได้สอบถามไปยัง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งนี้ในฐานะรอง ผอ.ด้านอำนวยการ ว่า บุคคลผู้นี้มีสิทธิ์ได้รับเงินประจำตำแหน่งของ “พยาบาลวิชาชีพ” ชำนาญการ หรือไม่ แต่โรงพยาบาลก็ยังไม่มีคำตอบให้
อย่างไรก็ตามกว่า 3 เดือน ที่ผู้ร้องเรียนส่งหนังสือไปถามกลับยังไม่มีคำตอบ โดยวันที่ 3 ส.ค. 58 ได้ส่งหนังสือย้ำคถามเดิมสอบถามไปยัง ผอ.โรงพยาบาลอีกครั้ง โดยอ้างหนังสือของ ผอ.สำนักงานบริหารทรัพยากรบุคคล กรมการแพทย์ที่ระบุว่า “เรื่องนี้มิใช่หน้าที่ของสำนักงานบริหารทรัพยากรบุคคล กรมการแพทย์ และประสานทางวาจากับ ผอ.ดรงพยาบาลแล้ว” เนื่องจากพบว่า หัวหน้าฝ่ายแผนงานและประเมินผลของโรงพยาบาล ยังคงได้รับเงินประจำตำแหน่งของ“พยาบาลวิชาชีพ” ชำนาญการอยู่ และไมได้ปฏิบัติงานด้านการพยาบาลแต่อย่างใด
ประกอบกับ เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 58 สำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ ได้มีหนังสือที่ สธ 0326/41 เรื่อง”ขอกำชับผู้บริหารทุกระดับของกรมการแพทย์ปฏิบัติตามกฎหมายเฉพาะในสถานปัจจุบันเพื่อประโยชน์ของกรมการแพทย์และราชการแผ่นดิน โดยอ้างประกาศ คสช. ที่ 69/2557 เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ปัญหาประพฤติมิชอบติดประกาศ โดยเฉพาะข้อ 4. กรณีหัวหน้าส่วนราชการหรือผู้บังคับบัญชาปล่อยปละละเลย ให้ถือเป็นความผิดทางวินัยหรือความผิดทางอาญาแล้วแต่กรณี
อย่างไรก็ตาม หลังจากมีคำสั่ง คสช. ฉบับดังกล่าวเผยแพร่ไป ได้มีหนังสือ สธ 0307/7534 ลงวันที่ 11 ส.ค. 58 จาก ผอ.โรงพยาบาล มายัง ผอ.สำนักบริหารทรัพยากร กรมการแพทย์ เพื่อขอความอนุเคราะห์พิจารณาข้อเท็จจริงกรณีการเบิกเงินประจำตำแหน่ง มีใจความตอนหนึ่งว่า “บุคคลผู้นี้เบื้องต้นมีสิทธิ์รับเงินประจำตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2541 และได้รับการแต่งตั้งจากกรมการแพทย์ ให้เป็น “หัวหน้าฝ่ายแผนงานและประเมินผลของโรงพยาบาล” เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2547 จนถึงปัจจุบันและยังคงรับเงินประจำตำแหน่งของ “พยาบาลวิชาชีพ” ชำนาญการ (3,500 บาท) อยู่ ตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. 2551 วรรค 2
“แต่เนื่องจากกรณีนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกฎระเบียบ ซึ่งต้องใช้ผู้มีความรู้เฉพาะทางมาพิจารณาให้ข้อคิดเห็น จึงขิให้ ผอ.สำนักบริหารทรัพยากร กรมการแพทย์ พิจารณาข้อเท็จจริง ว่า บุคคลผู้นี้ยังมีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวหรือไม่ เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติต่อไป พร้อมแนบเอกสารคำสั่งที่ 866/2547 เรื่องแต่งตั้งของกรมการแพทย์ เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 47 มาด้วย”
ต่อมาอีก 8 วัน นอกจากนั้น ผอ.โรงพยาบาล ยังทำหนังสือที่ 0307/7722 ลงวันที่ 18 ส.ค. แจ้งว่า บุคคลผู้นี้มีสิทธิรับเงินประจำตำแหน่งของ “พยาบาลวิชาชีพ” ชำนาญการ (3,500 บาท) อยู่ ตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. 2551 วรรค 2
“อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาล ได้พิจารณาปัญหาดังกล่าว เป็นปัญหาด้านระเบียบ ซึ่งต้องใช้ผู้มีความรู้เฉพาะทาง โรงพยาบาลจึงได้หารือไปทางสำนักบริหารทรัพยากร กรมการแพทย์ เพื่อจะได้ยึดถือเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติต่อไป จึงเรียนมาเพื่อทราบไว้ชั้นหนึ่งก่อน หากโรงพยาบาลได้รับแจ้งจากสำนักบริหารทรัพยากร กรมการแพทย์ จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง”
ล่าสุด มีหนังสือที่ สธ 0319/9089 ลงวันที่ 19 ส.ค. 58 เรื่องขอชี้แจงเพิ่มเติมกรณีการเบิกเงินประจำตำแหน่ง จากรักษาการ ผอ.สำนักบริหารทรัพยากร กรมการแพทย์ ถึง ผอ.โรงพยาบาล ระบุว่า กลุ่มงานกฎหมาย วินัย และพิทักษ์ระบบคุณธรรม กรมการแพทย์ พิจารณาแล้วเห็นว่า หากพิจารณากรณีนี้ ย่อมจะเป็นเรื่องที่อาจกระทบกระเทือนถึงสิทธิและหน้าที่ของบุคคลได้โดยตรง ลำพังเพียงเอกสารคำสั่งแต่งตั้ง ยังมิอาจพอเพียงที่จะพิจารณาข้อเท็จจริงได้ทั้งหมด จึงขอให้ทางโรงพยาบาลชี้แจงข้อมูล
ประกอบด้วย 1. บุคคลผู้นี้ขณะดำรงตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพ 7 วช. (ก่อนรับคำสั่งแต่งตั้งจากกรมการแพทย์ให้ปฏิบัติหน้าที่“หัวหน้าฝ่ายแผนงานและประเมินผล”อยู่ในสังกัดกลุ่มงาน/กลุ่มภารกิจใด และได้มอบหมายให้ปฏิบัติงานในหน้าที่หลักของตำแหน่งดังกล่าวอย่างไร 2. ภายหลังที่ได้รับการแต่งตั้งจากกรมการแพทย์ ให้ปฏิบัติราชการในฐานะ “หัวหน้าฝ่ายแผนงานและประเมินผล” แล้ว ยังคงได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานในหน้าที่ตามข้อ 1. อยู่อีกหรือไม่/อย่างไร และ 3. ตำแหน่ง “หัวหน้าฝ่ายแผนงานและประเมินผล” ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ปัจจุบันมีลักษณะอย่างไร”
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดกำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณา ตามระเบียบ
แม้ผู้ร้องเรียน จะตั้งข้อสังเกตว่า แม้ทางกลุ่มงานกฎหมาย วินัย และพิทักษ์ระบบคุณธรรม กรมการแพทย์ จะรับเรื่องไว้พิจารณา แต่การดำเนินการต่าง ๆ นี้ เชื่อว่า กระทำผิดโดยสำเร็จแล้ว รวมถึงมีความพยายามที่จะช่วยบุคคล และคณะ ที่ร่วมกระทำผิดในเรื่องนี้ โดยผู้ร้องเรียนยัง ได้ยื่นเรื่องส่วนหนึ่งให้กับ ป.ป.ช. เพื่อขอสอบสวนผู้บริหารโรงพยาบาลแห่งนี้แล้ว