xs
xsm
sm
md
lg

วิพากษ์ข้อเสนอในการแก้ปัญหาโครงการประชานิยม 30 บาท ของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร. อภิวัฒน์ มุทิรางกูร

เผยแพร่:   โดย: แพทย์หญิงเชิดชู อริยศรีวัฒนา

แพทย์หญิงเชิดชู อริยศรีวัฒนา
ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ


ได้อ่านข้อเสนอในการแก้ปัญหาโครงการประชานิยม 30 บาทของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร. อภิวัฒน์ มุทิรางกูร ขอแสดงความคิดเห็นต่อข้อเสนอเหล่านั้นดังนี้

1.ขอแสดงความชื่นชมที่คุณหมอได้วิเคราะห์ปัญหาต่างๆอย่างรอบด้าน มีตัวเลขและข้อมูลต่างๆครบถ้วน มีหลักฐานเชิงประจักษ์ และได้พยายามเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อให้โครงการนี้มีประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง และไม่เป็นภาระแก่งบประมาณแผ่นดิน เพื่อรักษามาตรฐานการแพทย์และสาธารณสุขไทย โดยเฉพาะมาตรฐานการแพทย์ไทยไม่ให้ถอยหลังเข้าคลอง และตกต่ำไปอยู่ในลำดับท้ายๆของอาเซียน อันจะเป็นผลเสียหายต่อการรักษาสุขภาพประชาชนไทยทั้งประเทศ

2. การกำหนดให้ประชาชนเพียง 48 ล้านคนเท่านั้นที่ได้รับสิทธิในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมและไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน (หรือที่ชอบอ้างว่าเกิดความเหลื่อมล้ำในระหว่างประชาชน) เนื่องจากประชาชน 10 ล้านคนในระบบประกันสังคม ซึ่งส่วนมากเป็นคนจนแต่ขยันทำงานเป็นลูกจ้าง ต้องจ่ายเงินตนเองเข้าสู่ระบบประกันสังคมทุกเดือน จึงจะได้รับสิทธิในการรักษา(ประกันสุขภาพ) ในขณะที่ประชาชนในระบบ 30 บาทนั้นมีทั้งคนจนและคนไม่จน แต่กลับได้รับการประกันสุขภาพฟรี โดยไม่ต้องรับผิดชอบในพฤติกรรมเพื่อสร้างเสริมสุขภาพหรือป้องกันโรคใดๆ รวมทั้งไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆเลย

ส่วนข้าราชการนั้น เป็นผู้เสียสละทำงานเพื่อบริการประชาชน จึงสมควรได้รับสิทธิสวัสดิการข้าราชการ เหมือนกับข้าราชการ(พนักงานของรัฐ) ในประเทศอื่นๆทั่วโลก

3. การจะแก้ไขวิธีการดำเนินการใดๆในระบบ 30 บาท จะต้องไปพิจารณาทบทวนแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ก่อน และสิ่งที่สำคัญที่สุดก่อนที่จะทำการใดๆก็คือ ต้องตรวจสอบว่า ในปัจจุบันนี้ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ดำเนินการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ถูกต้องตามที่ได้บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือไม่/อย่างไร มีการทุจริตคอรัปชั่นหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนของกรรมการ อนุกรรมการ เจ้าหน้าที่ของสปสช.หรือไม่/อย่างไร จึงทำให้โรงพยาบาลที่ต้องรับรักษาผู้ป่วยในระบบ 30 บาท ต้องประสบปัญหาการขาดทุนจนเกือบจะล้มละลาย เป็นจำนวนมากมายหลายร้อยแห่ง และมาตรฐานการแพทย์ตกต่ำจนทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนเพิ่มขึ้น และยุติปัญหานั้นโดยทันที

แต่ในขณะเดียวกัน งบประมาณค่าเหมาจ่ายรายหัวในระบบ 30 บาท ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พ.ศ. 2545- พ.ศ. 2554 จาก 27,612 ล้านบาทไปเป็น101,057ล้านบาท) เพิ่มเฉลี่ยปีละ 26.6% และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมากกว่าที่Organization for Economic Co-operation Development (OECD) ได้แนะนำไว้ว่างบประมาณด้านสุขภาพทั้งหมดของประเทศไม่ควรเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 4.7 ต่อปี

ซึ่งถ้าไม่มีการแก้ไขการบริหารจัดการของ กองทุนหลักประกันสุขภาพ 30 บาทให้เหมาะสม/ถูกต้อง ให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการดูแลสร้างเสริม ป้องกันและรักษาสุขภาพตนเองแล้วก็จะทำให้รัฐบาลไม่มีเงินจ่ายภายในไม่กี่ปีข้างหน้า หรือต้องมีการเพิ่มการเก็บภาษีจากประชาชนทุกคนเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมาก เพื่อให้มีเงินเพียงพอในระบบ 30 บาท เพื่อให้สามารถรักษาคุณภาพมาตรฐานการแพทย์ได้

4. จะต้องแก้ไขปัญหาความขาดแคลนทรัพยากรของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเร่งด่วน เนื่องจากเป็นกระทรวงเดียวที่ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินงานตามภารกิจหน้าที่ที่ได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กล่าวคือ มีภาระหน้าที่ในการสร้างเสริมสุขภาพอนามัย การป้องกัน การควบคุม และรักษาโรคภัย การฟื้นฟูสมรรถภาพของประชาชน และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข หรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข

แม้แต่เงินเดือนข้าราชการและพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมทั้งงบประมาณในการพัฒนาอาคารสถานที่ การซ่อมบำรุง และการจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์และเวชภัณฑ์ ก็ถูกจัดส่งไปให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่”ถือเงินเป็นอำนาจ” ในการ “สั่งการ”ให้กระทรวงสาธารณสุขทำตามระเบียบและกฎเกณฑ์ ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

กระทรวงสาธารณสุขจึงมีสภาพเหมือน “เป็ดง่อย” นอกจากจะถูกคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและ สปสช. “สั่งการ” แล้ว ในปัจจุบัน รัฐมนตรียัง “เลือกเข้าข้าง” สปสช.และบีบบังคับข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขให้ทำตาม “ประกาศิต”ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสปสช. ถ้าข้าราชการคนไหนไม่ทำตามก็จะถูก “เด้ง” ออกจากตำแหน่ง เหมือนกับเป็นรัฐมนตรีที่มาจากพรรคการเมือง ไม่ใช่มาจากผู้หวังดีต่อบ้านเมืองในยุค คสช.เลย

นอกจากการขาดแคลนงบประมาณและการขาดแคลน “อิสรภาพ” ในการบริหารงานของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว กระทรวงสาธารณสุขยังไม่สามารถจัดสรรตำแหน่งและอัตรากำลังของข้าราชการและพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เหมาะสมกับปริมาณงานและคุณภาพมาตรฐานของงานอีกด้วย โดยไปผูกติดอยู่ใต้บังคับบัญชาของก.พ.มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากมายมหาศาล จากผู้ป่วยปีละ 80 ล้านครั้ง ไปเป็นปีละ 170 ล้านครั้งในรอบ 10 ปีที่เริ่มระบบ 30 บาท (เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า)
ถ้าจะเปรียบเทียบให้คสช.ซึ่งเป็นทหารเข้าใจสภาพ “เป็ดง่อย” ของกระทรวงสาธารณสุข ก็ต้องเปรียบเทียบว่า ถ้ากระทรวงสาธารณสุขเป็นกองทัพ ก็ไม่สามารถเกณฑ์ทหารเอง (ต้องไปอ้อนวอนขอตำแหน่งจากก.พ.) ไม่สามารถที่จะของบประมาณได้เอง (ต้องผ่านBroker คือสปสช.) และไม่สามารถกำหนดยุทธวิธีในการรบกับข้าศึกได้เอง (ต้องรอระเบียบจากสปสช.)

ฉะนั้น วิธีการแก้ไขปัญหาในระบบหลักประกันสุขภาพและการให้บริหารสาธารณสุข หรือจะเรียกให้เหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ว่า “การปฏิรูประบบสาธารณสุขและการปฏิรูปการประกันสุขภาพ” หรือเรียกให้สั้นๆในภาษาอังกฤษว่า “Healthcare Reform” นั้น จะต้องเริ่มจาก การแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เพื่อมิให้กฎหมายนี้เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการบริหารจัดการด้านการประกันสุขภาพ และต้องจัดสรรงบประมาณและบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขให้เหมาะสม เพียงพอต่อการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพมาตรฐานเพื่อความสะดวกและปลอดภัยต่อประชาชน และทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี เป็นทรัพยากรบุคคลที่แข็งแรงเพื่อที่จะช่วยสร้างสรรค์จรรโลงประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไป

รายละเอียดการปฏิรูประบบประกันสุขภาพ และระบบบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขนั้น จะนำเสนอในโอกาสต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น