“องค์กรสตรี” จี้ พม. งัดมาตรการรับมือสงกรานต์ พร้อมตั้งคำถามเห็นปัญหาลวนลามอนาจารหรือไม่ เหตุทุกภาคส่วนออกรณรงค์สร้างความตระหนัก แต่บทบาทม ของ พม. ยังน้อยอยู่ ขณะที่ผลสำรวจชัดวัยรุ่นร้อยละ 70 อยากเห็นมาตรการรับมือ น่าห่วงวัยรุ่นชายร้อยละ 43 มองเป็นเรื่องปกติใครๆ ก็ทำ
เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2558 นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยว่า ปัญหาการละเมิดสิทธิ ลวนลาม อนาจาร โป๊เปลือย ในเทศกาลสงกรานต์พบเห็นทุกปีและนับวันประเพณีสงกรานต์เปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นเทศกาลดื่มฉลอง เน้นความสนุกสนานเกินเลย ส่งผลกระทบ รอบด้าน ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ร่วมกับ เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ได้ลงพื้นที่สำรวจ “มุมมองวัยรุ่นหญิงต่อปัญหาการคุกคามทางเพศช่วงสงกรานต์” อายุระหว่าง 15 - 25 ปี จำนวน 800 ตัวอย่าง ในพื้นที่ กทม. พบว่าเทศกาลสงกรานต์เป็นเทศกาลที่วัยรุ่นให้ความสำคัญมากที่สุด วัยรุ่นหญิงระบุปัญหาที่เกิดขึ้นในวันสงกรานต์ คือ การลวนลาม/คุกคามทางเพศ ร้อยละ 33.9 รองลงมาอุบัติเหตุจากการขับรถและโดยสารรถ ร้อยละ 30.56% การทะเลาะวิวาทร้อยละ 18.60 ทั้งนี้ วัยรุ่นหญิงมากกว่า 70% เห็นว่า ปัญหาการลวนลามคุกคามทางเพศในช่วงสงกรานต์ เป็นปัญหาที่ต้องเร่งหามาตรการป้องกันแก้ไข ที่น่าตกใจคือ ผลสำรวจวัยรุ่นชาย ในปี 2556 พบว่า กว่าร้อยละ 43 มองปัญหานี้เป็นเรื่องปกติ ใครก็ทำกันและไม่ต้องสนใจกฎหมายด้วย ซึ่งตรงนี้น่าเป็นห่วงมาก ข้อสำคัญคือแทบทุกเรื่องที่เป็นปัญหาช่วงสงกรานต์ มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปเป็นปัจจัยกระตุ้นโดยตลอด
นายจะเด็จ กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นจึงอยากตั้งคำถามไปยังกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ว่า เห็นถึงปัญหานี้หรือไม่ เนื่องจากหลายหน่วยงานออกมารณรงค์สร้างความตระหนักแต่กลับไร้วี่แวว พม. ทั้งที่เป็นองค์กรภาครัฐที่ดูแล แก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง และเด็ก ทั้งนี้ ขอฝากข้อเสนอต่อ กระทรวง พม. ในสองเรื่องคือ 1. ปัญหาการลวนลาม คุกคามทางเพศช่วง สงกรานต์ เป็นปัญหาใหญ่ที่ทวีความรุนแรงและเริ่มเป็นความคิดความเชื่อที่ผิดๆ ไปแล้ว จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีเจ้าภาพจัดการ ดังนั้น กระทรวง พม. ควรเป็นเจ้าภาพหลักในการบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการลวนลามคุกคามทางเพศ ในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ และขอให้ OSCC 1300 ในแต่ละพื้นที่เป็นหน่วยงานรับเรื่องและให้ความช่วยเหลือกรณีเกิดการลวนลาม คุกคามทางเพศในช่วงเวลาดังกล่าว โดยมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้ความผิดตามกฎหมายและการแจ้งเหตุ
และข้อ 2. ขอให้มีการมอบหมายให้ พม. จังหวัด อาสาสมัคร พม. สนับสนุนการจัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามมติคณะรัฐมนตรี 27 มีนาคม 2558 โดยเข้าไปบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมูลนิธิและภาคีเครือข่าย ยินดีสนับสนุนการทำงานร่วมกับกระทรวง พม. ในการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลวนลาม คุกคามทางเพศ และการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ปัญหานี้จะถูกกระทรวง พม. มองเห็น และมีมาตรการทั้งเฉพาะหน้าและในระยะยาว ก่อนที่เทศกาลสงกรานต์จะผิดเพี้ยนไปมากกว่านี้
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่