ASTV ผู้จัดการ - องค์กรผู้หญิง-กลุ่มเยาวชน จี้ สตช.แก้ปัญหาลวนลาม-ฉวยโอกาสสงกรานต์ ระบุปัจจัยหลักยังมาจากสุรา วอนบังคับใช้กฎหมายป้องปราม พร้อมจัดโซนนิ่งพื้นที่เล่นสงกรานต์ปลอดน้ำเมา
วันนี้ (31 มี.ค.) เวลา 11.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) น.ส.อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พร้อมด้วยนายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และนักเรียน นักศึกษา จากเครือข่ายฯ กว่า 30 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ผ่านทาง พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อเรียกร้องให้มีมาตรการป้องปรามและบังคับใช้กฎหมายกรณีผู้หญิงและเด็กเยาวชนถูกฉวยโอกาส ลวนลาม คุกคามทางเพศในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ซึ่งผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่มีอาการมึนเมา และเหตุเกิดในพื้นที่เล่นน้ำที่ไม่มีการห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
น.ส.อังคณากล่าวว่า ปัจจุบันเทศกาลสงกรานต์ได้เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม กลายเป็นเทศกาลฉลองดื่มสุรา เน้นความสนุกสนาน ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งอุบัติเหตุบนท้องถนน สูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน การทะเลาะวิวาท การคุกคามทางเพศ ทั้งนี้ปีที่ผ่านมามูลนิธิฯ ได้สำรวจ “มุมมองวัยรุ่นชายต่อปัญหาล่วงละเมิดทางเพศช่วงสงกรานต์” อายุระหว่าง 15-25 ปี จำนวน 664 ตัวอย่าง ในพื้นที่ กทม. โดยผู้ตอบแบบสอบถามมองปัญหาที่จะเกิดขึ้นมากที่สุดในวันสงกรานต์ คือ ทะเลาะวิวาท ร้อยละ 30 แต่งตัวล่อแหลมร้อยละ 27 อุบัติเหตุจากการขับรถร้อยละ 16 การลวนลาม คุกคามทางเพศร้อยละ 13 การสาดน้ำรุนแรง ร้อยละ 12 และในกรณีคุกคามทางเพศของวัยรุ่นในช่วงสงกรานต์ เกินครึ่งหรือ ร้อยละ 57 มองเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข ที่น่าห่วงคือร้อยละ 43 มองเป็นเทศกาลแห่งโอกาสใครๆ ก็ทำได้ไม่ต้องสนใจกฎหมายเป็นเรื่องปกติ โดยปัจจัยที่ทำให้การลวนลาม คุกคามทางเพศเกิดขึ้นร้อยละ 59 ระบุว่ามาจากการดื่มสุรา
น.ส.อังคณากล่าวว่า จากการเฝ้าระวังพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ใน กทม.ปีที่ผ่านมา เช่น ถนนข้าวสาร ถนนสีลม ฯลฯ พบปัญหาสำคัญๆได้แก่การฉวยโอกาสลวนลามคุกคามทางเพศ การทะเลาะวิวาท รวมถึงการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่มีใบอนุญาต การเร่ขาย การขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ขายให้คนเมาขาดสติ รวมถึงปัญหาการดื่มสุราบนรถขณะอยู่บนทางซึ่งผิดกฎหมายทั้งสิ้น อย่างไรก็ดี ล่าสุดรัฐบาลได้ออกมาตรการใหม่เพื่อลดปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว เช่น กฎหมายที่ว่าด้วยการปฏิเสธการเป่า ให้มีความผิดเท่ากับคนเมาแล้วขับ ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทาง (ตาม พ.ร.บ.จราจร หมายรวมถึงถนนทุกชนิด ไหล่ทาง และทางเดินเท้า) ห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถไฟและสถานี ห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริเวณสถานีขนส่ง และท่าเรือโดยสาร ทั้งหมดนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ร่วมกับกฎหมายที่มีอยู่เดิมอาทิ ห้ามดื่มสุราบนรถ จำกัดสถานที่ขายและดื่ม ห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามส่งเสริมการขายลดแลกแจกแถม นอกจากนี้ยังมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ที่ผ่านมา กำหนดให้พื้นที่เล่นน้ำ สงกรานต์ในปีนี้ต้องปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
น.ส.อังคณากล่าวว่า เพื่อลดปัญหาและอันตรายที่จะเกิดขึ้นช่วงเทศกาลสงกรานต์ มูลนิธิฯ และเครือข่ายฯ มีข้อเสนอต่อ สตช.ในฐานะหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ดังนี้ 1. ขอบคุณที่ สตช.ให้ความสำคัญกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และมีนโยบายที่ชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมาย สำหรับประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับใหม่ โดยขอให้เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้เป็นการด่วน 2. ขอให้ สตช.ให้ความสำคัญกับปัญหาการถูกลวนลาม คุกคามทางเพศ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยเข้มงวดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ มีการประชาสัมพันธ์ป้องปรามและกำหนดจุดรับเรื่องร้องเรียนช่วยเหลือให้เป็นรูปธรรม 3. ขอให้ สตช.สนับสนุนการจัดพื้นที่เล่นน้ำที่ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามมติคณะรัฐมนตรีโดยการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปสนับสนุนกิจกรรม เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการกระทำที่ผิดกฎหมาย 4. กำชับหน่วยงานในสังกัดให้ระมัดระวังการจัดกิจกรรมสงกรานต์ร่วมกับธุรกิจแอลกอฮอล์ที่อาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการตกเป็นเครื่องมือในการสื่อสารการตลาด และอาจมีประเด็นที่ผิดกฎหมายตามมา
ด้าน พล.ต.ท.ประวุฒิกล่าวว่า ได้กำชับให้ตำรวจบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทั้งการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในที่ห้าม เช่น สถานีขนส่ง สถานีบริการน้ำมัน และไหล่ทาง รวมถึงส่งสายตรวจลงพื้นที่จัดงานสงกรานต์ ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด ดูแลความปลอดภัย พร้อมปรับการตั้งจุดรับแจ้งเหตุด่วนให้ชัดเจนมากขึ้น