xs
xsm
sm
md
lg

แจงคำสั่งให้นายก อบจ.ภูเก็ต หยุดปฏิบัติหน้าที่ เกิดจากจัดจ้างวิธีพิเศษปรับปรุงห้องผู้ป่วยรวม รพ.อบจ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายก อบจ. ภูเก็ต
ศูนย์ข่าวภูเก็ต - รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ออกโรงแจงคำสั่งหัวหน้า คสช.ให้นายก อบจ.ภูเก็ต หยุดปฏิบัติหน้าที่ มาจากเป็นการใช้เงินสะสม 25 ล้านบาท จัดจ้างวิธีพิเศษปรับปรุงหอผู้ป่วยรวมโรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต 42 ห้อง ให้เข้าหลักเกณฑ์ สปสช.บอกต้องรีบทำเพื่อให้คนภูเก็ตเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข พร้อมเร่งให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบให้เสร็จ มั่นใจทำไปด้วยความสุจริตเพื่อประโยชน์สูงสุดของคนภูเก็ต พร้อมหนุนนโยบายปราบปรามทุจริตของ คสช.อย่างเต็มที่
นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายก อบจ. ภูเก็ต
เมื่อเวลา 14.00 น.วันนี้ (26 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมโรงพยาบาล อบจ.เก็ต นายชวลิต ณ นคร รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต รักษาราชการแทนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.) ได้แถลงข่าวชี้แจงกรณีคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2558 เรื่องแต่งตั้งและให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำรงตำแหน่ง และปฏิบัติหน้าที่อื่น โดยในคำสั่งดังกล่าวให้ นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ระงับการปฏิบัติราชการชั่วคราวในระหว่างการตรวจสอบนั้น ว่า

คำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าว ไม่ได้กล่าวว่ามีการทุจริต เพียงแต่บอกว่าอยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเท่านั้น ซึ่งการตรวจสอบในครั้งนี้ทาง อบจ.ภูเก็ต เข้าใจว่าน่าจะเป็นกรณีการปรับปรุงโรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต เมื่อปี พ.ศ.2554 เพื่อให้มีหอผู้ป่วยรวมเพื่อจะได้ขึ้ทะเบียนเป็นหน่วยบริการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อทำให้ประชาชนผู้ยากไร้ได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่างทั่วถึง
นายชวลิต ณ นคร รองนายก อบจ. ภูเก็ต
ทั้งนี้ เนื่องจากเนื่องจากในปี พ.ศ.2554 โรงพยาบาลของรัฐทั้ง 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โรงพยาบาลถลาง โรงพยาบาลป่าตอง มีบุคลากรไม่เพียงพอที่จะให้บริการรักษาพยาบาลแก่ประชาชน เมื่อเปรียบเทียบบุคลากรทางการแพทย์ของภาครัฐทั้ง 3 แห่งที่มีอยู่ ณ วันที่ 30กันยายน 2552 และ 30 กันยายน 2553 กับมาตรฐานการให้บริการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาล (GIS) พบว่า ยังขาดบุคลากรทางการแพทย์ และพยาบาลอยู่อีก ดังนี้ แพทย์ จำนวน 64 คน ทันตแพทย์ จำนวน 60 คน พยาบาล จำนวน 878 คน อีกทั้งจำนวนเตียงในโรงพยาบาลของรัฐ จำนวน 3 แห่ง ก็มีไม่เพียงพอที่จะรองรับผู้มาใช้บริการ อาจกล่าวได้ว่าขาดแคลนแพทย์ พยาบาล ที่มีจำนวนการขาดแคลนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี และการมีเตียงผู้ป่วยไม่เพียงพอนี้ถือเป็นปัญหาสำคัญของการให้บริการด้านสาธารณสุขของจังหวัดภูเก็ต เป็นเหตุให้ประชาชนจังหวัดภูเก็ตที่เข้ารับการรักษาพยาบาลต้องรอคอยการตรวจวินิจฉัยโรคเป็นเวลานาน ตลอดจนไม่อาจได้รับการรักษาพยาบาลเป็นได้ทั้งหมด เพราะโรงพยาบาลของรัฐสามารถให้บริการผู้ป่วยได้เพียงร้อยละ 50 เท่านั้น ประชาชนต้องไปรักษาโรงพยาบาลเอกชนทำให้เดือดร้อนเพราะต้องแบกภาระค่ารักษาพยาบาลสูงมาก
นายชวลิต ณ นคร รองนายก อบจ. ภูเก็ต
ดังนั้น โรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต จึงขอขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการของ สปสช. เพื่อจะให้ผู้ป่วยที่ยากไร้ตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้เข้ารักษาพยาบาลฟรีที่โรงพยาบาล อบจ. เพื่อแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลของรัฐ โดยได้รับเงินอุดหนุนชดเชยค่ารักษาพยาบาลจาก สปสช. ซึ่งจะต้องดำเนินการขอขึ้นทะเบียนภายในเดือนมิถุนายน 2554 ซึ่งจะได้รับการตรวจประเมิน และสามารถให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 โดยนายไพบูลย์ เห็นว่า การปรับปรุงให้มีหอผู้ป่วยรวมนี้ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ยากไร้ หากล่าช้าจะต้องไปขอขึ้นทะเบียนในปีงบประมาณ 2555 ซึ่งจะได้รับเงินอุดหนุนในเดือนตุลาคม 2555 ทำให้การบริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ยากไร้ต้องล่าช้าออกไปถึง 1 ปี จึงขออนุมัติใช้จ่ายเงินสะสม และดำเนินการการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยบริหารราชการส่วนทองถิ่น พ.ศ.2535 ข้อ 18 (3) เพื่อปรับปรุงหอผู้ป่วยรวมขนาดไม่น้อยกว่า 40 เตียงและอาคารโรงพยาบาล 10 ชั้น เป็นเงิน 25 ล้านบาท

จากการที่โรงพยาบาลองค์กาบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการแบบมีเงื่อนไข มีผลให้ได้รับเงินอุดหนุนชดเชยค่ารักษาพยาบาลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาพยาบาลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2555 ประกอบด้วย ผู้ป่วยนอก จำนวน 80,043 ครั้ง ผู้ป่วยใน 4,311 คน เป็นเงินทั้งสิ้น 17,157,400 บาท

ต่อมา สำนักตรวจสอบพิเศษภาค 13 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินลงมาตรวจสอบ มีความเห็นว่า การปรับปรุงหอผู้ป่วยรวมไม่ถือเป็นกรณีเร่งด่วน เพราะหากขึ้นทะเบียนไม่ทันในปี 2554 ก็สามารถขึ้นทะเบียนได้ในปี 2555 ได้ โดยในระหว่างนั้นประชาชนก็สามารถใช้บริการจากโรงพยาบาลวิระภูเก็ตได้ จึงเสนอเรื่องให้สำนักงาน ป.ป.ช. สอบสวน โดยขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการตรวจสอบของสำนักงาน ป.ป.ช. ยังไม่สรุปว่ามีความผิดหรือไม่แต่อย่างใด

นายชวลิต ชี้แจงเพิ่มว่า การบริหารงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตตามนโยบายนายไพบูลย์ มิได้หยุดชะงัก เพราะตนยังรักษาราชการแทนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดจนกว่าการสอบสวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. จะแล้วเสร็จ ซึ่งจะขอให้ ป.ป.ช.กรุณาเร่งรัดดำเนินการสอบสวนโดยเร็ว เพราะเชื่อมั่นในความสุจริตว่าทำไปเพื่อประโยชน์ของพี่น้องชาวภูเก็ตผู้ยากไร้อย่างแท้จริง ซึ่งที่ผ่านมา อบจ.ภูเก็ต ภายใต้การบริหารของนายไพบูลย์ ได้รับรางวัลในด้านความโปร่งใสและมีส่วนรวมกับประชาชนหลายรางวัล เช่น จากสำนักงาน ป.ป.ช. สถาบันพระปกเกล้า และล่าสุดจากสำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจ เป็นต้น

นายชวลิต กล่าวในตอนท้ายว่า มั่นใจว่าสิ่งที่ อบจ.ภูเก็ตดำเนินการไปนั้นดำเนินการไปด้วยความสุจริต เพื่อประโยชน์ของคนคนภูเก็ตโดยแท้จริงภายใต้บริบท “คนภูเก็ตต้องช่วยคนภูเก็ต” และเห็นด้วยต่อนโยบายของหัวหน้า คสช.และรัฐบาลในการตรวจสอบเรื่องการทุจริตที่สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติมาช้านาน เพียงแต่ต้องการให้ทาง คสช.ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนว่าสิ่งที่ทาง สตง.เสนอไปนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ สตง.ที่มองว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน แต่ทาง อบจ.ภูเก็ต มองว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้บริการด้านสาธารณสุขแก่คนภูเก็ต
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น