xs
xsm
sm
md
lg

จี้ “รัชตะ” คุมค่ายา-เครื่องมือแพทย์เอกชน วอนทบทวนเมดิคัล ฮับ ทำระบบสุขภาพพัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ยื่น “รัชตะ” กำหนดนโยบายเร่งด่วน คุม “ค่ายา - เครื่องมือแพทย์” จัดหมวดหมู่ใน รพ.เอกชน ชัดเจน จี้คลอดมาตรการระยะกลาง - ยาว ตอบโจทย์แก้ปัญหา วอนทบทวนนโยบายเมดิคัล ฮับ ชี้ส่งผลกระทบระบบสุขภาพ ปริมาณการใช้ยา

วันนี้ (8 มิ.ย.) นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เดินทางมายื่นหนังสือเรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาล รพ.เอกชน แพง ต่อ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่เดินทางมายังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า ภาคประชาชนมีข้อเสนอเพิ่มเติมหลักๆ คือ กำหนดนโยบายเร่งด่วนในเรื่องค่ายาและค่าเครื่องมือแพทย์ ให้มีการจัดหมวดหมู่ค่าใช้จ่ายในการรักษาใน รพ.เอกชน อย่างชัดเจน โดยระบุรายละเอียด ราคาในหมวดยา เครื่องมือแพทย์ ค่าบริการวิชาชีพ และค่าบริการอื่นๆ และเร่งรัดคณะกรรมการดำเนินการแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาล รพ.เอกชน แพง ให้มีการกำหนดมาตรการระยะกลาง และระยะยาว ที่สามารถตอบปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การพัฒนากลไกร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงภาคประชาชน ในการแก้กฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เกิดกระบวนการควบคุมราคายา เครื่องมือแพทย์โดยผูกติดกับขั้นตอนการยื่นขึ้นทะเบียนยา และเครื่องมือแพทย์เพื่อจัดจำหน่ายทั้งกรณีรายใหม่ และต่ออายุ

นางปรียนันท์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องการตรวจรักษาขอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกลางระดับชาติที่ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการตรวจสอบประวัติแล้วว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรพ.เอกชน ตัวแทนราชวิทยาลัยแพทย์ทุกแห่ง ตัวแทน สธ. กระทรวงยุติธรรม และภาคประชาชนเพื่อติดตามตรวจสอบ และทำการศึกษาข้อมูลใน รพ.เอกชน ทั่วประเทศ ในเรื่องการส่งตรวจเกินความจำเป็น รวมถึงการดูแลรักษาและให้ยาที่ไม่จำเป็นไม่ตรงตามมาตรฐานการรักษา ทั้งนี้ คณะกรรมการต้องขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรีเพื่อให้เป็นอิสระ เป็นธรรม และโปร่งใส ทั้งนี้ ในเรื่องค่าบริการ เพื่อความสะดวกสบายในรพ.เอกชนนั้นภาคประชาชนไม่ขอเข้าไปยุ่งเกี่ยว

“ขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายเมดิคัล ฮับ ที่จะหารายได้จากต่างประเทศด้วย นโยบายดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อระบบสุขภาพโดยรวมของประเทศ ทั้งเรื่องโครงสร้างราคา ปริมาณการใช้ยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงปัญหาเรื่องกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศ อาทิ ประมาณ คุณภาพ และเจตคติในระยะยาว อีกทั้งเมื่อค่ารักษาใน รพ.เอกชน แพง ทำให้เกิดสภาวะสมองไหล ภาระของ รพ.รัฐ เพิ่มขึ้น ผู้ป่วยต้องรอนานขึ้น ทำให้ภาครัฐต้องปรับขึ้นค้าใช้จ่ายต่างๆ ตาม ซึ่งส่งผลกระทบต่องบประมาณของกองทุนต่างๆ แต่ในที่สุดผลร้ายก็จะตกแก่ประชาชนคนไทยโดยรวม ดังนั้น การรักษาผู้ป่วยจึงไม่ใช่สินค้าที่จะมาหากำไรอย่างไร้ขีดจำกัด เพราะการรักษาเป็นการประกอบวิชาชีพที่อยู่บนพื้นฐานของคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรม และบรรทัดฐานอันดีงามของสังคม บุคลากรด้านการแพทย์จึงเป็นที่ยกย่องยอมรับของสังคม” นางปรียนันท์ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น