xs
xsm
sm
md
lg

ยังไม่จบ! ตร.เนปาลยิงผู้ชุมนุมเจ็บ 3 หลังเริ่มบังคับใช้รัฐธรรมนูญใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เหล่าผู้ประท้วงต่อต้านรัฐธรรมนูญใหม่ในเมืองหลวงของเนปาลเมื่อวันจันทร์(21ก.ย.) ทำการเผากระดาษสัญลักษณ์แทนรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยฉบับแรกของประเทศที่บังคับใช้เป็นกฎหมายไปแล้วเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนจะเกิดการปะทะกับตำรวจ จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 ราย
รอยเตอร์ - ตำรวจเนปาลยิงผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 3 รายเมื่อวันจันทร์ (21 ก.ย.) หรือ 1 วันหลังประเทศแห่งนี้บังคับใช้รัฐธรรมประชาธิปไตยฉบับแรก ด้วยความหวังว่าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้จะหยุดหลายสัปดาห์แห่งการประท้วงต่อต้านนองเลือดซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปราว 40 ศพ

ปราโมช คาเรล รองผู้กำกับการตำรวจในเขตโมรัง ทางใต้ของเนปาล เปิดเผยว่าผู้ประท้วงเหล่านั้นอยู่ในอาการสาหัส หลังจากตำรวจเปิดฉากยิงเข้าใส่การชุมนุมต่อต้านรัฐธรรมนูญในเมืองพิรัตนคร ด้วยกระสุนเปล่า กระสุนยางและอาจมีกระสุนจริงรวมอยู่ด้วย ขณะเดียวกันก็มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 1 นาย หลังถูกผู้ชุมนุมปาหินเข้าใส่

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเนปาลถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันอาทิตย์ (20 ก.ย.) แม้ถูกต่อต้านอย่างดุเดือดจากชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆบริเวณแถบที่ราบลุ่มทางใต้ของประเทศ เนื่องจากไม่พอใจที่เขตการปกครองมาตุภูมิของพวกเขาจะถูกแบ่งออกไปรวมกับเขตอื่นๆ

รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะแบ่งประเทศที่มีประชากร 28 ล้านคนเป็น 7 รัฐ ความเคลื่อนไหวที่มีเป้าหมายถ่ายโอนอำนาจจากศูนย์กลาง แต่พวกเหล่านักวิจารณ์มองว่ามันไม่ได้ให้อำนาจมากพอแก่กลุ่มต่างๆที่ไม่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ในนั้นรวมไปถึงชนกลุ่มน้อยมาเดสีและทารู ซึ่งมีถิ่นฐานส่วนใหญ่ในแถบราบลุ่มทางใต้ของประเทศ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเนปาลบอกว่าแม้รัฐธรรมนูญใหม่จะไม่สมบูรณ์แบบแต่ก็ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย และสามารถปรับแก้เพื่อสะท้อนความปรารถนาของกลุ่มที่คัดค้านในอนาคต

ความพยายามร่างรัฐธรรมนูญใหม่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2008 หรือ 2 ปีหลังจากสิ้นสุดสงครามกลางเมืองระหว่างกองกำลังรัฐกับกองโจรนิยมลัทธิเหมาที่ต้องการขจัดระบบกษัตริย์และยุติความไม่เท่าเทียมกันของสังคม แต่มาประสบความสำเร็จหลังจากบรรดากลุ่มก้อนการเมืองหลัก ระงับความเป็นศัตรูกันชั่วคราว ตามหลังแผ่นดินไหวใหญ่ 2 ครั้งซ้อนคร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 9,000 ศพในปีนี้

รัฐธรรมนูญฉบับถูกต่อต้านจากกลุ่มที่ต้องการคืนสถานะเนปาลสู่ประเทศฮินดู และชนกลุ่มน้อยซึ่งมีถิ่นฐานส่วนใหญ่ในแถบราบลุ่มทางใต้ของประเทศ ซึ่งอ้างว่าการแบ่งเขตพรมแดนภายในใหม่ จะทำให้พวกเขาด้อยโอกาสทางสังคม


กำลังโหลดความคิดเห็น