xs
xsm
sm
md
lg

เหตุให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน : โจทย์สำหรับครั้งใหม่

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

“ธรรมทั้งหลาย เกิดจากเหตุพระตถาคทรงตรัสธรรมนั้น และความดับแห่งธรรมนั้น พระมหาสมณะตรัสอย่างนี้” นี่คือเถรกถาซึ่งพระอัสสชิแสดงแก่ติสสปริพาชก และต่อมาได้บวชเป็นภิกษุในพุทธศาสนาได้ชื่อว่าสารีบุตร ผู้เลิศทางปัญญา

โดยนัยแห่งเถรกถาดังกล่าวข้างต้น หมายความว่าบรรดาสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกนี้ หรือแม้กระทั่งในโลกอื่น ล้วนแล้วแต่มีเหตุทำให้เกิดขึ้นทั้งสิ้น จะเกิดขึ้นลอยๆ ย่อมเป็นไปไม่ได้

ส่วนว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งไหนเกิดจากอะไรนั้น ถ้าเป็นอรหันต์ก็รู้ได้ด้วยญาณ แต่ถ้าเป็นปุถุชนคนทั่วไป ก็รู้ได้ด้วยการอนุมานในเชิงตรรกศาสตร์ โดยอาศัยความเชื่อมโยงระหว่างเหตุกับผล ซึ่งนำมาใช้ในการสอบสวน และการพยากรณ์เหตุการณ์ กล่าวคือ ถ้าเห็นเหตุแล้วคาดการณ์ไปหาผล ซึ่งยังไม่เกิดขึ้น และนำสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีตมาเทียบเคียงเรียกว่า การพยากรณ์ แต่ถ้าเห็นผลแล้วสาวไปหาเหตุอันเป็นต้นตอแห่งการเกิดของสิ่งนั้น เรียกว่าการสอบสวน และนี่เองคือแนวทางแสวงหาความจริงของกฎแห่งกรรมในพุทธศาสนา และโดยนัยกฎแห่งกรรมนี้ พระพุทธเจ้าจึงสอนในลักษณะยืนกระต่ายขาเดียวว่า เหตุที่ดีจะทำให้เกิดผลดี และผลที่ดี ย่อมเกิดจากที่ดีในทางกลับกัน เหตุที่ไม่ดี ทำให้เกิดผลที่ไม่ดี และผลที่ไม่ดีย่อมเกิดจากเหตุที่ไม่ดี

เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา คนไทยทั้งประเทศได้รับรู้ข่าวร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบของ สปช.มีผลทำให้เกิดปัจจัยต่อเนื่อง 2 ประการคือ

ประการแรก จะต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยคณะกรรมการชุดใหม่

ประการที่สอง ระยะเวลาในการบริหารประเทศของรัฐบาลต้องยืดออกไป

การที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบของ สปช.ทำให้ประชาชนพากันงุนงง และเต็มไปด้วยข้อสงสัย ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ทั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจาก คสช.จึงไม่น่าที่จะปฏิบัติการสวนทางกับ คสช.

2. จำนวนเสียงที่โหวต 135 ต่อ 105 โดยมีผู้งดออกเสียง 7 และเมื่อนำเอาเสียงที่เห็นด้วยมาลบเสียงที่ไม่เห็นด้วย จะมีผลต่างกัน 30 เสียง ซึ่งเท่ากับจำนวนของเสียงสมาชิกซึ่งมาจากสายทหาร และตำรวจที่ออกเสียงไม่เห็นด้วย

3. ก่อนการลงคะแนนออกเสียงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ถ้าฟังจากกระแสข่าวปรากฏว่า ฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมีเสียงก้ำกึ่งกัน แต่ก่อนใกล้วันออกเสียง ได้มีกระแสข่าวว่ามีการสั่งล็อบบี้กัน และเสียงฝ่ายไม่เห็นด้วยก็ดังขึ้น และมีข่าวหลุดออกมาว่ามีใบสั่งไม่รับ จึงมีการอนุมานว่าใบสั่งจะมีผลค่อนข้าง 100 เปอร์เซ็นต์ จะต้องอยู่ในกลุ่มที่มีการจัดตั้ง เช่น หัวคะแนนพรรคการเมือง และในกลุ่มที่มีสายบังคับบัญชาซึ่งมีระเบียบวินัยเคร่งครัดเท่านั้น

ส่วนสาเหตุที่นำมาอ้างในการไม่รับ ถ้าดูตามกระแสนักวิเคราะห์แล้วมีมากมายหลากหลายประการ แต่ถ้าอนุมานในเชิงตรรกะแล้วน่าจะมี 3 ประการดังต่อไปนี้

1. เนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น นายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ถ้ามองด้วยเหตุด้วยผล โดยมองย้อนไปดูความเป็นมาของการเมืองไทยในอดีตก็น่าจะรับได้ แต่ผู้ที่ไม่รับน่าจะจำกัดอยู่ใน 2 กลุ่มคือ

1.1 นักการเมืองที่แสวงหาอำนาจ โดยอาศัยการเลือกตั้ง

1.2 นักวิชาการผู้หลงใหลในรูปแบบประชาธิปไตยมากกว่าเนื้อหา เนื่องจากถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมทางการเมืองของโลกตะวันตก หรือไม่ก็ประเภทยึดติดแฟชั่นการเมืองในทิศทางของคนมองโลกสวย

2. เห็นด้วยกับเนื้อหา แต่เกรงว่าจะไม่ผ่านการทำประชามติ เมื่อสองพรรคการเมืองใหญ่คือ ประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วย ถ้าสองพรรคการเมืองที่ว่านี้ทุ่มเทกำลังในการปลุกระดม และทุ่มทุนเพื่อแลกเปลี่ยนกับการออกเสียงไม่เห็นด้วย ร่างรัฐธรรมนูญคงจะผ่านได้ยาก และถ้าไม่ผ่านรัฐก็เสียเงิน 4,000 ล้านบาท โดยไม่ได้อะไรจึงไม่เห็นด้วย

3. เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเนื้อหา แต่มองว่าถ้ามีการเลือกตั้งในขณะที่กลุ่มอำนาจเก่ายังมีพลังอำนาจ และประเทศชาติยังมิได้ปฏิรูป ก็จะทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งเหมือนที่ผ่านมา และต้องการให้รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารประเทศต่อไป เพื่อแก้ปัญหาอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งในอนาคตให้หมดหรือเหลือน้อยก่อนแล้วค่อยจัดการเลือกตั้ง

ไม่ว่าการไม่เห็นด้วยของ สปช.จะเกิดขึ้นจากเหตุใด ผู้เขียนเห็นว่าถูกต้อง โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า ถ้าปัญหาอันเป็นพื้นฐานแห่งความขัดแย้งยังไม่ถูกขจัดให้หมดไป และมีการจัดการเลือกตั้งแน่นอนว่าจะกลับไปสู่จุดเดิมเหมือนในปี พ.ศ. 2551 และ 2554

แต่อย่างไรก็ตาม การที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน และต้องมีการร่างกันใหม่ เหตุอ้างในการไม่เห็นด้วยของ สปช.ควรจะได้นำมาเป็นโจทย์ในการร่างรัฐธรรมนูญครั้งใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นที่มาของ ส.ส. และ ส.ว.ซึ่งมีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้นเกือบทุกครั้งที่ผ่านมา

ส่วนเนื้อหาควรจะต้องให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมไทย และพฤติกรรมทางการเมืองแบบไทยๆ ไม่ควรลอกแบบตะวันตก โดยไม่มีการประยุกต์ใช้
กำลังโหลดความคิดเห็น