ศาลทหารกรุงเทพ ส่งคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจ คดี “จาตุรนต์” หลังศาลยุติธรรมชี้อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน พร้อมวินิจฉัยคำสั่ง คสช.ให้มีผลบังคับย้อนหลังทางอาญาไม่ได้ ด้านเจ้าตัวขอบคุณศาลทหารรับคำร้อง และศาลอาญาที่ให้ความเป็นธรรม ลั่นมีสิทธิเสนอความเห็น ยันไม่ได้ยุยงผิดเงื่อนไข โวยจ้อผ่านศูนย์ปรองดองสมานฉันเพื่อการปฏิรูป เรื่องเงียบเหมือนถูกเก็บเข้าลิ้นชัก เตรียมแจงถูกยึดพาสปอร์ต
วันนี้ (28 ก.ย.) ที่ศาลทหารกรุงเทพ เมื่อเวลา 09.10 น. นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการและอดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหามีความผิดฐานขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 37 และ 38 เนื่องจากไม่เข้ารายงานตัว และกระทำการยุยง ปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบหรือละเมิดกฎหมายแผ่นดินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 รวมถึง พ.ร.บ.กระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ได้เดินทางมารับฟังเรื่องการวินิจฉัยเขตอำนาจศาล หลังจากทำเรื่องขอให้ศาลทหารกรุงเทพส่งเรื่องวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจศาลให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีอยู่เขตศาลทหารหรือศาลอาญา ก่อนจะดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีได้ตามขั้นตอนต่อไป รวมถึงศาลทหารกรุงเทพได้ขอความเห็นจากศาลอาญา หากศาลอาญาเห็นตามศาลทหาร คดีจะดำเนินการต่อไปในศาลทหาร แต่หากศาลอาญาเห็นแย้งว่าควรอยู่ในการพิจารณาของศาลอาญา จะต้องเข้าคณะกรรมการร่วมระหว่างศาลทหารกับศาลอาญา เพื่อชี้เขตอำนาจศาลว่าจะอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลใด
โดยนายจาตุรนต์ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้ารับฟังการพิจารณาคดีว่า วันนี้ทางศาลทหารกรุงเทพได้นัดตนมาฟังคำสั่ง ตนยังไม่ทราบว่าเป็นเรื่องใด อีกทั้งคดีของตนก็ยังไม่มีการตรวจสอบพยานหลักฐาน และยังไม่มีการไต่สวน เนื่องจากอยู่ระหว่างการรอพิจารณาเรื่องเขตอำนาจของศาล ประกอบกับตนได้ทำเรื่องร้องไปว่าคดีของตนไม่น่าจะอยู่ในอำนาจขอบเขตของศาลทหารกรุงเทพ และศาลทหารฯ ก็ได้พิจารณาและส่งเรื่องไปสอบถามศาลอาญา ทั้งตนยังไม่ทราบว่าศาลอาญาพิจารณาคำร้องแล้วหรือยัง อย่างไรก็ตาม ทางศาลทหารฯ เห็นว่าข้อหาการไม่เดินทางไปรายงานตัวต่อ คสช.เป็นข้อหาที่อยู่ในขอบเขตอำนาจศาลพลเรือน ก็จะส่งเรื่องต่อไปยังอาญาเพื่อพิจารณาคดี ขณะที่ข้อหาที่ผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อหาผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อยู่ในอำนาจขอบเขตของศาลทหาร คงต้องรอการพิจารณาของศาลอาญาก่อน ถ้าศาลอาญามีความเห็นตรงกับศาลทหารฯ ก็ต้องว่าไปตามนั้น หากทั้งสองศาลเห็นไม่ตรงกันต้องให้คณะกรรมการศาลพิจารณาว่าอยู่ในอำนาจขอบเขตของศาลใด
จากนั้นเวลา 11.00 น. นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ในฐานะทนายความนายจาตุรนต์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการรับฟังคำสั่งศาลว่า วันนี้ศาลทหารกรุงเทพได้นัดฟังคำสั่งคำร้องของนายจาตุรนต์ที่ขอให้ศาลทหารส่งสำนวนให้ศาลอาญากรุงเทพใต้พิจารณาทำความเห็นตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 มาตรา 10 คณะทนายความของนายจาตุรนต์ ได้เดินทางมาฟังคำร้องว่าคดีไม่ได้อยู่ในอำนาจศาลทหาร เพราะศาลยุติธรรมเห็นว่าคดีนายจาตุรนต์อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรมทั้ง 3 ข้อหา และจะดำเนินการในศาลทหารไม่ได้ พร้อมทั้งออกคำวินิจฉัยเป็นเอกสารเห็นว่าบรรดาคำสั่งใดๆ ที่ คสช.ออกคำสั่งมาเป็นโทษต่อจำเลยนั้น โดยหลักของกฎหมายอาญาว่ากฎหมายจะออกมาให้มีผลบังคับย้อนหลังต่อกระบวนพิจารณาให้เป็นโทษต่อจำเลยทางอาญานั้นไม่ได้
นายนรินทร์พงษ์กล่าวต่อว่า จากความเห็นของศาลอาญากรุงเทพใต้มีความแตกต่างจากศาลทหารกรุงเทพ ดังนั้นทางศาลทหารจะส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลทำการพิจารณา และมีคำวินิจฉัยชี้ขาดต่อไปซึ่งคำวินิจฉัยออกมาจะถือเป็นที่สุด โดยจากนี้ไปกระบวนการพิจารณายังไม่ดำเนินการใดๆ ตนคาดว่าจะใช้เวลาพอสมควร
ด้านนายจาตุรนต์กล่าวว่า คดีดังกล่าวตนมีความคิดเห็นตั้งแต่ระยะเวลาแรกๆ ที่มีการพิจารณาคดีว่าน่าจะอยู่ในขอบเขตอำนาจของศาลพลเรือน นั่นคือศาลยุติธรรม จึงได้ทำเรื่องร้องต่อศาลทหารกรุงเทพให้พิจารณาเรื่องเขตอำนาจของศาล เพราะเห็นว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศ อีกทั้งวันเวลาที่เกิดเหตุ และวันเวลาออกคำสั่งเพิ่งอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม เพราะฉะนั้นตนต้องขอขอบคุณศาลทหารกรุงเทพที่รับคำร้องดังกล่าวไว้ และส่งไปให้ศาลอาญากรุงเทพซึ่งวันนี้ผลออกมา เมื่อศาลอาญากรุงเทพใต้เห็นว่าคดีนี้เป็นอำนาจของศาลพลเรือน ดังนั้นเรื่องก็ต้องไปสู่คณะกรรมการฯ ขณะเดียวกัน ต้องขอบขอบคุณศาลอาญากรุงเทพใต้ด้วยที่พิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่ตนอีกขั้นหนึ่ง หลังจากนี้ก็ต้องรอคณะกรรมการฯ ไม่รู้จะใช้เวลานานเท่าใด
นายจาตุรนต์กล่าวต่อว่า ส่วนการเคลื่อนไหวทางการเมืองตนมองว่าไม่ได้ทำอะไรนอกเหนือจากการแสดงความคิดเห็น เพราะที่ผ่านมาตนเคลื่อนไหวในฐานะประชาชน และนักการเมืองคนหนึ่งที่พึงมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน ดังนั้นตนจะทำแบบนี้อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งคำนึงถึงเงื่อนไขการประกันตัวอย่างเคร่งครัด และไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่ยุยงปลุกปั่นให้คนทำผิดกฎหมาย หรือพูดในสิ่งที่ผิดกฎหมายความมั่นคง ทั้งนี้ขอย้ำว่าตราบใดที่ยังเป็นประชาชน และนักการเมืองคนหนึ่งที่พึงมีสิทธิตามกฎหมาย และข้อตกลงระหว่างประเทศ ตนก็จะทำต่อไป
“สำหรับการแสดงความคิดเห็นที่ผ่านมาก็เคยไปแสดงความคิดเห็นรวมกับศูนย์ปรองดองสมานฉันเพื่อการปฏิรูป (ศปป.) มาแล้ว แต่พบว่าได้ประโยชน์เพียงเล็กน้อย เพราะเวลาเสนอความคิดเห็นจริง เรื่องก็หายไป เหมือนถูกเก็บเข้าลิ้นชักหมด” นายจาตุรนต์กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีกระทรวงการต่างประเทศยกเลิกพาสปอร์ต นายจาตุรนต์กล่าวสั้นๆ ว่า “ผมจะแจ้งให้ทราบ และจะพูดอีกครั้งเร็วนี้”