xs
xsm
sm
md
lg

"จาตุรนต์"ลุ้นผลกก.วินิจฉัย นำคดีคสช.ขึ้นศาลพลเรือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 09.10 น. วานนี้ (28 ก.ย.) ที่ศาลทหารกรุงเทพ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ และอดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหามีความผิดฐานขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 37 และ 38 เนื่องจากไม่เข้ารายงานตัว และ กระทำการยุยง ปลุกปั่น ให้เกิดความไม่สงบ หรือละเมิดกฎหมายแผ่นดินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา116 รวมถึง พ.ร.บ.กระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ได้เดินทางมารับฟัง เรื่องการวินิจฉัยเขตอำนาจศาล หลังจากทำเรื่องขอให้ศาลทหารกรุงเทพ ส่งเรื่องวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจศาล ให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีดังกล่าว อยู่เขตศาลทหาร หรือศาลอาญา ก่อนจะดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีได้ตามขั้นตอนต่อไป รวมถึงศาลทหารกรุงเทพ ได้ขอความเห็นจากศาลอาญา หากศาลอาญาเห็นตามศาลทหาร คดีจะดำเนินการต่อไปในศาลทหาร แต่หากศาลอาญาเห็นแย้งว่า ควรอยู่ในการพิจารณาของศาลอาญา จะต้องเข้าคณะกรรมการร่วมระหว่างศาลทหาร กับศาลอาญา เพื่อชี้เขตอำนาจศาล ว่าจะอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลใด
นายจาตุรนต์ ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้ารับฟังการพิจารณาคดีว่า ทางศาลทหารกรุงเทพ ได้นัดตนมาฟังคำสั่ง ซึ่งตนยังไม่ทราบว่า เป็นเรื่องใด อีกทั้งคดีของตน ก็ยังไม่มีการตรวจสอบพยานหลักฐาน และยังไม่มีการไต่สวน เนื่องจากอยู่ระหว่างการรอพิจารณาเรื่องเขตอำนาจของศาล ประกอบกับตนได้ทำเรื่องร้องไปว่า คดีของตนไม่น่าจะอยู่ในอำนาจขอบเขตของศาลทหารกรุงเทพ และศาลทหารฯ ก็ได้พิจารณา และส่งเรื่องไปสอบถามศาลอาญา ซึ่งตนยังไม่ทราบว่า ศาลอาญาพิจารณาคำร้องแล้วหรือยัง
อย่างไรก็ตาม ทางศาลทหารฯ เห็นว่าข้อหาการไม่เดินทางไปรายงานตัวต่อคสช. เป็นข้อหาที่อยู่ในขอบเขตอำนาจศาลพลเรือน ก็จะส่งเรื่องต่อไปยังอาญา เพื่อพิจารณาคดี ขณะที่ข้อหาที่ผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และข้อหาผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อยู่ในอำนาจขอบเขตของศาลทหาร คงต้องรอการพิจารณาของศาลอาญาก่อน ถ้าศาลอาญามีความเห็นตรงกับศาลทหารฯ ก็ต้องว่าไปตามนั้น หากทั้งสองศาลเห็นไม่ตรงกัน ต้องให้คณะกรรมการศาลพิจารณาว่า อยู่ในอำนาจขอบเขตของศาลใด
จากนั้น เวลา 11.00 น. นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ในฐานะทนายความ นายจาตุรนต์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการรับฟังคำสั่งศาลว่า ศาลทหารกรุงเทพได้นัดฟังคำสั่งคำร้องของ นายจาตุรนต์ ที่ขอให้ศาลทหาร ส่งสำนวนให้ศาลอาญากรุงเทพใต้พิจารณาทำความเห็นตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 มาตรา 10 คณะทนายความของนายจาตุรนต์ ได้เดินทางมาฟังคำร้องว่า คดีไม่ได้อยู่ในอำนาจศาลทหาร เพราะศาลยุติธรรมเห็นว่า คดีนายจาตุรนต์ อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม ทั้ง 3 ข้อหาและจะดำเนินการในศาลทหารไม่ได้ พร้อมทั้งออกคำวินิจฉัยเป็นเอกสาร เห็นว่าบรรดาคำสั่งใดๆ ที่ คสช.ออกคำสั่งมา เป็นโทษต่อจำเลยนั้น โดยหลักของกฎหมายอาญา ว่ากฎหมายจะออกมาให้มีผลบังคับย้อนหลังต่อกระบวนพิจารณาให้เป็นโทษต่อจำเลยทางอาญานั้นไม่ได้
นายนรินทร์พงษ์ กล่าวต่อว่า จากความเห็นของศาลอาญากรุงเทพใต้ มีความแตกต่างจากศาลทหารกรุงเทพ ดังนั้น ทางศาลทหารจะส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ทำการพิจารณา และมีคำวินิจฉัยชี้ขาดต่อไป ซึ่งคำวินิจฉัยออกมาจะถือเป็นที่สุด
ด้านนายจาตุรนต์ กล่าวว่า คดีดังกล่าว ตนมีความคิดเห็นตั้งแต่ระยะเวลาแรกๆ ที่มีการพิจารณาคดีว่า น่าจะอยู่ในขอบเขตอำนาจของศาลพลเรือน นั่นคือ ศาลยุติธรรม จึงได้ทำเรื่องร้องต่อศาลทหารกรุงเทพ ให้พิจารณาเรื่องเขตอำนาจของศาล เพราะเห็นว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศ อีกทั้งวันเวลาที่เกิดเหตุ และวันเวลาออกคำสั่ง พึ่งอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม เพราะฉะนั้นตนต้องขอขอบคุณศาลทหารกรุงเทพ ที่รับคำร้องดังกล่าวไว้ และส่งไปให้ศาลอาญากรุงเทพ ซึ่งวันนี้ผลออกมา เมื่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เห็นว่าคดีนี้เป็นอำนาจของศาลพลเรือน ดังนั้นเรื่องก็ต้องไปสู่คณะกรรมการฯ ขณะเดียวกัน ต้องขอบขอบคุณศาลอาญากรุงเทพใต้ด้วย ที่พิจารณาให้ความเป็นธรรมกับตนอีกขั้นหนึ่ง หลังจากนี้ก็ต้องรอคณะกรรมการฯไม่รู้จะใช้เวลานานเท่าใด
ส่วนการเคลื่อนไหวทางการเมือง ตนมองว่าไม่ได้ทำอะไรนอกเหนือจากการแสดงความคิดเห็น เพราะที่ผ่านมา ตนเคลื่อนไหวในฐานะประชาชน และนักการเมืองคนหนึ่งที่พึงมีสิทธิ เสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็น อันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน ดังนั้นตนจะทำแบบนี้อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งคำนึงถึงเงื่อนไขการประกันตัวอย่างเคร่งครัด และไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่ยุยงปลุกปั่นให้คนทำผิดกฎหมาย หรือพูดในสิ่งที่ผิดกฎหมายความมั่นคง ทั้งนี้ขอย้ำว่า ตราบใดที่ยังเป็นประชาชน และนักการเมืองคนหนึ่งที่พึงมีสิทธิ ตามกฎหมาย และข้อตกลงระหว่างประเทศ ตนก็จะทำต่อไป
"สำหรับการแสดงความคิดเห็นที่ผ่านมา ก็เคยไปแสดงความคิดเห็นรวมกับศูนย์ปรองดองสมานฉันเพื่อการปฏิรูป (ศปป.) มาแล้ว แต่พบว่า ได้ประโยชน์เพียงเล็กน้อย เพราะเวลาเสนอความคิดเห็นจริง เรื่องก็หายไป เหมือนถูกเก็บเข้าลิ้นชักหมด" นายจาตุรนต์ กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีที่ถูกกระทรวงการต่างประเทศยกเลิกพาสปอร์ต นายจาตุรนต์ กล่าวสั้นๆว่า "ผมจะแจ้งให้ทราบ และจะพูดอีกครั้งเร็วนี้"
กำลังโหลดความคิดเห็น