ผ่าประเด็นร้อน
“การปิดบัญชีล่าสุดจะเพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนเท่าไร ยังบอกไม่ได้ แต่ผลขาดทุนมากกว่าความเสียหายที่ทางสำนักนายกฯ ตรวจสอบออกมา 5.1 แสนล้านบาท เพราะเป็นการตรวจสอบข้าวเฉพาะรัฐบาลที่ผ่านมา แต่อนุกรรมการปิดบัญชีการจำนำข้าว 15 โครงการ เป็นของหลายรัฐบาลที่ผ่านมา”
“สำหรับการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวรอบ 30 ก.ย. 2557 มียอดขาดทุน 7 แสนล้านบาท แยกเป็น 11 โครงการ ก่อนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1.63 แสนล้านบาท และอีก 4 โครงการ สมัยยิ่งลักษณ์อีก 5.36 แสนล้านบาท”
นั่นเป็นคำพูดของปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ที่เปิดเผยตัวเลขการขาดทุนและความเสียหายของโครงการดังกล่าวที่เป็นการรวบยอดมาทุกรัฐบาลที่ผ่านมา แต่เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขก็พบความจริงว่าในยุคสมัยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แค่ 4 โครงการเท่านั้น แต่ยอดรวมความเสียหายก็มีตัวเลขเบื้องต้นถึง 5.36 แสนล้านบาท
ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวจากอนุกรรมการปิดบัญชีจำนำข้าว เปิดเผยว่า ผลขาดทุนจำนำข้าวจะเพิ่มขึ้นจากการระบายข้าว 4.7 ล้านตัน ขายได้ต่ำกว่าราคาต้นทุน นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่าย ค่าเก็บรักษาข้าว ค่าโกดัง รวมถึงค่าดอกเบี้ยจากเงินกู้รวมกันไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีผลขาดทุนจากการเสื่อมคุณภาพของข้าวที่เหลืออยู่ 13 ล้านตัน ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาซึ่งล้วนแต่มีผลทำให้การขาดทุนเพิ่มขึ้น
ความหมายก็คือ ตัวเลขความเสียหายจะเพิ่มขึ้นอีกมาก เพราะยังมีข้าวที่ค้างอยู่ในสต๊อกอีกกว่า 13 ล้านตัน ที่ต้องเสื่อมสภาพไปตามเวลา และที่ผ่านมามีการระบายข่ายออกไปแล้วราว 4.7 ล้านตันก็ต้องขายขาดทุน เพราะซื้อมาในราคาสูงเกินกว่าราคาตลาด อีกทั้งยังมีค่าเก็บรักษา ค่าเช่าโกดังสารพัด ยิ่งนานค่าใช้จ่ายก็ยิ่งเพิ่ม
อย่างไรก็ดี จากคำพูดของปลัดกระทรวงการคลังข้างต้นยังบอกว่า คณะอนุกรรมการได้สั่งให้หน่วยงานต่างๆ ส่งข้อมูลให้คณะทำงานปิดบัญชีภายในวันที่ 30 กันยายน 2558 ส่วน อ.ต.ก.และ อคส.ให้เวลาถึง 30 ตุลาคม ซึ่งคณะทำงานจะมีการสรุปปิดบัญชีผลขาดทุนก่อนภายในสิ้นเดือน ตุลาคมและส่งข้อมูลให้อนุกรรมการประชุมสรุปได้ต้นเดือน พฤศจิกายน 2558 และรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบต่อไป
ถ้าให้สรุปจากตัวเลขดังกล่าวข้างต้นก็ต้องรับรู้กันว่าตัวเลขความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวจากทุกรัฐบาลก็ต้องมากกว่า 7 แสนล้านบาท และความเสียหายในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพียงรัฐบาลเดียวตัวเลขก็ต้องเกิน 6 แสนล้านบาท เพราะยังมีข้าวที่เหลือค้างในสต็อกอีกกว่า 13 ล้านตัน ต้องใช้เวลาระบายอีกไม่น้อยกว่าสองสามปี ซึ่งถึงตอนนั้นก็เป็นข้าวที่เสื่อมสภาพไปเกือบหมดแล้ว
เมื่อหันมาพิจารณาในด้านกฎหมายเพื่อเอาผิดกับคนที่เป็นต้นเหตุของความเสียหายด้านงบประมาณของรัฐจำนวนมหาศาล ต้องเริ่มจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่แสดงท่าทีชัดเจนว่าต้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากคนพวกนี้ และย้ำว่าจะต้องดำเนินคดีภายในสิ้นปีนี้หรืออย่างช้าภายในต้นปีหน้า
อย่างไรก็ดี รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย วิษณุ เครืองาม ได้ให้แนวทางด้านกฎหมายว่า คดีโครงการทุจริตจำนำข้าวแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. คดีทางการเมือง คือ เรื่องถอดถอน ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. และ สนช.ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว 2. คดีทางอาญา ขณะนี้ได้ส่งเรื่องฟ้องไปยังศาลอาญาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว และ 3. การฟ้องทางแพ่ง เพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับผิดชอบ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ต้องใช้หลักนิติธรรม สร้างความเป็นธรรมให้คู่กรณี ไม่ใช้อารมรณ์ ใช้หลักกฎหมายดำเนินการ โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับความผิดเกี่ยวข้องเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจะต้องเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงเพื่อป้องกันข้อครหา และเสียรูปคดีในอนาคต
โดยในขั้นตอนแรก ได้มีการตั้งกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริง 2 ชุด คือ 1. กรรมการสอบเท็จจริงที่นายกรัฐมนตรีลงนามแต่งตั้งร่วมกับ รมว.คลัง โดยสอบ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าว ที่ขณะนี้ใกล้ปิดสำนวนแล้ว 2. กรรมการสอบข้อเท็จจริงที่นายกรัฐมนตรีลงนามแต่งตั้งร่วมกับ รมว.พาณิชย์ เพื่อสอบข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ 6 คน ส่วนเอกชนไม่ต้องตั้งกรรมการสอบแต่แยกฟ้องต่างหาก หากห็นว่าเชื่อมโยงสามารถเรียกสอบได้ และเมื่อกรรมการสอบข้อเท็จจริงทั้ง 2 ชุดดำเนินการเสร็จจะรายงานกลับไปนายกรัฐมนตรีรับทราบโดยกรรมการทั้ง 2 ชุดจะต้องทำให้เสร็จภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ จากนั้นส่งต่อไปยังคณะกรรมการความรับผิดทางแพ่งเพื่อเรียกสินไหมทดแทนที่ระบุชื่อทั้ง 2 กลุ่มก็ระบุชื่อว่ามีใครบ้าง โดยจะต้องดำเนินการภายใน 2 ปี คือตั้งแต่ ก.พ. 2558 คือจะครบอายุความใน ก.พ. 2560 แต่เชื่อว่าจะเสร็จสิ้นได้ภายในเดือน ธ.ค. 2558 หรืออย่างช้าต้นปี 2559
ทั้งนี้ หากพบว่ามีความผิด รัฐจะไม่ฟ้อง แต่จะสั่งให้ชำระหนี้ เหมือนคำสั่งยึดทรัพย์ ซึ่งผู้ที่ทำผิดสามารถไปยื่นอุทธรณ์คำสั่งได้ ซึ่งทุกอย่างน่าจะจบได้ในชั้นอายุความ ความหมายก็คือทุกอย่างจะจบภายในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2560
ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามตารางเวลาดังกล่าวก็ต้องถือว่าไม่นานเกินรอ อีกทั้งจำนวนค่าเสียหายมหาศาลอีกด้านหนึ่งก็ต้องให้ความเป็นธรรมด้วย ต้องว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรมอย่างเต็มที่ ให้มีโอกาสชี้แจงแก้ตัวก่อน แต่ถึงอย่างไรเมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์ในอดีตความผิดที่เกี่ยวกับนักการเมือง เกี่ยวกับเรื่องทุจริตมักจะเหลวทุกอย่าง แทบทุกครั้งมักเป็นเรื่องที่ยกขึ้นมาเพื่อ “ต่อรอง” หวังผลบางอย่างเท่านั้น กรณีของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มันก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่าถึงที่สุดแล้วจะได้เรื่องอีกหรือเปล่า จะชดใช้ได้สักกี่บาท!