xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะใส” แนะจับตา 5 ปัจจัยเสี่ยงการเมืองปีนี้ ส่อตัดสินชี้ขาดประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (แฟ้มภาพ)
รองคณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต ชี้ การเมืองไทยปีนี้มีจุดตัดสินชี้ขาดประเทศ แนะจับตา 5 ปัจจัยเสี่ยง ปมประชามติร่างรัฐธรรมนูญ, คดีโกงจำนำข้าว, เศรษฐกิจ, ม็อบ และแรงกดดันต่างชาติ แถมยุทธศาสตร์โลกล้อมของ “แม้ว” เตือนข่าวทุจริตทำย่ำแย่เร็วกว่าที่คิด

วันนี้ (3 ม.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวว่า ตนเห็นว่าแนวโน้มสถานการณ์สังคมการเมืองไทยในปี พ.ศ. 2559 มีหลายปมปัจจัยที่ขมวดมัดเข้ามา และต้องจับตา เพราะอาจเป็นจุดตัดสินชี้ขาดในแต่ละปัจจัย จนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ทางการเมืองและอาจกลายเป็นจุดชี้ขาดประเทศไทยได้ในที่สุด โดย 5 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตา ปัจจัยที่ 1 คือการประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามโรดแมปจะเป็นช่วงกลาง ๆ ปี ประชามติครั้งนี้จะมีนัยยะที่มากกว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะอาจมีการแปลความบิดเบือนให้เป็นการลงมติเพื่อแสดงเจตจำนงทางการเมืองบางอย่างที่มากกว่าร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น และผลของประชามติไม่ว่าจะออกมาทางใดก็อาจมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายระลอก

นายสุริยะใส กล่าวว่า ปัจจัยที่ 2 คดีทุจริตจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งทางอาญาและแพ่ง น่าจะได้ข้อยุติช่วงปลายปี หากผลของคดีต้องรับผิดและต้องชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นมหาศาล แรงกระเพื่อมจะสูงกว่าคดีที่ดินรัชดาของทักษิณ เพราะมวลชนผู้สนับสนุนก็จะใช้เป็นเงื่อนไขปลุกปั่น เพราะมีการกล่าวหาไว้ล่วงหน้าแล้วว่าคดีนี้ 2 มาตรฐาน และเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง ปัจจัยที่ 3 ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง สภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศที่ต่อเนื่องมา จนส่งผลกระทบต่อคนระดับล่างเกษตรกรชาวไร่ชาวนาในช่วงปีที่ผ่านมา ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำรุนแรงต่อเนื่อง หากปีนี้ยังไม่กระเตื้อง อาจทำให้ประชาชนเกิดความอึดอัดไม่พอใจต่อความสามารถของรัฐบาล จนแปรเปลี่ยนไปเป็นความไม่เชื่อมั่นไว้วางใจในที่สุด และโดยปกติวิกฤตเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยล้มรัฐบาลได้ง่ายกว่าปัจจัยทางการเมือง

นายสุริยะใส กล่าวต่อว่า ปัจจัยที่ 4 การเคลื่อนไหวมวลชน ซึ่งก็มีมาอยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะกลุ่มอำนาจเก่า เพียงแต่ที่ผ่านมาทำได้จำกัดจำเขี่ย ขาดแนวร่วม และความชอบธรรมเพียงพอ แต่ในปีนี้หากปัจจัยเรื่องประชามติรัฐธรรมนูญ คดีจำนำข้าว และปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง กลายมาเป็นตัวแปรเกื้อหนุน อาจทำให้โมเมนตัมของมวลชนเปลี่ยนมาเข้าทาง หรือกลายเป็นแนวร่วมมุมกลับของมวลชนกลุ่มอำนาจเก่าได้เช่นกัน

นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่ 5 แรงกดดันจากต่างประเทศที่ต้องจับตา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาประมงใบเหลืองที่สหภาพยุโรป (EU) จะจัดเกรดอีกทีในราวเดือนมีนาคม ปัญหาค้ามนุษย์ที่ยังคาอยู่ระดับ Tier 3 หรือแม้แต่การบินพลเรือนที่ ICAO ยังแขวนใบแดงประเทศไทยไว้ เหล่านี้ยังคงเป็นปัญหาครึ่งผีครึ่งคน บวกกับยุทธการโลกล้อมประเทศอาจจะหนักหน่วงขึ้นจากเกมการล็อบบียิสต์ที่ นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องคำพิพากษาศาลฎีกา คงไม่ปล่อยให้น้องสาวสู้โดดเดี่ยวลำพังในประเทศอีกต่อไป โดยทั้ง 5 ปัจจัยขึ้นอยู่กับศักยภาพและความสามารถของรัฐบาล คสช. ล้วน ๆ ซึ่งรัฐบาลจะต้องไม่ทำตัวกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ 6 เสียเอง โดยเฉพาะข่าวคาวเรื่องทุจริตและความไม่ชอบมาพากลในการบริหารราชการแผ่นดิน ต้องระมัดระวังเป็นที่สุด เพราะอาจทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงเร็วกว่าที่คิด


กำลังโหลดความคิดเห็น