xs
xsm
sm
md
lg

ข้อกฎหมายของคำสั่งชดใช้ค่าเสียหายคดีจำนำข้าว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พระบาท นามเมือง

หลังจากเกี่ยงโยนเผือกร้อนกันไปมาระหว่างฝ่ายข้าราชการประจำ และฝ่ายการเมือง ในที่สุด คำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครองเพื่อให้ผู้ก่อความเสียหายในคดีจำนำข้าวต้องรับผิดในทางละเมิดก็ได้รับการลงนามผ่านออกมาเสียที

พอเริ่มมีข่าวว่าจะมีการออกคำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหาย ฝ่ายผู้ที่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย ได้แก่พวกที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐในคดีจำนำข้าวก็ออกมาดิ้นกันเป็นแถวๆ ว่าเป็นการลัดขั้นตอน ข้ามกระบวนการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองบ้าง หรืออ้างว่าเป็นการใช้อำนาจพิเศษบ้าง และขู่จะฟ้องกลับกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

เพื่อจะพิจารณาว่าข้อต่อสู้ของบรรดา “จำเลย” ในคดีนี้นั้นรับฟังได้หรือไม่ การออกคำสั่งทางปกครองให้ชดใช้ค่าเสียหายคดีจำนำข้าวเป็นการลัดขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมจริงหรือ จึงต้องขออนุญาตอธิบายหลักกฎหมายเรื่องการออกคำสั่งทางปกครองในเรื่องนี้หน่อย เพราะถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเฉพาะทาง ซึ่งถ้าไม่ใช่คนในแวดวงกฎหมายปกครองแล้วจะไม่เข้าใจ บางคนก็เรียกว่าเป็นการชดใช้ทางแพ่ง ซึ่งไม่ตรงเสียทีเดียว

จากที่ได้สอบถามผู้รู้ จึงทราบว่า การใช้อำนาจออกคำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายในกรณีจำนำข้าวนี้ เป็นไปตามหลักของกฎหมายปกครองสองฉบับ

ฉบับแรกที่ต้องพิจารณากัน คือ พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำการให้เกิดความเสียหาย หรือที่ภาษากฎหมายเรียกว่าไปทำละเมิดต่อประชาชนก็ดี ต่อหน่วยงานของตนหรือต่อรัฐก็ตาม จะต้องดำเนินการอย่างไร

ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำละเมิดและรัฐเป็นผู้เสียหาย ตามกฎหมายนี้ให้อำนาจหน่วยงานต้นสังกัดที่ได้รับความเสียหาย หน่วยงานผู้เสียหายจะต้องดำเนินการสอบสวนให้ได้ความว่าความเสียหายเกิดขึ้นนั้นเป็นความรับผิดของใคร และมูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนเท่าไร จากนั้นเมื่อทราบตัวผู้ต้องชดใช้แล้ว ก็สามารถออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดนั้นชดใช้ได้ทันที ตามมาตรา 12 ของพระราชบัญญัตินี้

ส่วนถ้าเจ้าหน้าที่ที่ได้รับคำสั่งนั้นไม่จ่ายจะทำอย่างไร อันนี้ก็จะต้องไปบังคับกันตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มาตรา 57 โดยเจ้าหน้าที่อาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้นั้น และขายทอดตลาดเพื่อชำระเงินให้ครบถ้วนได้ เช่นเดียวกับการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

การใช้มาตรการบังคับทางปกครองนี้เป็นมาตรการที่กระทำได้ทันทีโดยไม่ต้องมีคำสั่งศาล และก็จะตรงกันข้ามกับในคดีแพ่งปกติเลย คือ ในคดีแพ่งจะต้องฟ้องร้องมีคำพิพากษาถึงที่สุด จึงจะสามารถยึดทรัพย์ได้ตามคำพิพากษา แต่ในคดีละเมิดทางปกครองที่ผู้รับผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐนี้ รัฐจะใช้อำนาจสั่งให้ชดใช้ได้ทันทีและยึดทรัพย์ได้ตามเงื่อนไขของกฎหมาย หากผู้ต้องชดใช้ไม่พอใจ ต้องไปฟ้องศาลเพื่อเพิกถอนคำสั่งที่ให้ตนชดใช้ค่าเสียหายนี้เอง

ที่ตรงข้ามหรือไม่เหมือนคดีแพ่ง ก็เพราะว่า ฐานคิดของกฎหมายแพ่งกับกฎหมายปกครองนั้นแตกต่างกันแบบตรงข้ามเลยนั่นเองครับ

คือในคดีแพ่งแล้ว เขาจะถือว่าเอกชนทุกคนมีสิทธิหน้าที่เท่าเทียมกัน ดังนั้น จึงไม่มีใครสามารถบังคับคดีเอาแก่ใครได้ ดังนั้น หากมีใครได้รับความเสียหายจากเอกชนคนอื่น ก็ต้องไปพิสูจน์ต่อศาลซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ ว่าตนเองได้รับความเสียหาย หากศาลเห็นว่าเสียหายอย่างไร เท่าไร ศาลจึงจะใช้ “อำนาจรัฐ” ออกคำสั่งให้ผู้ที่ทำให้เอกชนคนนั้นเสียหายจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้ หากไม่ชดใช้ ก็จะใช้ “อำนาจรัฐ” ในการไปบังคับคดีมา เช่นจะยึดทรัพย์มาขายทอดตลาดหรืออายัดเงินเดือนรายได้อะไรก็ว่ากันไป

แต่ในกรณีของกฎหมายทางปกครองนั้น ถือว่าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งเป็น “รัฐ” ซึ่งมีอำนาจรัฐอยู่แล้ว และอีกฝ่ายหนึ่งเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ที่อยู่ภายใต้อำนาจรัฐอีกที เช่นนี้รัฐซึ่งมีอำนาจเต็มอยู่แล้ว จึงชอบที่จะใช้อำนาจรัฐได้ทันที หากเห็นว่าได้รับความเสียหายจากเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นคนของรัฐ

ถ้าผู้นั้นเห็นว่าตนเองไม่ผิด ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ หรือที่ต้องรับผิดชอบก็ไม่ได้มากมายขนาดนั้น ก็จะต้องไปขอให้ศาลวินิจฉัยเรื่องความรับผิดเอาเอง ว่าคำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายนั้นไม่ชอบ เพราะไม่ต้องรับผิดหรือถึงต้องรับผิดก็ไม่ใช่จำนวนตามที่เรียก อะไรก็ต่อสู้กันไป ซึ่งถ้าคิดตามนี้ก็สมเหตุสมผลดีใช่ไหมครับ และจะว่าไม่ยุติธรรมก็ไม่ได้ จะว่าตัดกระบวนยุติธรรมก็ไม่ใช่ เพราะในที่สุดหากไม่พอใจผู้ถูกคำสั่งก็มีสิทธิฟ้องศาลได้ เพียงแต่เนื่องจากทางฝ่ายรัฐถือว่ามีอำนาจรัฐเหนือกว่า จึงสามารถใช้อำนาจรัฐนั้นได้ทันทีเป็นหลัก ส่วนข้อยกเว้นคือหากศาลเห็นเป็นอย่างอื่น ซึ่งเป็นหลักการที่ตรงกันข้ามกับความรับผิดทางแพ่ง ที่ต่างฝ่ายต่างไม่มีอำนาจเพราะเป็นเอกชนด้วยกัน

หลักกฎหมายปกครองทั่วไปก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น ไม่เฉพาะแต่ในเรื่องละเมิดนี้ เช่น การที่ฝ่ายปกครองออกคำสั่งทางปกครองใด คำสั่งนั้นก็มีผลทันที ไม่จำเป็นต้องไปฟ้องศาลบังคับให้เป็นตามคำสั่งนั้น หากผู้ได้รับคำสั่งนั้นไม่พอใจ ก็ต้องอุทธรณ์คำสั่ง ถ้ายังไม่พอใจอีกก็ฟ้องศาลปกครองต่อไป และการฟ้องศาลหรืออุทธรณ์ก็ไม่เป็นผลให้ทุเลาการบังคับของคำสั่งทางปกครองนั้นด้วย เว้นแต่ศาลจะคุ้มครองชั่วคราวให้

จึงไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไร ที่บางครั้งมีการใช้คำพูดว่า การชดใช้ค่าเสียหายในคดีจำนำข้าว เป็น “ความรับผิดทางแพ่ง” เพราะถ้าเป็นความรับผิดทางแพ่งจริงๆ แล้วต้องเป็นเรื่องระหว่างเอกชนต่อเอกชน และจะยังไม่มีอำนาจบังคับจนกว่าศาลที่มีอำนาจพิจารณาในคดีแพ่งจะมีคำพิพากษา

และหลักของคดีละเมิดทางแพ่งมีประการหนึ่งคือ ถ้าในกรณีที่คดีนั้นเป็นความผิดทางอาญาด้วย ในคดีแพ่งจะต้องถือข้อเท็จจริงที่ได้ในคดีอาญา อันนี้ก็เป็นที่มาของข้อต่อสู้ที่ฝ่าย “จำเลย” ในคดีทุจริตจำนำข้าวพยายามต่อสู้ว่า คดีอาญาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นยังไม่มีคำพิพากษา จะมาเรียกร้องให้ใช้ค่าเสียหายทางแพ่งได้อย่างไร

ถ้าให้ถูก เรื่องนี้คือเรื่องละเมิดทางปกครอง และเป็นการเรียกค่าเสียหายกันตามกฎหมายปกครอง ไม่ใช่คดีแพ่ง จึงไม่จำเป็นต้องรอคำพิพากษาของศาลในคดีอาญา

ทั้งไม่ใช่เรื่องที่ละเมิดหลักนิติธรรมอะไร หรือไม่ใช่กรณีก้าวล่วงอำนาจศาล เพราะนี่เป็นการใช้อำนาจทางปกครอง ซึ่งเป็นอำนาจตามกฎหมายมหาชน ซึ่งรัฐมีอำนาจในการบังคับต่อ “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ได้อยู่แล้วตามหลักกฎหมายปกครอง

และไม่ใช่การตรากฎหมายใหม่ขึ้นมาเพื่อเล่นงานแก่กรณีการจำนำข้าวนี้แต่อย่างใด เพราะตามความเป็นจริงแล้ว กฎหมายนี้ก็มีใช้บังคับมาร่วม 20 ปีแล้ว และก็มีข้าราชการที่ถูกคำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายต่อรัฐในกรณีกระทำละเมิดที่ทำให้รัฐเสียหาย เป็นคำสั่งทางปกครองในรูปแบบนี้กันมาแล้วเป็นพันกว่าคนกว่าคดี ตลอดเวลาที่กฎหมายสองฉบับนี้ใช้บังคับ ไม่ใช่คดีนี้เป็นกรณีพิเศษที่มีการหยิบยกกฎหมายนี้ขึ้นมาบังคับใช้อย่างไรไม่

ทั้งหมดนี้คือความเข้าใจเบื้องต้น เกี่ยวกับคำสั่งทางปกครองให้ชดใช้ค่าเสียหายในกรณีจำนำข้าว

ข้อต่อสู้ของฝ่ายผู้ที่จะถูกมาตรการทางปกครองดังกล่าวยึดทรัพย์ออกมาร้องแรกแหกกระเชอ จึงเป็นเพียงการใช้วาทกรรมให้ผู้คนสับสนเกี่ยวกับข้อกฎหมายซึ่งค่อนข้างเฉพาะทางไม่เหมือนคดีแพ่ง - อาญาทั่วไปเท่านั้นเอง.
กำลังโหลดความคิดเห็น