อดีตอธิการฯ นิด้า แนะสังคมจับตาท่าที คสช.ต่อคดีทุจริตจำนำข้าว เสนอ ป.ป.ช. ตั้งกองอัยการสั่งฟ้องคดีเอง "หมอวรงค์" จี้ อสส.ชี้แจงความจริงกับสังคม อัด "ปึ้ง-เด็จพี่" จงใจบิดเบือนคดี ด้าน ป.ป.ช.หารือตั้งคณะทำงานร่วม อสส. 9 ก.ย. เพื่อหาข้อสรุป ส่วนพาณิชย์เตรียมประมูลข้าว 1.4 แสนตัน ครวญหน้าฝนข้าวเปลือกชื้นถูกกดราคา ด้าน คสช.เตือนทีวีดาวเทียมให้ระวังวิจารณ์องค์กรอิสระ
จากกรณีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งสำนวนพร้อมมติชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เรื่อง ละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 123/1 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจโดยมิชอบ จากกรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท
แต่นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด (อสส.) กลับมีความเห็นว่า สำนวนที่ป.ป.ช.เสนอมานั้น ยังไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดี ตามข้อกล่าวหาได้ โดยระบุความไม่สมบูรณ์ 3 ประการคือ
1 . ประเด็นเรื่องโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นโครงการของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้เป็นนโยบายต่อรัฐสภา ดังนั้น จึงควรรวบรวมพยานหลักฐานให้ได้ความชัดว่า นายกรัฐมนตรี มีอำนาจในการที่จะยับยั้งโครงการที่เป็นนโยบายของรัฐบาล ที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาหรือไม่
2. ประเด็นเรื่องการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ควรทำการไต่สวนรวบรวมพยานหลักฐานให้สิ้นกระแสความว่า ภายหลังจากที่โครงการรับจำนำข้าวได้ถูกท้วงติงจาก คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาได้ดำเนินการตรวจสอบและป้องกันการทุจริตหรือไม่ และผลการตรวจสอบ เป็นอย่างไร
3. ประเด็นเรื่องการทุจริต ควรไต่สวนพยานเพิ่มเติมให้ได้ความว่า โครงการรับจำนำข้าวที่ว่ามีการทุจริตนั้น พบการทุจริตในขั้นตอนใด และมีการทุจริตอย่างไร นอกจากนี้ มีการกล่าวอ้างถึงรายงานการวิจัยโครงการรับจำนำข้าว ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)ว่า โครงการดังกล่าวมีการทุจริต และมีความเสียหายจำนวนมาก แต่ในสำนวนการไต่สวน ปรากฏว่า มีเพียงหน้าปกรายงานการวิจัยเท่านั้น จึงให้รวบรวมรายงานการวิจัยทั้งฉบับ เป็นพยานหลักฐานในสำนวนให้สมบูรณ์
ดังนั้น ทางอัยการสูงสุดจึงตั้งผู้แทนอัยการสูงสุด จำนวน 10 ท่าน เป็นคณะทำงานร่วมกับ ป.ป.ช. ภายในเวลา 14 วัน เพื่อหาข้อยุติการฟ้องคดี
** จับตาท่าที คสช.ต่อคดี ปู โกงข้าว
นายสมบัติ ธำรงธัญวงค์ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึง กรณีอัยการสูงสุด (อสส.) ยังไม่ส่งฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า ขณะนี้กระแสสังคม ไม่ยอมรับคำชี้แจงของอัยการสูงสุด ที่ทำหน้าที่เหมือนกับทีมโฆษกของน.ส.ยิ่งลักษณ์ แก้ต่างให้แทนในทุกประเด็นที่ ป.ป.ช. ตั้งข้อกล่าวหา จึงเป็นเรื่องน่าสนใจว่า ทำไมอัยการสูงสุดจึงกล้าต้านกระแส โดยไม่สนใจข้อมูลที่ป.ป.ช. และหน่วยงานอื่นต้องใช้เวลากว่า 2 ปี ในการสอบสวน หาพยานหลักฐาน
ทั้งนี้ ในอนาคต ป.ป.ช. น่าจะเสนอแก้ไขกฎหมาย โดยจัดตั้งกองอัยการขึ้นมาเองในป.ป.ช. เพื่อทำหน้าที่ส่งฟ้องได้เลย ซึ่งจะตัดขั้นตอนความล่าช้าไปได้มาก เพราะอำนาจหน้าที่ของป.ป.ช. คือการปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชัน ทุกวันนี้กฎหมายไทยมีความล่าช้า จึงทำให้คนทำผิดไม่กลัวกฎหมาย
นอกจากนี้ จะต้องจับตาดูท่าที คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ว่า จะพูดจริง ทำจริง เรื่องการปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชันเหมือนอย่างที่สัญญาเอาไว้หรือไม่ ถ้าคสช.ไม่ทำคดีนี้ให้เป็นตัวอย่าง ก็แสดงถึงเจตนาที่แท้จริงว่า คสช. ไม่ตั้งใจเข้ามาแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันตั้งแต่แรก
**"วรงค์"จี้ อสส.แจงความจริงกับสังคม
ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ปัญหาคดีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ ป.ป.ช. ระบุว่าอาจต้องฟ้องเอง แต่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต รมว.ต่างประเทศ และ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวหาว่า เป็นการตอกลิ่มความขัดแย้ง ว่า ตนคิดว่าเป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุด (อสส.) ที่ต้องออกมาชี้แจงให้ชัดเจน เพราะประเด็นต่างๆ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ออกมาชี้แจงนั้น ตนถือว่าชัดเจน โดยเฉพาะเอกสารรายงานวิจัย ที่ ป.ป.ช. แถลงชัดว่าหากต้องการเอกสารเพิ่มเติม ก็ประสานงานไปได้
ดังนั้นเมื่ออัยการสูงสุด คิดว่าเป็นเอกสารสำคัญ ถ้าต้องการ ทำไมไม่ประสานไปยังป.ป.ช. แต่กลับเอามาเป็นข้ออ้างสำคัญในข้อที่ 3 ของคำชี้แจง เชื่อว่าหลายคนรู้สึกข้องใจเหมือนกันว่า รายงานวิจัยของ ทีดีอาร์ไอ เป็นเอกสารสำคัญต่อคำวินิจฉัยของอัยการสูงสุด ต่อคดีดังกล่าว อย่างน้อย คณะกรรมการอัยการ ควรลงมาดูแลการทำหน้าที่ของกรรมการชุดนี้ ถ้าตราบใดประชาชนยังรู้สึกถึงความไม่ชัดเจนต่อคำชี้แจง
"ส่วนกรณีเรื่องตอกลิ่มความขัดแย้ง ผมว่าเขาจงใจบิดเบือนมากกว่า เราต้องการปราบปรามการทุจริต เราต้องการความจริง เราต้องการความโปร่งใส ไม่ใช่โกงไปแล้ว ถูกจับได้ก็ขอให้แล้วๆ กันไป " น.พ.วรงค์ กล่าว
**ป.ป.ช.ถกตั้งคณะทำงานร่วม 9 ก.ย.
นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึง กรณีที่อัยการสูงสุด ยังไม่ส่งฟ้องคดีรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเห็นว่า สำนวนของ ป.ป.ช. ยังมีข้อไม่สมบูรณ์ว่า ขณะนี้อัยการสูงสุดได้ส่งรายละเอียดเรื่องความไม่สมบูรณ์ในสำนวนคดีรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาให้ ป.ป.ช.แล้ว ซึ่งในวันที่ 9 ก.ย.นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะนำเรื่องดังกล่าวมาหารือกัน เพื่อตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการ-ป.ป.ช. มาหาข้อยุติในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายยังเห็นไม่ตรงกัน คงต้องดูรายชื่อคณะทำงานที่อัยการสูงสุดส่งมาก่อน ป.ป.ช. จึงจะพิจารณาว่า จะส่งใครร่วมเป็นคณะทำงานบ้าง
ส่วนกรณีที่ นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวตอบโต้ทางอัยการสูงสุดอย่างรุนแรง คงไม่ทำให้เกิดปัญหาบานปลาย ในการทำงานระหว่างทั้งสองหน่วยงานตามมา เพราะที่ผ่านมา ป.ป.ช. และอัยการสูงสุด มีการประชุมร่วมกันเป็นประจำอยู่แล้ว สามารถทำความเข้าใจกันได้ ปัญหาในเรื่องนี้เกิดจากการเห็นประเด็นข้อกฎหมายแตกต่างกัน ระหว่าง ป.ป.ช. กับอัยการสูงสุด โดย ป.ป.ช. มองในมุมเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ยับยั้งโครงการจำนำข้าวเป็นหลัก ขณะที่อัยการสูงสุด มองในประเด็นเรื่องการทุจริตเป็นหลัก คงต้องนำประเด็นที่ยังเห็นไม่ตรงกันไปพูดคุยทำความเข้าใจ ในคณะทำงานร่วม เชื่อว่าจะทำความเข้าใจกันได้ ส่วนตัวเห็นว่า อัยการสูงสุด คงไม่ถูกกดดันการทำงานเรื่องโครงการรับจำนำข้าว เพียงแต่อัยการสูงสุด อยากให้หลักฐานที่ ป.ป.ช. ส่งไปมีความสมบูรณ์มากที่สุด เพื่อสรุปสำนวนให้แน่นหนา ก่อนส่งให้ศาลพิจารณาเท่านั้น
***พาณิชย์จ่อประมูลข้าว1.4แสนตัน
นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในต้นสัปดาห์นี้ จะมีการประกาศหลักเกณฑ์การประมูลข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลเป็นการทั่วไป หรือ ทีโออาร์ ปริมาณ 1.4 แสนตัน ประกอบด้วย ข้าวเหนียว ข้าวหอมมะลิ และปลายข้าว โดยได้ปรับหลักเกณฑ์ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และหลังจากนี้ จะเน้นการผลักดันการระบายข้าวฤดูกาลใหม่ 2557/58 เพราะผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดในปลายเดือนก.ย. รวมทั้งการระบายข้าวในสต๊อกจะใช้ข้าวที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพแล้วเท่านั้น โดยการตรวจสอบในแง่ปริมาณจะทำไปแล้วกว่า 90% แต่การตรวจคุณภาพทำได้เพียง 50% ของข้าวที่ตรวจสอบปริมาณแล้วเท่านั้น
"ข้าวในสต๊อกที่ไม่ได้คุณภาพนั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้ตั้งคณะทำงาน มากำหนดกรอบการระบายข้าวคุณภาพต่ำ เพื่อให้กรมการค้าต่างประเทศกำหนดเกณฑ์ราคาการระบาย"
ทั้งนี้ ยืนยันว่าการระบายสต๊อกข้าวสารของรัฐบาล ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้ราคาข้าวเปลือกตกต่ำอยู่ในขณะนี้ เพราะมีการเปิดระบายปริมาณไม่มาก ประกอบกับเข้าสู่หน้าฝน ทำให้ชาวนาเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตและนำมาขายให้กับโรงสี ทำให้ข้าวมีความชื้นสูง จึงทำให้ถูกหักราคา ซึ่งเป็นภาวะชั่วครวเท่านั้น และจากการสอบถามผู้ส่งข้าวพบว่าขาดแคลนเรือสินค้า ทำให้มีการหยุดซื้อข้าว แต่หลังจากนี้เชื่อราคาข้าวเปลือกจะกลับมาปรับตัวดีขึ้น เพราะสถานการณ์เรือกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชน โดยเร่งเดินทางไปเจรจาขายข้าวในหลายประเทศ เริ่มจากการทวงคืนตลาดเดิมของไทยที่เสียไป จากข้อเสียเปรียบด้านราคาที่สูงเกินคู่แข่ง โดยเฉพาะตลาดจีน ที่จะเร่งทำสัญญาขายข้าวต่อเนื่อง ตามกรอบข้อตกลงเดิมที่ 1 ล้านตัน และเตรียมนำคณะผู้แทนการค้า ร่วมงาน "ไชน่าอาเซียน เอ็กโปร์" ที่เมืองหนานนิง ในช่วงกลางเดือนกันยายนนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์และตอกย้ำคุณภาพข้าวไทยให้กับผู้บริโภคชาวจีน ทั้งนี้ มั่นใจว่า การส่งออกข้าวปีนี้ จะสูงถึง 10 ล้านตัน และแนวโน้มความต้องการข้าวยังมีสูงต่อเนื่องในปี 2558 อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลไม่ใช่สาเหตุหลักทำให้ราคาข้าวตกต่ำในขณะนี้
ด้านนายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ขณะนี้จีนและอินโดนีเซีย เริ่มกลับมาซื้อข้าวจากไทย จากก่อนหน้านี้ที่หันไปซื้อข้าวจากเวียดนาม เพราะราคาข้าวไทยไม่ได้ปรับสูงไปกว่าราคาข้าวประเทศคู่แข่ง โดยราราส่งออกข้าวไทยเฉลี่ยตันละ 420 เหรียญสหรัฐ เท่านั้น ประกอบกับคู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนามได้ทยอยขายข้าวส่วนใหญ่ไปหมดเเล้ว ซึ่งข้าวล็อตใหม่ของเวียดนาม กว่าจะออกผลผลิตใหม่ คือเดือนมี.ค.ปีหน้า หลังจากนี้ ภาครัฐและเอกชน จะเดินหน้าทวงคืนตลาดข้าวไทยให้กลับคืนมา มีเป้าหมายต่อไปในตลาดฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย
ด้านราคาข้าวเปลือกราคาตกต่ำ ยืนยันว่าผู้ส่งออกไม่ได้ชะลอหยุดซื้อข้าวสาร และทำให้โรงสีหยุดซื้อข้าวเปลือก อย่างที่เกิดกระแสข่าว แต่เป็นเพราะข้าวเปลือกมีความชื้นสูง และชาวนาเร่งเก็บเกี่ยวผลปผลิตออกมาพร้อมกันหมด ทำให้ถูกกดราคารับซื้อจากการถูกหักความชื้น เชื่อว่าระยะต่อไปราคาข้าวเปลือกจะกลับมาดีขึ้น เพราะเอกชนและรัฐก็ร่วมมือที่จะหาตลาดข้าวมารองรับผลผลิตของชาวนา โดยเชื่อว่าราคาข้าวเปลือกจะขยับขึ้นมาตันละ 8,500 บาท ตามนโยบายคสช. แต่ภาครัฐเร่งทำความเข้าใจกับชาวนา โดยพยายามไม่ให้ชาวนาเก็บเกี่ยวผลผลิตออกมาพร้อมกัน ซึ่งต้องผลักดันให้ทยอยเก็บเกี่ยวแล้วนำมาขายในตลาด เพื่อไม่ให้ราคาข้าวเปลืกอกในตลาดตกต่ำ.