xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กต๊อก” แนะใครติดใจ “ตั๊น” สอบตำรวจให้ไปเสนอแก้ระเบียบห้าม นปช.-กปปส.สมัครข้าราชการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม
“บิ๊กต๊อก” เปรย! หากสังคมยังติดใจปม “จิตภัสร์” สอบตำรวจ ต้องแก้ระเบียบห้ามแนวร่วม นปช.หรือ กปปส.สมัครเป็นข้าราชการ เทียบเคส “จูดี้” ลาออกไปสมัครผู้ว่าฯ กทม.กลับเข้ามาเป็นตำรวจใหม่ เหตุกฎหมายเปิดช่องให้ใช้สิทธิ ชี้ “ตั๊น” อาจมีสิทธิสอบเข้าตามระเบียบ ด้านอดีตรองอธิบดีกรมตำรวจชี้กรณี “ตั๊น” ไม่เกี่ยวปฏิรูปตำรวจ แค่คนสงสัย

วันนี้ (21 ก.ย.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ให้ความเห็นต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณี น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร หรือตั๊น จะเข้ารับราชการตำรวจว่า ตนไม่ได้รู้จักหรือสนิทสนมกับ น.ส.จิตภัสร์ แต่เห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นสิทธิส่วนตัวของ น.ส.จิตภัสร์ เนื่องจากพื้นฐานการศึกษาของ น.ส.จิตภัสร์เองก็ดี เหมาะสม หากจะระบุว่าเคยเคลื่อนไหวกับกลุ่ม กปปส.จึงไม่เหมาะสม ก็คงต้องกลับไปแก้ไขระเบียบราชการเพื่อประกาศให้ชัดว่าใครที่เป็นแนวร่วม นปช.หรือ กปปส. ห้ามสมัครเป็นข้าราชการ

“ในฐานะ รมว.ยุติธรรม เห็นว่ากฎหมายควรถูกใช้อย่างเท่าเทียมกัน อะไรที่เป็นสิทธิของประชาชน ก็ต้องให้ความเป็นธรรม ซึ่งเรื่องดังกล่าวเมื่อมีการเปิดรับสมัคร หน่วยงานก็มีหน้าที่กลั่นกรองตามกฎเกณฑ์ และกติกาจนผ่านเข้ามาได้ บุคคลนั้นมีสิทธิทำได้แต่หากพบว่าภายหลังมีการเข้าไปมีพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองก็ค่อยปลดตามกฎระเบียบที่มีอยู่”

กรณีที่มีการออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านกรณีดังกล่าว โดยใช้สัญลักษณ์ริบบิ้นดำว่านับเป็นเรื่องดีต่อการออกมาแสดงความคิดเห็น แต่ก็ควรปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ตนเชื่อว่าทุกหน่วยงานมีกลุ่มคนแบบนี้ กระทรวงยุติธรรมเองก็มีแต่ก็ต้องไปจัดการให้ได้

ส่วนกรณีนี้จะเทียบเคียงกับกรณีของ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร.ที่เคยออกจากราชการไปลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคเพื่อไทย แต่เมื่อไม่ได้รับเลือกตั้งก็กลับเข้ามารับราชการตำรวจในตำแหน่งรอง ผบ.ตร.นั้น พล.อ.ไพบูลย์เห็นว่า เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นสิทธิตามระเบียบที่ทำให้สามารถกลับมารับราชการได้ ต้องให้ความเป็นธรรม ในเมื่อระเบียบบอกว่าทำได้เราจะบอกว่าไม่ได้ได้อย่างไร ทั้งนี้ กฎหมายทุกฉบับควรออกมาเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกคน เพราะใช้กับทุกคน แต่คนต่างหากที่ไปใช้กฎหมายเอื้อประโยชน์แก่บางกลุ่มบางคน

ด้าน พล.ต.อ.วิรุฬห์ ฟื้นแสน อดีต ส.ส.บัญชีรายชชื่อพรรคเพื่อไทย และอดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ กล่าวว่า ความจริงโดยปกติหลักในการคัดเลือกผู้เข้ารับราชการตำรวจมีอยู่ 3 แนวทาง คือ 1. มีความจำเป็นที่ต้องใช้ผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษ เช่น ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญงานเทคนิคด้านไอที หรือเทคโนโลยีต่างๆ ผู้ชำนาญด้านวัตถุระเบิด หรือผู้ชำนาญการด้านภาษา เช่น ภาษาตุรกี ภาษาอาหรับ ฯลฯ เรียกว่าต้องมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ และขาดแคลนจริงๆ โดยผู้บังคับบัญชาเสนอไป 2. หน่วยตั้งกรรมการคัดเลือกแต่วิธีนี้เขาไม่นิยมใช้กันเท่าไหร่ และ 3. สอบแข่งขันเข้ามา แต่ไม่ใช่ว่าสอบได้แล้วจะได้เป็นตำรวจเลย แต่จะต้องมีการสอบความประพฤติด้วย เช่น ไปดูว่าเคยหนีทหารหรือไม่ หรือไปดูว่าที่ผ่านมาได้ทำสิ่งไหนที่ขัดกับกฎหมายตำรวจหรือไม่

ส่วนกรณีของ น.ส.จิตภัสร์จะนำไปสู่การปฏิรูประบบราชการตำรวจในประเด็นการคัดเลือกผู้เข้ามาเป็นตำรวจด้วยหรือไม่ พล.ต.อ.วิรุฬห์กล่าวว่า คิดว่าไม่เกี่ยว เพราะอย่างที่บอกคือต้องดูว่าเขาจะเอาไปใช้งานอะไร บางครั้งก็ต้องการผู้มีความชำนาญการพิเศษด้านนั้นๆ จริงๆ แล้วมีความขาดแคลน ข้าราชการหน่วยอื่นๆ ก็มีแบบนี้เหมือนกัน เรื่องนี้ตนมองว่าอยู่ที่ผู้บังคับบัญชาที่จะพิจารณา


พล.ต.อ.วิรุฬห์ ฟื้นแสน อดีตส.ส.บัญชีรายชชื่อพรรคเพื่อไทย และ อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ
กำลังโหลดความคิดเห็น