อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน
วันนี้(19 ก.ย.) ของเมื่อ 9 ปีที่แล้ว นับเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะเป็นวันที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ในขณะนั้น กระทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ...การรัฐประหารในครั้งนั้น ถูกมองว่า เป็นการรัฐประหารที่ “คลาสสิค” เพราะนอกจากไม่เสียเลือดเนื้อแล้ว ยังปรากฏภาพแห่งความประทับใจระหว่างทหารกับประชาชนด้วย
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายงานพิเศษ : ย้อนรอย “สนธิ” ยึดอำนาจ “ทักษิณ” 19 ก.ย.49…รัฐประหารคลาสสิค!
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 ซึ่งเป็นวันก่อนหน้าที่การชุมนุมใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะเริ่มขึ้น 1 วัน เพื่อแสดงพลังไม่ต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกฯ ที่อยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจที่สหรัฐฯ เดินทางกลับประเทศ เพราะหมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศแล้ว ปรากฏว่า สถานการณ์ส่อเค้าว่า การชุมนุมอาจมีความรุนแรงเกิดขึ้น เพราะ ส.ส.พรรคไทยรักไทย ได้พยายามทำทุกวิถีทาง ทั้งปลุกประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัด ให้ลุกขึ้นมาต่อต้านกลุ่มพันธมิตรฯ ทั้งเตรียมล่ารายชื่อประชาชน 10 ล้านคนเพื่อหนุน พ.ต.ท.ทักษิณ นอกจากนี้ยังได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ชุดใหม่ ให้สั่งระงับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ด้วย
อย่างไรก็ตาม ได้มีข้าราชการบำนาญประมาณ 10 คนเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ให้กองทัพช่วยปกป้องชีวิตคนไทยผู้บริสุทธิ์ที่จะเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ในเย็นวันที่ 20 ก.ย. นอกจากนี้ยังมีกลุ่มประชาชนผู้รักและห่วงใยชาติประมาณ 100 คน ได้เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.สนธิ เช่นกัน โดยชี้ว่า บ้านเมืองกำลังวิกฤตจาการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่ชอบธรรม ระบบราชการและองค์กรอิสระถูกครอบงำ บ้านเมืองระส่ำระสาย แบ่งออกเป็นฝักฝ่าย ทุกฝ่ายจึงได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยุติบทบาททางการเมือง แต่ก็ไม่เคยได้รับการตอบสนอง ปรากฏว่า ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว ก็มีข่าวลือตลอดทั้งวันว่า จะมีการปฏิวัติโดยทหาร แต่ไม่ทราบฝ่าย และข่าวลือยิ่งแรงขึ้นในช่วงค่ำ โดยค่อนข้างชัดเจนว่า จะเป็นการปฏิวัติโดยทหารฝ่ายตรงข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ
กระทั่งเวลา 3 ทุ่มเศษ สถานีโทรทัศน์ช่อง 5 เริ่มส่งสัญญาณว่ารอคำสั่งปฏิวัติ ด้วยการเปิดเพลงเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างไรก็ตาม เวลาประมาณ 4 ทุ่มเศษ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ชิงประกาศข้ามประเทศจากสหรัฐฯ ผ่านสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ทีวี โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ได้อ่านประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศเคอร์ฟิวใน กทม. รวมทั้งสั่งปลด พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. โดยให้ พล.อ.สนธิ ไปประจำสำนักนายกฯ และให้รายงานตัวต่อ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รักษาการรองนายกฯ นอกจากนี้ยังตั้ง พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผบ.สส.ให้เป็นหัวหน้าคณะผู้รับผิดชอบในสถานการณ์ฉุกเฉิน
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทันที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะอ่านประกาศจบ สัญญาณจากโมเดิร์นไนน์ ทีวี ก็ถูกตัดไป ซึ่งทราบภายหลังว่า เป็นการตัดโดยทหารที่เข้าควบคุมสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ เพื่อรอคำสั่งปฏิวัติ กระทั่งเวลาประมาณ 5 ทุ่มเศษ สถานีโทรทัศน์ทุกช่องได้ขึ้นข้อความของคณะปฏิวัติว่า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) ได้ควบคุมสถานการณ์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลไว้ได้แล้ว ขออภัยในความไม่สะดวก และต่อมา ได้มีผู้ประกาศออกมาอ่านแถลงการณ์ของคณะปฏิรูปฯ เป็นระยะๆ ถึงเหตุผลที่ต้องยึดอำนาจจากรัฐบาลทักษิณในครั้งนี้ โดยลงชื่อ พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปฯ
ซึ่งช่วงเช้าวันต่อมา 20 ก.ย.เวลา 9 โมงเศษ คณะปฏิรูปฯ ซึ่งประกอบด้วย พล.อ.สนธิ ,พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผบ.สส. ,พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ. ,พล.ร.อ.สถิรพันธ์ เกยานนท์ ผบ.ทร. และ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร. ได้เปิดแถลงเหตุผลที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลทักษิณอย่างเป็นทางการอีกครั้งทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ โดยให้เหตุผลว่า เป็นเพราะการบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลรักษาการในปัจจุบัน ก่อให้เกิดความขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ประชาชนยังเคลือบแคลงสงสัยว่า การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ส่อไปในทางทุจริตอย่างกว้างขวาง รวมทั้งมีการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอยู่บ่อยครั้ง
คณะปฏิรูปฯ หรือ คปค.ยังแถลงยืนยันด้วยว่า ไม่มีเจตนาเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินเสียเอง และจะรีบคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด โดยขอเวลาทำภาระหน้าที่ตรงนี้แค่ 2 สัปดาห์ เพื่อให้มีนายกฯ และ ครม.ชุดใหม่มาบริหารราชการแผ่นดินต่อไป นอกจากนี้ยังจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อประกอบการบริหารราชการแผ่นดินระหว่างนี้ รวมทั้งการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เพื่อทดแทนรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 ปี ก่อนจัดให้มีการเลือกตั้งต่อไป
หลังเข้ายึดอำนาจสำเร็จ โดยไม่มีการต่อต้านหรือการเสียเลือดเนื้อ คณะปฏิรูปฯ ได้ประกาศให้วันที่ 20 ก.ย.เป็นวันหยุดราชการ 1 วัน เพื่อความสงบเรียบร้อย และประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ให้ทุกคนอยู่ในความสงบ ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน รวมทั้งยังประกาศให้หัวหน้าหน่วยราชการ และรัฐวิสาหกิจ เข้ารายงานตัวต่อคณะปฏิรูป ส่วนในต่างจังหวัดให้รายงานตัวต่อแม่ทัพภาคต่างๆ นอกจากนี้คณะปฏิรูปฯ ยังได้เชิญทูตทั่วโลกรับฟังคำชี้แจงการยึดอำนาจในครั้งนี้ด้วย รวมทั้งเปิดแถลงต่อสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 400 คน โดยในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปฯ ซึ่งคณะปฏิรูปฯ ได้นำภาพระหว่างเข้าเฝ้าฯ รายงานสถานการณ์เมื่อคืนวันที่ 19 ก.ย. และภาพพิธีเข้ารับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เผยแพร่ต่อประชาชนในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ ผลจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจครั้งนี้ คณะปฏิรูปฯ ได้ประกาศให้ รธน.ปี 2540 เป็นอันสิ้นสุด รวมทั้งให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร-สมาชิกวุฒิสภา และ ครม.เป็นอันสิ้นสุด ส่วนองคมนตรียังดำรงอยู่ ศาลต่างๆ ทำหน้าที่พิจารณาคดีไปตามปกติ ยกเว้นศาล รธน.ต้องพ้นสภาพ อย่างไรก็ตาม แม้องค์กรอิสระที่เกิดจากรัฐธรรมนูญปี ’40 จะต้องสิ้นสภาพไปตามรัฐธรรมนูญ แต่คณะปฏิรูปฯ ก็ได้ประกาศให้บางองค์กรยังดำรงอยู่ เพื่อความเรียบร้อยของบ้านเมือง เช่น ให้ กกต.ทั้ง 5 ที่วุฒิสภาเพิ่งเลือกมา ดำรงอยู่เพื่อจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ใกล้จะมีขึ้น ส่วนคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.) ให้พ้นสภาพ แต่ให้ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ดำรงอยู่ และให้ปฏิบัติหน้าที่แทน คตง.ด้วย และให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาดำรงอยู่เช่นกัน นอกจากนี้ยังให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ยังคงสภาพอยู่ แต่ห้ามประชุมหรือดำเนินกิจกรรมทางการเมือง รวมทั้งยังมีคำสั่งห้ามผู้ปฏิบัติ ผู้จ้างวาน และผู้ประกอบการรายใด ดักฟังโทรศัพท์อย่างเด็ดขาด หากฝ่าฝืนจะมีโทษทั้งจำและปรับ ส่วนผู้ประกอบการจะมีโทษหนักที่สุด ถึงขั้นยึดใบอนุญาต
หลังการเข้ายึดอำนาจรัฐบาลทักษิณโดยคณะปฏิรูปการปกครองฯ ปรากฏว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยและให้การตอบรับการยึดอำนาจดังกล่าว สังเกตได้จากมีประชาชนนำดอกไม้ไปให้กำลังใจแก่ทหารจำนวนมาก นอกจากนี้สิ่งที่เหนือความคาดหมายและทำให้ต่างชาติรู้สึกทึ่ง ก็คือ การยึดอำนาจของทหารไทยครั้งนี้ถือเป็นการปฏิวัติที่คลาสสิค เพราะนอกจากจะไม่มีการเสียเลือดเนื้อแล้ว บรรยากาศระหว่างทหารกับประชาชนยังเป็นไปอย่างฉันมิตร เมื่อพบว่า ประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศต่างแห่ไปถ่ายรูปคู่กับทหารและรถถังกันจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม มีประชาชนต่อต้านการยึดอำนาจครั้งนี้บ้างเล็กน้อย เช่น กรณีที่ ร.ต.ฉลาด วรฉัตร และนายทวี ไกรคุปต์ ที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ประกาศอดข้าวประท้วงการยึดอำนาจครั้งนี้ ร้อนถึงเจ้าหน้าที่ทหารต้องนำตัวไปชี้แจงทำความเข้าใจ
ทั้งนี้ สวนดุสิตโพล ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศกว่า 2 พันคน พบ ส่วนใหญ่ร้อยละ 83.9 เห็นด้วยกับการยึดอำนาจครั้งนี้ เพราะเชื่อว่า ช่วยลดความตึงเครียดทางการเมือง และความวุ่นวายต่างๆ จะยุติลง ขณะที่เอแบคโพล สำรวจความคิดเห็นประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 16 จังหวัดทั่วประเทศจำนวนกว่า 4,200 คน ก็พบเช่นกันว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 82.7 เชื่อว่า หลังการยึดอำนาจ การเมืองจะสงบนิ่ง ร้อยละ 66.5 เชื่อว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัว และร้อยละ 74.5 เห็นว่า หากพิสูจน์พบรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณมีความผิดจริง ควรลงโทษตามกฎหมายให้ถึงที่สุด ด้านแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธฺปไตยได้ประกาศยุติภารกิจไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ เนื่องจากพ้นจากตำแหน่งนายกฯ แล้ว แต่ประกาศคงเครือข่ายพันธมิตรฯ ไว้ และติดตามการทำงานของคณะปฏิรูปฯ อย่างใกล้ชิดต่อไป พร้อมเรียกร้องให้คณะปฏิรูปฯ เร่งล้างทุจริตอย่างจริงจัง โดยตั้งกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินของบุคคลในระบอบทักษิณ แล้วส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณา เพื่อพิสูจน์ทรัพย์สินตามกระบวนการยุติธรรม ขณะเดียวกันขอโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมืองด้วย