xs
xsm
sm
md
lg

"หมอวิชัย" เสนอแยก "ประกันสังคม" องค์กรอิสระแบบบัตรทอง สกัดนักการเมือง-ขรก.โกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"หมอวิชัย" เสนอแยก "ประกันสังคม" เป็นองค์กรอิสระแบบเดียวบัตรทอง สกัดการเมือง-ข้าราชการคอร์รัปชัน สภาองค์การนายจ้างเชื่อบริหารเงินกองทุนมีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่ เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกันตน ยุติธรรมลูกจ้าง นายจ้าง

วันนี้ (26 มิ.ย.) ที่โรงแรมแรมรัตนโกสินทร์ กทม. นพ.วิชัย โชควิวัฒน รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนที่ 2 ปาฐกถาในงานสัมมนาเรื่อง "ความเป็นอิสระกองทุนประกันสังคม : ทิศทาง ยุทธศาสตร์และความเป็นไปได้" จัดโดยเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) ว่า แต่เดิมระบบอุตสาหกรรมของไทยสมัยจอมพลสฤทธิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ยังไม่มีประกันสังคม ทำให้แรงงานถูกเอาเปรียบในทุกมิติ เพราะเกรงว่าค่าใช้จ่ายที่สูงจะไม่จูงใจนักลงทุน จึงมีการประท้วงรัฐบาลเรียกร้องจนมีการมอบสวัสดิการและตั้งกรมประกันสังคมขึ้น และพัฒนามาเป็นสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในปัจจุบัน แต่อำนาจบริหารส่วนมากเป็นของรัฐ ส่งผลให้ยุคปัจจุบันประกันสังคมถูกคอร์รัปชันหลายล้านบาท ประกันสังคมจึงจำเป็นต้องมีความเป็นอิสระเหมือนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เพื่อดูแลประชาชนอย่างเท่าเทียมในฐานะบริการด้านสุขภาพ โดยหลักการประกันสังคมต้องส่งเสริมสิทธิการเป็นพลเมือง ในฐานะประชาชนที่เสียภาษี

นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ เจ้าหน้าที่มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวว่า มีความจำเป็นหลายประการที่ สปส.ต้องเป็นอิสระ คือ การมีกองทุนขนาดใหญ่ มีเงินกว่า 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งไม่ใช่เงินภาษีอย่างเดียว แต่เป็นเงินที่ผู้ประกันตนกว่า 14 ล้านคนและนายจ้างกว่า 4 แสนคนร่วมสมทบ และ มีเงินกองทุนชราภาพอีกมากถึง 70-80% ที่ต้องจ่ายให้ผู้ประกันตน ดังนั้น จึงไม่ควรให้เพียงกระทรวงแรงงานบริหารเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องกระจายอำนาจโครงสร้างบริหารที่สร้างความสะดวกและคล่องตัว

นายอนันตชัย คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า สปส.ไม่มีความเป็นเอกภาพ ทำให้รัฐบาลใช้อำนาจเต็มที่ เพราะเครือข่ายที่ทำงานประกันสังคมไม่มีความเป็นปึกแผ่น ที่สำคัญการบริหารภายใต้ราชการ รัฐบาลจะหวงเงิน สปส.เองจะรู้สึกเป็นเจ้าของเงิน การอนุมัติลำบาก เช่น เบิกยาไม่ได้ ผ่าตัดไม่ได้ โรคร้ายต้องมีข้อจำกัดในการเบิกจ่าย จะสร้างผลกระทบต่อคนป่วยมากกว่าประโยชน์ ดังนั้น หากยกตัวเป็นอิสระ เป็นองค์กรมหาชนจะช่วยให้ สปส.มีความเป็นเอกภาพมากขึ้น ไม่ต้องอาศัยอำนาจการเมืองและข้าราชการ และเป็นไปได้ว่าการบริหารเงินในกองทุนจะเกิดประโยชน์ต่อผู้ประกันตนได้สูงสุด ซึ่งหากมีการเพิ่มสวัสดิการเชิงรุกก็จะช่วยให้มีเงินเหลือจากการรักษาสุขภาพมากขึ้น ช่วยเหลือลูกจ้างให้มีสุขภาพที่มั่นคงและโรงพยาบาลเองก็จะไม่ต้องแบกรับภาระรักษาที่ล้นหรือเกินงบประมาณ ดังนั้น การเป็นอิสระจึงเป็นทางเลือกที่ดีแก่ สปส.สร้างความยุติธรรมแก่ลูกจ้าง นายจ้าง

ด้านนายไพสิฐ พาณิชย์กุล ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และนักวิชาการที่วิเคราะห์แนวทางความเป็นอิสระของระบบประกันสังคม กล่าวว่า การพัฒนาประกันสังคมให้เป็นอิสระจะสร้างโอกาสแก่แรงงานในยุคเออีซีอย่างมาก เพราะมีแรงงานที่หลากหลาย โอกาสที่ไทยจะมีผู้ประกันตนเพิ่มขึ้น มีนายจ้างร่วมจ่ายสมทบมากขึ้น แสดงว่ากองทุนประกันสังคมจะมีงบประมาณสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ต้องเร่งผลักดันให้เกิดการบริหารที่อิสระ แม้ไทยจะมี พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 แต่ก็ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ราชการมาโดยตลอด ทำให้เกิดช่องทางแสวงหาผลประโยชน์จากฝ่ายบริหารมาโดยตลอด สูญเสียเงินในกองทุนจำนวนมาก เพราะโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม ด้วยเหตุนี้ไทยจึงจำเป็นต้องเร่งผลักดันให้ สปส.เป็นอิสระ ที่สร้างกฎหมายมาเพื่อก่อประโยชน์แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ใช่ผู้บริหารกองทุน

ดร.วิจิตรา วิเชียรชม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเป็นองค์กรอิสระที่ดีแนะนำว่าต้องมีการตั้งคณะกรรมการที่ไม่สังกัดกระทรวงแรงงาน และไม่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ เพื่อการบริหารงานที่คล่องตัว หากมีการแยกตัวเป็นอิสระแล้วอาจบริหารเงินกองทุนและบุคคล โดยออกกฎหมายภายในเพื่อใช้บังคับภายในองค์กรเอง อาจจะมีคณะกรรมการบริหารกองทุน และแยกดำเนินการด้านการลงทุนโดยมีผู้อำนวยการเข้ามาช่วยเหลือ พร้อมตั้งคณะกรรมการติดตามตรวจสอบและประเมินผล ภายในหน่วยงานเอง เพื่อความโปร่งใส โดยมีส่วนร่วมทั้งเลขาธิการ สปส. ผู้ทรงคุณวุฒิ ตัวแทนหน่วยงานลูกจ้าง นายจ้าง เข้ามาเป็นกรรมการร่วม เพื่อร่วมพิจารณาบริหารและร่วมออกระเบียบต่างๆ ที่มีมาตรฐาน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น