ผู้เชี่ยวชาญประจำ กกต.เสนอให้ออกกฎหมายป้องกันปราบทุจริตเลือกตั้ง ยกเจตนารมณ์ คสช. มุ่งให้เลือกตั้งสุจริต หวังผลักดันให้ทันรัฐบาลชุดนี้ เหตุนักการเมืองไม่ยอมให้เกิดแน่ ย้อน พ.ร.บ.เดิมไม่เอื้อจัดการผู้สมคบคิด ต้องให้อำนาจ กกต.สืบสวนเพิ่ม ถึงขั้นดักฟังโทรศัพท์ มีคุ้มครองพยาน เพื่อจัดการผู้มีส่วนร่วม ปัดแยกอำนาจจาก กกต. ตัดปัญหาสำนวนสีเทาไม่ชัดเจน กกต.จังหวัดเห็นพ้อง
วันนี้ (6 ส.ค.) นายอรรณพ ลิขิตจิตถะ ผู้เชี่ยวชาญประจำคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะที่ปรึกษาของนายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง นำเสนอแนวคิดในที่ประชุมสัมมนา กกต.ด้านสืบสวนสอบสวน ที่ จ.กระบี่ ให้มีการออกกฎหมายป้องกันและปราบรามการทุจริตการเลือกตั้ง โดยจำลองแบบ ป.ป.ช. ดีเอสไอ และ ปปง. ได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตการเลือกตั้งต่อที่ประชุมสัมนาทางวิชาการว่าด้วยการดำเนินคดีเลือกตั้งระดับภูมิภาคที่ จ.กระบี่ โดยระบุว่าเหตุที่ควรมีกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของหัวหน้า คสช.ที่ต้องการให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างสุจริต และผลการประชุมของหัวหน้าผู้พิพากษา มติ กกต. และผลการสัมมนา กกต.จังหวัดก็มีประเด็นร่วมว่าทำอย่างไรให้การวินิจฉัยและการดำเนินการเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์และเที่ยงธรรม
“กกต.ได้เห็นชอบในหลักการว่า หลังจากผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นและข้อเสนอทั้งผู้บริหารภายใน ในการสัมมนาที่โรงแรมเซ็นทราวันพรุ่งนี้ (7 ส.ค.) และจัดการสัมมนาอีกครั้งกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นผู้แทน ครม., คสช., สปช., สนช. และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งศาล อัยการ และตำรวจ ก่อนจะปรับปรุงเพื่อผ่านความเห็นชอบของ กกต.แล้วตั้งใจจะให้ผลักดันเป็นกฎหมายบังคับใช้ภายในรัฐบาลและ สนช.ชุดนี้ เพราะกฎหมายนี้มีผลต่อนักการเมืองที่ไม่ดี หากนำเสนอในภาวะปกติคงจะผ่านออกมาบังคับใช้ได้ยาก เห็น พ.ร.บ.ฟอกเงิน และ พ.ร.บ.มาตรการปราบปรามยาเสพติดที่ผ่านมาแต่ละฉบับต้องใช้เวลาถึงกว่า 10 ปี”
นายอรรณพกล่าวว่า ไม่มีใครปฏิเสธว่าการทุจริตการเลือกตั้งไม่มี และการทุจริตต้องมีผู้เกี่ยวข้องมากกว่าสองคนขึ้นถือเป็นการสมคบคิด ซึ่ง พ.ร.บ.เลือกตั้งฯ เดิมไม่มีประเด็นของผู้สมคบคิด รวมทั้งเกี่ยวข้องกับการเอาผิดผู้ขายเสียงด้วย เพราะทุกคนก็รู้ว่าผิดแต่ทำเพื่อให้ชนะการเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ เพื่อเข้ามาโกงกินหรือปกป้องธุรกิจที่ผิดกฎหมาย ถือเป็นต้นน้ำการทุจริตที่ร้ายแรงที่สุด
“กฎหมาย และระเบียบ กกต.เดิมยังไม่เอื้อต่อการจัดการผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตเลือกตั้ง เพราะทำได้เพียงช่วงหลังมีประกาศกฤษฎีกาการเลือกตั้ง จนหลังประกาศผลไปแล้วช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ทำให้พยานหลักฐานที่ได้มาในช่วงเวลาสั้นๆ นั้นอ่อน ไม่มีน้ำหนักพอที่จะเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษ พอไปถึงศาลอุทธรณ์แผนกคดีเลือกตั้งส่วนใหญ่จะยก จึงต้องมีกฎหมายที่เอื้อให้เจ้าพนักงานสืบสวนสอบสวนดำเนินการได้ตามประมวลวิธีพิจารณาคดีทางคดีอาญา ให้ผิดไปจากปัจจุบันที่สืบสวนเพียงเพื่อทราบข้อเท็จจริงเท่านั้น” นายอรรณพกล่าว
ที่ปรึกษา กกต.กล่าวอีกว่า ต้องให้อำนาจเจ้าพนักงานของ กกต.ดำเนินการสืบสวนได้ตลอดเวลา รวมถึงการถ่ายภาพ การดักฟังทางโทรศัพท์เพื่อเก็บข้อมูลเป็นฐาน เมื่อไหร่ที่พบว่ามีการทำผิดทุจริตการเลือกตั้งที่มีฐานความผิดร้ายแรงที่มีอัตราโทษมากกว่า 4 ปีขึ้นไป ก็เอาฐานข้อมูลที่เก็บไว้มาประกอบการพิจารณาให้ความผิด ทำให้หลักฐานแน่น โดยให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจโดยองค์กรอิสระ และควบคุมโดยสายบังคับบัญชาตามลำดับชั้น เช่น การขอดักฟังต้องขออนุญาตผู้บังคับบัญชา จนถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเป็นผู้อนุญาตได้ไม่เกิน 90 วันแล้วต้องมารายงาน โดยเจ้าพนักงานหากทำผิดเองมีโทษสามเท่า เพื่อป้องกันการก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน บทลงโทษจึงมีเฉพาะผู้ทุจริตการเลือกตั้งเท่านั้น โดยเจ้าหน้าที่และพยานจะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. คุ้มครองพยานในคดีอาญาอีกด้วย
“ตามกฎหมายนี้จะมีข้อหาใหม่ คือ การสมคบและพยายามช่วยเหลือให้เกิดการทุจริตการเลือกตั้งที่ร้ายแรง ก็จะมีการริบทรัพย์สินของกลาง และทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องได้ เช่น บ้านที่ใช้เงินทุจริตเลือกตั้งไปซื้อมา โดยนำทรัพย์สินเหล่านี้มาเข้ากองทุนเพื่อการปราบปรามการทุจริตการเลือกตั้ง รวมทั้งตั้งเป็นเงินรางวัลให้พยานที่ชี้มูลความผิด และยังมีการบังคับการลงโทษให้ต้องจำคุกด้วยไม่ใช่เลือกปรับเพียงอย่างเดียว” นายอรรณพกล่าว
นายอรรณพยังกล่าวยืนยันว่า แนวคิดนี้ไม่ได้เป็นการแยกอำนาจและหน่วยงานออกจาก กกต. แต่จะให้ 1 ใน 5 กกต.ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตการเลือกตั้งนี้
“มันช่วยให้การดำเนินคดีทุจริตพอมาถึง กกต.จะชัดเจน และคดีไปถึงศาลก็จะถูกสั่งเพิกถอนสิทธิร้อยเปอร์เซ็นต์ หมดปัญหาเรื่องข้อมูลหรือสำนวนลักษณะสีเทาๆ ไม่ชัดเจน” นายอรรณพกล่าว
ทั้งนี้ ในการสัมมนากลุ่มย่อยที่จัดขึ้นพบว่า มี กกต.จังหวัดหลายคนเห็นด้วยกับแนวคิดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยให้ความเห็นว่าหากจะผลักดันให้เป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้จริง ต้องรีบทำก่นที่จะมีการเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วประเทศ เพราะเชื่อได้เลยว่าผู้ที่มาจากการเลือกตั้งต้องไม่ยอมปล่อยให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านออกมาบังคับใช้แน่