xs
xsm
sm
md
lg

กสทช.แจงนำเข้าเครื่องดักฟังโทรศัพท์โดยไม่ได้รับอนุญาตผิดกฎหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
กสทช.แจงนำเข้าเครื่องดักฟังโทรศัพท์โดยไม่ได้รับอนุญาตผิดกฎหมาย เรียกกิจการร่วมค้า สพิธต้า พีพีเอสซี ตัวแทนจำหน่ายเครื่องดักฟังโทรศัพท์ เข้าให้ข้อมูล เผยในช่วงรัฐบาลก่อนไม่ควบคุม ปล่อยเสนอขายเกลื่อน พบ “ดีเอสไอ” ยุคก่อนเป็นลูกค้า เอกชนอาศัยช่องว่างทางกฎหมายแจ้งเป็นเท็จ กสทช.ว่าเป็นอุปกรณ์การสื่อสารปกติ กสทช.เต้นสั่งตรวจ สื่อออนไลน์ อินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊ก พบขายกันแพร่หลาย

วันนี้ (9 พ.ค.) มีรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ทำหนังสือเรียกกิจการร่วมค้า สพิธต้า พีพีเอสซี ตัวแทนจำหน่ายเครื่องดักฟังโทรศัพท์ ให้ชี้แจงเอกสารการนำเข้าอุปกรณ์ หากพบว่านำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี

โดยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า อุปกรณ์ดักฟังโทรศัพท์นำเข้ามาได้เฉพาะหน่วยงานของรัฐด้านความมั่นคง และถือเป็นอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ต้องได้รับอนุญาตจาก กสทช. ในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร

“เอกชนไม่สามารถนำเข้าอุปกรณ์ดังกล่าวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำมาใช้งานยิ่งจะมีความผิดมากขึ้น โดยจะมีความผิดฐาน นำเข้า มี และใช้ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี จากนี้สำนักงานฯ จะส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบเว็บไซต์ที่มีการขายอุปกรณ์และบริษัทผู้จัดจำหน่ายเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย”

สำหรับกรณีตามที่เป็นข่าวสื่อมวลชนว่า เจ้าหน้าที่ทหารกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ ได้จับชาวอิสราเอลจำนวน 9 คน ขณะสาธิตเครื่องค้นหาสัญญาณโทรศัพท์ ติดตั้งระบบตรวจจับสัญญาณและประมวลผลบนโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบจีเอสเอ็ม 3G และ 4G นั้น สำนักงาน กสทช.ได้ทำการตรวจสอบแล้วและได้มีหนังสือให้กิจการร่วมค้า สพิธต้า พีพีเอสซี ผู้นำเข้าอุปกรณ์เครื่องวิทยุคมนาคมดังกล่าวมาให้ข้อเท็จจริง ในวันอังคารที่ 12 พฤษภาคม 2558 เวลา 10.00 น. ณ สำนักงาน กสทช. พร้อมทั้งให้นำเอกสารมาแสดงด้วย

หากไม่ได้รับอนุญาตก็จะมีความผิดฐาน นำเข้า มี และใช้ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต ตามมาตรา 6 และมาตรา 11 แห่งพ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ ตามมาตรา 23 ของ พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 ซึ่งสำนักงาน กสทช.จะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ พบว่า กิจการร่วมค้า สพิธต้า พีพีเอสซี ผู้นำเข้าอุปกรณ์เครื่องวิทยุคมนาคมที่ กสทช. แจ้งให้เข้าชี้แจง พบว่า มี “นายคุปโกเมน วิริยาภิรมย์” เป็นกรรมการบริหาร เคยบริจาครถยนต์ ให้กับ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร จังหวัดปัตตานี เพื่อสนับสนุนภารกิจในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เคยเข้าร่วมบรรยายกับ คณะกรรมาธิการการทหาร วุฒิสภา ในเรื่อง การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อความมั่นคง เพื่อศึกษาหาแนวทางการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในงานด้านความมั่นคง เคยลงสมัคร ส.ส.เขต 4 อุบลราชธานี พรรคชาติไทยพัฒนา แต่สอบตก

รายงานระบุว่า กรณีดังกล่าวต่อเนื่องจากช่วงสายวันที่ 7 พ.ค. ที่เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าบุกจับ 9 ชาวอิสราเอลที่กองบัญชาการตำรวจสันติบาล ขณะกำลังทำการสาธิตเครื่องค้นหาสัญญาณโทรศัพท์ ติดตั้งระบบตรวจจับสัญญาณและประมวลผล เพื่อช่วยให้หน่วยงานสืบสวนสอบสวน และหน่วยงานการข่าวดำเนินอย่างลับๆ ในการบรรลุภารกิจตามวัตถุประสงค์ โดยสามารถตรวจจับสัญญาณ ค้นหา ดักรับ ควบคุม และชี้เป้าหมาย บนโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบจีเอสเอ็ม 3G และ 4G มาสาธิตการใช้งาน โดยติดตั้งในรถปฏิบัติการ

มีการควบคุมตัวไปสอบสวนที่กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) เนื่องจากการนำเข้าเครื่องทดสอบดังกล่าว ไม่ผ่านขั้นตอนทางกฎหมายที่ถูกต้อง อีกทั้งเป็น ยุทธภัณฑ์ทางการทหาร ต้องได้รับการอนุญาตจากกระทรวงกลาโหม คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรมศุลกากร เสียก่อน

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. รวมทั้งนายทหารชั้นผู้ใหญ่ รวมถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็ออกมาพูดทำนองเดียวกันว่า เป็นความเข้าใจผิด

มีรายงานว่า สำหรับเครื่องมือที่ถูกเสนอขายให้กองบังคับการตำรวจสันติบาล 2 เครื่อง เครื่องละ 58 ล้านบาท มีบริษัทนายหน้าค้าอาวุธของไทยที่รับซ่อมรถถังเป็นตัวแทน โดยพบว่า เครื่องมีประสิทธิภาพในการดักฟังโทรศัพท์ได้ดีกว่าเครื่องแจมเมอร์ ซึ่งการทำงานของเครื่องดังกล่าวใช้เปิดสัญญาณโทรศัพท์เป้าหมายได้ โดยการใช้สัญญาณแทรกเข้าไปที่เครื่อง มีการพัฒนาในการดักรับได้ในระบบสัญญาณโทรศัพท์ 4G

สำหรับหน่วยงานที่มีการจัดหาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย คือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่ได้ซื้อมาใช้งานในภารกิจด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 2 เครื่อง โดยการจัดหาดังกล่าวต้องมีการอนุมัติจากรมว.กลาโหม ตาม พ.ร.บ.ยุทธภัณฑ์ แต่ในปัจจุบันเครื่องประเภทนี้มีการขายกันอย่างกว้างขวาง หลายหน่วยงานได้มีการจัดหา โดยขออนุญาตผ่านคณะกรรมการ กสทช.

ด้านแหล่งข่าวด้านความมั่นคง เปิดเผยว่า ในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่มีการควบคุม กลับมีการเสนอขายเครื่องดังกล่าวให้หลายหน่วยงาน เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถมยังพบว่ามีการแจ้งจดทะเบียนเป็นเครื่องมือสื่อสารธรรมดา โดยขออนุญาตไปที่ กสทช. ซึ่งเป็นการอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย และแจ้งเป็นเท็จให้ กสทช.เข้าใจว่าเป็นอุปกรณ์การสื่อสารปกติ ตอนนี้ไม่รู้ว่าในประเทศมีเครื่องมือดังกล่าวอยู่กี่เครื่อง ตรวจสอบไม่ได้

“พบว่า มีเชิญชวนกันทางสื่อออนไลน์ อินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊กกันอย่างแพร่หลาย ถ้าเราไม่ดำเนินการก็ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เชื่อว่า คสช.อาจจะต้องออกคำสั่งในการให้หน่วยงานแจ้งการครอบครอบ และขึ้นทะเบียนยุทธภัณฑ์ให้ถูกต้อง โดย รมว.กลาโหมจะเป็นผู้อนุมัติในการครอบครองตามกฎหมาย

มีรายงานว่า เครื่องที่มีการนำมาสาธิตที่กองบังคับการตำรวจสันติบาล มีฟังก์ชันใช้งานหลักและออปชันเสริม ประกอบด้วย
1. ค้นหาตำแหน่งของสัญญาณเครื่องโทรศัพท์เป้าหมาย
2. ล็อกช่องสัญญาณสื่อสารเพื่อชี้เป้าหมาย
3. รบกวนสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่
4. ระบบสื่อสารจำลองในพื้นที่
5. ฟังและบันทึกการสนทนาสดทางโทรศัพท์ของเป้าหมาย
6. แก้ไข ดักรับ เปลี่ยนแปลง ปลอมแปลงข้อความสั้น
7. ปลอมแปลงเป็นผู้ใช้สายต้นทางและปลายทาง
8. ดักรับการใช้งานอินเตอร์เน็ต
9. บังคับเครื่องเป้าหมายแสดงผลตำแหน่ง GPS
10. บังคับเปิดไมโครโฟนเครื่องเป้าหมายให้ค้างเพื่อฟังเสียงแวดล้อม

มีรายงานว่า กรณีปัญหาของเครื่องดักฟังในอดีต เมื่อปี 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีต ผบ.ทบ. และอดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เคยตั้งข้อสังเกตเรื่องข้อมูลที่มีการพูดผ่านโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยแต่รู้ไปถึงสิงคโปร์ ซึ่งคณะปฏิวัติขณะนั้น ก็มีคำสั่งออกมาว่าหากโอเปอเรเตอร์เอกชนใดมีการดักฟังเมื่อไหร่ ถ้าถูกจับได้จะยึดใบอนุญาตทันที


กำลังโหลดความคิดเห็น