“ศาลปกครองสูงสุด” ยืนคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับฟ้องผู้ค้าจตุจักรฟ้อง ร.ฟ.ท. ชี้ไม่ใช่ไม่ใช่ผู้เสียหายที่ไม่อาจเลี่ยงได้ แจง ร.ฟ.ท.เข้าดำเนินการตลาด ถ้าผู้ค้าเห็นว่าค่าเช่าแพงกว่าตอนทำสัญญาเก่า กทม.ก็มีสิทธิปัดไม่ทำต่อ ชี้เป็นเรื่องไม่พอใจค่าเช่าเลยอ้างฟ้อง ร.ฟ.ท.ไม่มีอำนาจดำเนินกิจการตลาด จึงไม่รับฟ้อง เหตุปล่อยไปจะมีฟ้องแบบนี้หลายคดี
วันนี้ (18 ก.ย.) ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับคำฟ้องและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ในคดีที่นางกมลรัตน์ วาเลาะ และพวกรวม 518 คน ผู้ค้าในตลาดนัดจตุจักรฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งสั่งว่า ร.ฟ.ท.ไม่มีอำนาจในการประกอบกิจการตลาดนัดจตุจักร และห้ามมิให้ ร.ฟ.ท.ประกอบกิจการและบริหารกิจการในตลาดนัดจตุจักรต่อไป
โดยศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า นางกมลรัตน์และพวกไม่ได้เป็นผู้เดือดร้อนเสียหาย หรืออาจจะเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จากการกระทำของ ร.ฟ.ท. ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 เพราะแม้จะเป็นการฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งไม่ให้ ร.ฟ.ท.มีอำนาจในการประกอบกิจการ และบริหารกิจการในตลาดนัดจตุจักร แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ร.ฟ.ท.เข้าดำเนินกิจการตลาดนัดจตุจักรในที่ดินของ ร.ฟ.ท.เองโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2554 หลังกรุงเทพมหานครหมดสัญญาเช่าที่ดินจัดทำตลาดดังกล่าวกับ ร.ฟ.ท. ซึ่งสัญญาเช่าแผงค้าระหว่างนางกมลรัตน์กับพวกที่ทำกับกรุงเทพมหานครก็สิ้นสุดลงด้วย โดย ร.ฟ.ท.ได้มีประกาศที่ ปส./3572/2554 ลงวันที่ 24 ธ.ค. 2554 เรื่องการเปลี่ยนแปลงการบริหารตลาดนัดจตุจักร แจ้งผู้ค้าในตลาดนัดจตุจักร และทำเป็นประกาศแจ้งผู้เช่าแผงค้าให้ทราบว่า ตลาดนัดจตุจักรจะครบกำหนดสิ้นสุดสัญญาเช่า 30 ปีในวันที่ 1 ม.ค. 2555 จึงให้ผู้ค้าสามารถค้าขายได้โดยไม่ต้องเสียค่าเช่าแผงเป็นเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. 2555 เป็นต้นไป
ศาลปกครองสูงสุดระบุต่อว่า การดำเนินการดังกล่าวของ ร.ฟ.ท.จึงหมายความว่า หลังจากที่ครบกำหนดดังกล่าวแล้วหากผู้ค้าในตลาดต้องการค้าขายต่อไปก็ต้องทำสัญญาเช่ากับ ร.ฟ.ท. และถ้านางกมลรัตน์กับพวกเห็นว่า ร.ฟ.ท.เรียกเก็บอัตราค่าเช่าแผงสูงกว่าที่ตนเคยทำสัญญากับกรุงเทพมหานคร ก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่เข้าทำสัญญากับ ร.ฟ.ท.ได้ ความเดือดร้อนเสียหายของนางกมลรัตน์กับพวกจึงเป็นเรื่องของการไม่พอใจค่าเช่าแผงที่ ร.ฟ.ท.กำหนดอัตราที่สูงเกินไป แล้วนำคดีมาฟ้องศาลโดยยกข้ออ้างว่า ร.ฟ.ท.ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเข้าดำเนินกิจการตลาดนัดจตุจักรและหากปล่อยให้บริหารงานต่อไปจะเกิดการฟ้องร้องระหว่างผู้ค้ากับรฟท.อีกหลายคดี ดังนั้น ที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลัง ร.ฟ.ท.เข้าดำเนินกิจการและบริหารตลาดนัดจตุจักรเองหลังกรุงเทพมหานครหมดสัญญาตั้งแต่ต้นปี 55 มีการฟ้องร้อง ร.ฟ.ท.ของกลุ่มผู้ค้าในตลาดฯ ต่อศาลปกครองหลายคดี โดยเฉพาะในประเด็นการปรับขึ้นอัตราค่าเช่าแผงค้าที่สูงกว่าสมัยกรุงเทพมหานครเรียกเก็บ และขณะนี้คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณา โดยศาลได้กำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา คือ สั่ง ร.ฟ.ท.ให้ผู้ค้าจตุจักรค้าขายได้ต่อไป และยังจ่ายค่าเช่าในอัตราเดิม คือ 890 จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด