ประธาน สนช.ยันนายกฯ ไม่ได้มอบหมายให้ตนคัดเลือกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ย้ำคนที่เคยเป็น กมธ.ยกร่างฯ ที่ถูกคว่ำไม่ควรเข้ามาอีก ลั่นย่นโรดแมปไม่กระทบทำหน้าที่ ขานรับเตรียมหาแนวทางร่นระยะเวลาลง “วันชัย” บอกจะเอาอดีต สปช.มานั่งสภาขับเคลื่อนฯ เท่าไหร่ก้ได้ บอกเอาเฉพาะคนที่ปฏิรูป ไม่เอาคนขวางปฏิรูป
วันนี้ (16 ก.ย.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวปฏิเสธข่าวที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้คัดเลือก สนช.เข้าร่วมเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า ยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้มอบหมายให้ตนทำหน้าที่คัดเลือก ส่วนจะมีสมาชิกสนช. เข้าไปเป็น กรธ.หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ พล.อ.ประยุทธ์ ตนไม่ต้องไปแนะนำอะไร แต่มองว่า สนช.ทั้ง 5 คนที่เคยเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ควรเข้ามาเป็น กรธ.อีก แต่ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนประเด็นข้อถกเถียงในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2558 เกี่ยวกับการจัดทำประชามติ นั้นก็คงต้องมีการแก้ไขต่อไป แต่ข้อเท็จจริงประเด็นนี้มีความชัดเจนอยู่แล้ว
เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่าไม่ให้ตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วม กรธ.ด้วย นายพรเพชรกล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฯ กำหนดเงื่อนไขบุคคลที่จะเป็น กรธ.ไว้เหมือนกับ กมธ.ยกร่างฯ ซึ่งข้อห้ามกำหนดไว้ใน กมธ.ยกร่างฯ อย่างไรก็ต้องห้ามเช่นกัน ต่อข้อถามว่าการร่นระยะเวลาของโรดแมปจะมีผลกระทบต่อการทำงานของ สนช.หรือไม่ ประธาน สนช.กล่าวว่า สนช. ทำงานตามปกติอย่างเต็มที่
ด้านนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้หาแนวทางในการร่นระยะเวลาของโรดแมปใหม่ลงว่า ก็เป็นเป้าหมายที่นายกฯ ได้กำชับในที่ประชุมร่วมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และ สนช.เมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการให้กรอบกว้างๆ โดยขอให้แม่น้ำแต่ละสายช่วยกันคิดและหาแนวทางเพื่อร่นระยะเวลาของโรดแมปใหม่ในการบริหารราชการแผ่นดินลง เพราะหากบรรยากาศภายในประเทศเกิดความสามัคคีมีความปรองดองกันได้ นายกรัฐมนตรี ก็อยากให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยเร็ว ซึ่งระยะเวลาของการบริหารราชการแผ่นดินตามสูตร 6-4-6-4 หรืออีก 20 เดือนของโรดแมปใหม่อาจจะลดลงได้
อย่างกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ อาจจะเสร็จก่อนกำหนด 6 เดือนได้หรือไม่ โดยที่นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยว่าต้องเป็นสากล หรือสิ่งใดที่เป็นประเด็นสำคัญๆ ก็ขอให้ไปใส่ไว้ในบทเฉพาะกาลแทน ขณะที่กระบวนการร่างกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกับงานของ สนช.นั้น อาจจะลดระยะเวลาลงจากกำหนดได้หรือไม่ ซึ่ง สนช.ก็นำกลับมาช่วยกันหาแนวทางด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 19 ก.ย.นี้ ทาง สนช.จะมีการจัดสัมมนาขึ้น โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีจะบรรยายเรื่องโรดแมปของรัฐบาลและ คสช.ให้สมาชิก สนช.ได้รับฟังเพื่อนำสาระกลับมาปรับการทำงานของตัวเองให้สอดคล้องกับโรดแมปใหม่ของ คสช.ในการบริหารราชการแผ่นดินต่อไป
ด้านนายวันชัย สอนศิริ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวที่ คสช. จะจัดโควตาสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ให้แก่อดีต สปช.จำนวน 60 คนว่า จะจัดสรรจำนวนโควตาให้อดีต สปช.เท่าไรก็ได้ เป็นอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งพิจารณาจากแนวทางการปฏิรูปว่าจะขับเคลื่อนอย่างไรจึงจะเหมาะสมที่สุด จะใช้ใครจำนวนเท่าไร อดีต สปช.คนใดทำงานดีและรู้ดีถึงปัญหาเก่าๆ ใน สปช. เชื่อว่านายกรัฐมนตรีคงจะมีแผนอยู่แล้ว ส่วนตัวมองว่าหากใครอยากเข้ามาทำงานเพื่อปฏิรูปประเทศหรือมีแนวทางดีๆ ก็สามารถเข้ามาช่วยงานได้เลยไม่ขัดขวาง แต่หากใครคิดจะเข้ามาเพื่อขวางทางการปฏิรูป เข้ามาเพื่อปั่นป่วนคน หรือเพื่อหาประโยชน์ คนเหล่านี้อย่าคิดเข้ามาเลยดีกว่า เพราะจะเป็นตัวถ่วงในการพัฒนาประเทศ