xs
xsm
sm
md
lg

สนช.พอใจผลงาน 1 ปี ปัดสนองท็อปบูต หนุนร่วมร่าง รธน. จี้แก้ปมประชามติให้ชัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปธ.สนช.แถลงสรุปผลงาน 1 ปี รับเป็นที่น่าพอใจ ผ่าน กม.143 ฉบับ แจงไม่ใช่เป็นตาประทับ ผ่าน กม.ต้องเพื่อประโยชน์ ปชช. รบ.ไม่ยุ่ง หนุนส่ง สนช.ร่วมร่าง รธน.ใหม่ ค้านนักการเมืองร่วม ปัดเข้าร่วมเอง เชื่อนัก กม.ไม่แหยงร่วมวง แนะแก้ รธน.ปมเสียงข้างมากประชามติให้ชัด ลั่น สนช.ไม่ได้ทำงานสนองท็อปบูต “สุรชัย” เสียดาย รธน.ไม่ผ่าน ชี้ทำงานมากลืมพีอาร์เป็นจุดอ่อน “พีระศักดิ์” ยันลงพื้นที่แก้ปัญหา ปชช.



วันนี้ (9 ก.ย.) ที่บริเวณห้องโถงชั้น 1 อาคารรัฐสภา 1 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดงานแถลงข่าวสรุปผลงาน สนช.ครบ 1 ปี เพื่อเป็นการรายงานผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. 57 ถึงวันที่ 7 ส.ค. 58 โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 และนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 พร้อมด้วยประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญประจำ สนช.ทั้ง 16 คณะ

นายพรเพชรกล่าวว่า ผลการดำเนินงาน 1 ปีที่ผ่านมาถือเป็นที่น่าพอใจ ด้านการพิจารณากฎหมาย มีกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.จำนวนทั้งสิ้น 143 ฉบับ การดำเนินการด้านกฎหมายโดยส่วนใหญ่เป็นกฎหมายที่รัฐบาลเสนอมา เกี่ยวกับกฎหมายบริหารราชการแผ่นดิน และกฎหมายที่เป็นนโยบายของรัฐบาล รวมถึงกฎหมายที่เป็นพันธกรณีกับต่างประเทศ เนื่องจากการมีการจัดลำดับเรตติ้งของประเทศต่างๆ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และกฎหมายด้านการค้ามนุษย์ เป็นต้น การทำงานของ สนช.ไม่ใช่เป็นตราประทับ การทำงานไม่ใช่ง่ายๆ ไม่ใช่แค่เห็นชอบกฎหมาย เรามีคณะ กมธ.วิสามัญกิจการที่คอยประสานงานกับรัฐบาล เพื่อพิจารณากฎหมายให้เป็นประโยชน์ จะต้องชอบด้วยหลักกฎหมายและเป็นประโยชน์ โดยใช้หลักพิจารณากฎหมาย คือ หลักนิติธรรม และสนช.ทราบดีว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่เราต้องทำกฎหมายเพื่อประโยชน์ให้กับประชาชน ซึ่งรัฐบาลไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวหรือแทรกแซงในการพิจารณากฎหมาย

นายพรเพชรกล่าวอีกว่า ในการร่างรัฐธรรมนูญทุกครั้งจะต้องมีการบัญญัติกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ แต่ในเมื่อร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็ต้องชะลออกไปก่อน อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดใหม่ 21 คน ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ได้บัญญัติว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญแล้วก็ให้ฟังความเห็นของ สนช.ด้วย ซึ่งตนได้คุยกับนายสุรชัยว่า ต้องเตรียมการดำเนินการ โดยอาจมีสมาชิก สนช.เข้าไปร่วมเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 1-2 คน เพื่อให้ทุกอย่างราบรื่น เพราะเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งสนช.ต้องมีหน้าที่ในการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญด้วย

ด้านนายสุรชัยกล่าวว่า รู้สึกเสียดายที่รัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบของ สปช.แต่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สนช.ต้องมีส่วนในการเสนอความเห็น ดังนั้น กมธ.สามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความคิดเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ที่ได้รับมอบหมายให้ฟังความคิดเห็นในร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาต้องทำหน้าที่ต่อไป โดยเฉพาะต้องนำเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญที่ตกไปมาศึกษาถึงข้อดีและข้อเสีย เพื่อเสนอเป็นความเห็นให้แก่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ทั้ง 21 คน รวมถึงคำถามและข้อติติงที่สังคมได้เสนอมาด้วย

นายพีระศักดิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมา สนช.ได้ลงพื้นที่เพื่อพบปะและรับฟังปัญหาความเดือดร้อนจากประชาชนผ่านโคงการ สนช.พบประชาชน ซึ่งปัญหาต่างๆ สนช.ได้รับมาและแก้ไข บางเรื่องก็ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการแก้ไขบางเรื่องต้องที่หน่วยงานเกี่ยวข้องทำไม่ได้เพราะเป็นเรื่องใหญ่เป็นอำนาจของรัฐบาล สนช.ก็ส่งเรื่องดังกล่าวไปให้ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลอย่างดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่แถลงเสร็จสิ้นได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลซักถามเกี่ยวกับการทำงานของ สนช.ใน 1 ปีที่ผ่านมาว่า ผลงานที่ผ่านมาของ สนช.ถือว่าสอบผ่านหรือไม่ เพราะผลสำรวจระบุว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก สนช. นายสุรชัยกล่าวว่า เราทำงานมากเกินไปจนลืมประชาสัมพันธ์ตนเองกับประชาชน จากนี้ไปจะพยายามเข้าหาสังคมและสาธารณะให้มากขึ้น และ สนช.จะทำอะไรให้มากขึ้น ยอมรับว่านี่คือจุดอ่อนที่เราคาดไม่ถึง และเราจะใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น ผ่านการทำงานประชาสัมพันธ์ และตัวเลขผลสำรวจนี้จะดีมากยิ่งขึ้น

เมื่อถามว่า โรดแมปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็น 6-4-6-4 แล้ว สนช.ต้องมีการปรับโรดแมปตามหรือไม่ นายพรเพชรกล่าวว่า โรดแมปของ สนช.ไม่มีแบบ 6-4-6-4 เราจะทำงานจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง แต่โรดแมป 6-4-6-4 คงจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำงานของสนช.ด้วย เช่นการพิจารณากฎหมาย และการบริหารพัฒนาประเทศต่อไป ส่วนที่ตนระบุว่า สนช.ควรเข้าไปเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2 คน นั้น เรื่องนี้จะให้นายสุรชัยเป็นผู้เสนอแนะการทำร่างรัฐธรรมนูญ แต่การเสนอนี้ถือเป็นความคิดเห็นส่วนตัว เพราะเห็นว่า สนช.มีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่เหมาะสมในการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นการผูกมัด เพราะผู้ที่มีหน้าที่แต่งตั้งคือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

เมื่อถามว่า การทำประชามติจะมีการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ในมาตรา 37 หรือไม่ นายพรเพชรกล่าวว่า ตอนที่มีการแก้ไขร่าง รัฐบาล และ คสช.รวมทั้งกฤษฎีกาดูภาษาแล้วคิดว่าใช้ได้ ว่าหมายถึงเสียงข้างมากของผู้มาลงคะแนน แต่เมื่อมีการประกาศใช้จริงก็เกิดปัญหา เพราะภาษาไทยดิ้นได้ ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ ดังนั้นคงจะต้องมีการสร้างความชัดเจนให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ สนช.ไม่สามารถเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เนื่องจากเป็นหน้าที่ของ คสช.และรัฐบาลที่จะเสนอ

เมื่อถามอีกว่า สนช.ส่วนใหญ่เป็นทหาร หรือมีการกล่าวว่าเป็น สนช.ท็อปบูต การทำงานที่ผ่านมายืนยันว่ามีความเป็นอิสระหรือไม่ นายพรเพชรกล่าวว่า ยืนยันว่าสนช.ตั้งใจทำงานเต็มที่ และปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง ไม่ได้ทำงานเพื่อสนองนโยบายใคร ไม่ได้มีใครทำตามคำสั่ง เพราะนายทหารที่อยู่ในสนช.ส่วนใหญ่เกษียณอายุราชการแล้ว นอกจากนี้ การลงมติของ สนช.ก็นานๆครั้งถึงจะมีการลงมติแบบลับ อีกทั้งยังมีกฎหมายหลายฉบับที่ สนช.ส่งคืนกลับไปยังรัฐบาล ซึ่งขอให้สื่อมวลชนจับตาดูการทำงานของสนช.ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลงานตลอด 1 ปีที่ผ่านมา มีกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.จำนวนทั้งสิ้น 143 ฉบับ รับหลักการในวาระที่ 1 แล้ว 132 ฉบับ ยังไม่ได้รับหลักการ 3 ฉบับ อยู่ระหว่างรอคณะกมธ.พิจารณา 1 ฉบับ และตกไป 7 ฉบับ อยู่ระหว่างการดำเนินการพิจารณาในวาระที่ 2 จำนวน 21 ฉบับ และให้ความเห็นชอบในวาระที่ 3 จำนวน 110 ฉบับ โดยประกาศเป็นราชกิจจานุเบกษาแล้วจำนวน 84 ฉบับ ในส่วนขอญัตตินั้น ได้มีการพิจารณาญัตติจำนวนทั้งสิ้น 46 เรื่อง ประกอบด้วยญัตติตั้ง กมธ.วิสามัญ 10 เรื่อง และญัตติเพื่อกำหนดประเด็นซักถามในกรณีถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง 36 เรื่อง ขณะที่ได้มีการตั้งกระทู้ถามซึ่งเป็นกระทู้ถามทั่วไปจำนวน 18 กระทู้ โดยตอบในที่ประชุม สนช.16 กระทู้ และสมาชิกขอถอน 2 กระทู้

ด้านการเลือกตั้ง การแต่งตั้ง และให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งต่างๆ เช่น คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการยุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ การให้ความเห็นชอบผู้ตรวจการแผ่นดิน เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และอัยการสูงสุด

ในขณะที่การถอดถอนบุคลออกจากตำแหน่งนั้น มีการดำเนินการทั้งสิ้น 6 กรณี ประกอบด้วย กรณีนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว) กรณีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีอดีต ส.ว.จำนวน 38 คน กรณีอดีตสมาชิก ส.ส.จำนวน 248 คน กรณีนายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ และนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

นายพรเพชรยังกล่าวย้ำถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดใหม่ 21 คน ว่าจะต้องมีทั้งนักกฎหมาย และไม่ใช่นักกฎหมาย เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการชุดนี้ แต่ไม่ควรมีนักการเมืองร่วมด้วย โดยหลักการทำกฎหมายต้องทำให้ดีขึ้นกว่าของเดิม แต่ต้องมีการศึกษาประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะข้อดีและข้อเสียของกฎหมายมาประกอบการพิจารณา แต่ไม่ได้เป็นการลอกของเก่าทั้งหมดหรือจะจินตนาการเองไม่ได้ ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าจะต้องมีสนช.เข้าไปเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 1-2 คน เพื่อจะได้สอดคล้องกับการทำงานของนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ที่ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความคิดเห็นเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเป็นผู้พิจารณาคัดเลือก ตนไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย ส่วนที่บอกว่าตนมีรายชื่อเป็น 1 ใน 21 กรรมการยกร่างชุดใหม่นั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะตนเป็นประธานสนช.อยู่แล้วจะไปทำอะไรได้อีก

เมื่อถามว่า นักกฎหมายจะกล้าเข้าไปเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะเห็นบทเรียนการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญช่วงที่ผ่านมา นายพรเพชรกล่าวว่า คิดว่านักกฎหมายคงเข้าใจ เพราะเป็นเรื่องปกติที่มีมุมมองไม่ตรงกันในเรื่องของกฎหมาย ซึ่งขึ้นอยู่กับ คสช.ที่จะตัดสินว่าจะเลือกใครเข้ามาทำหน้าที่











กำลังโหลดความคิดเห็น